xs
xsm
sm
md
lg

“ฤา...จะสิ้นตลาดจตุจักรยุคกทม.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครจะคิดว่าตลาดนัดห้องแถว หลังคามุงสังกะสี แถมยังไม่ติดแอร์ จะเป็นที่ดึงดูดใจให้คนทั้งในและต่างประเทศแห่มาเดินจนทำให้มีเงินหมุนเวียนสะพัดอยู่หลายพันล้านบาท ด้วยมูลค่าที่มากมายของมันกลายเป็นบ่อเกิดของปมปัญหาระหว่างสองหน่วยงานระดับบิ๊ก ที่ตอนนี้ยังแก้ไม่ตกว่าจะยกกรรมสิทธิ์ และรายได้มหาศาลไว้บนหน้าตักใคร

..กว่าจะเป็นตลาดนัดจตุจักร
 

คงต้องขอเกริ่นถึงความเป็นมาของตลาดนัดจตุจักรให้รู้กันคร่าวๆ ก่อนว่า แม่ค้าพ่อค้ายุคเริ่มแรกนั้นขนย้ายกันมาตั้งแต่ที่ยังทำมาค้าขายอยู่บริเวณสนามหลวง ซึ่งในตอนแรกก็ไม่มีใครอยากจะมา เนื่องจากว่ากลัวจะขายของไม่ได้เหมือนครั้งอยู่สนามหลวง และทำเลก็อยู่ไกลจากความคุ้นชินของบรรดาลูกค้าประจำ

แต่ความที่คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นมีนโยบายที่จะใช้สนามหลวงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงจะใช้เป็นสถานที่จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และงานรัฐพิธีต่างๆ ซึ่งขณะนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบที่ดินย่านพหลโยธินตอนต่อจากสวนจตุจักรด้านทิศใต้ให้แก่กรุงเทพฯ เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ เป็นจำนวน 74.57 ไร่ โดยทำสัญญาไว้ 30 ปี จนเกิดมามีปัญหาที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะไม่ทำการต่อสัญญา เนื่องจากสัญญาที่จะหมดลงในเดือนมกราคม 2554

ยุคเด่นตลาดกลางวัน ยุคทองตลาดกลางคืน
  

นอกจากจะมีสินค้ามากมายตั้งเรียงรายอยู่บนพื้นที่กว่า 70 ไร่ ใน 27 โครงการ ตลาดกลางวันที่ผู้คนเบียดเสียดกันในทางเดินแคบๆ และการต้องงัดเอาความพยายามมาใช้ค้นหาของที่ดีและถูกใจที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นอีกหนึ่งสีสันที่ทำให้ผู้ซื้อหลายคนติดอกติดใจในตลาดนัดแห่งนี้อีกด้วย

นี่ยังไม่นับรวมตลาดกลางคืนที่เปิดขายตั้งแต่ 01.00-06.00 น. เป็นขุมทรัพย์สินค้าขายส่ง จากเดิมที่มีร้านค้าเปิดขายกันแค่ 100-200 ร้าน ปัจจุบันเพิ่มจำนวนเป็น 500 ร้านอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 2 ปี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในโซนเสื้อผ้าแฟชั่น ตั้งแต่โครงการ 20-24 ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ราคาสินค้าตลาดกลางวันซื้อง่ายขายคล่องแค่ไหน ตลาดกลางคืนมีราคาที่ดึงดูดใจคนซื้อได้ยิ่งกว่า ยกตัวอย่างเบาๆ อย่างเสื้อยืดสกรีนที่ขายกันทั่วไปตัวละ 180-200 บาท มาที่นี่สามารถซื้อหาได้ในราคาโหลละ 1,320 บาท อันนี้เป็นราคาที่ดีทั้งคุณภาพและลายสกรีนนะ ถ้าจะหาที่ย่อมเยากว่านี้ก็มีให้ หรือเสื้อผ้าผู้หญิงที่ทั่วไปขายกันตัวละ 300-400 บาท มาที่นี่ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 50 บาทถ้วนเท่านั้น ติดตรงที่จะมาเมื่อไหร่ ขอให้นัดแนะเพื่อนฝูงมาซื้อพร้อมกัน เพราะร้านส่วนใหญ่ขายส่ง 3 ตัวขึ้น มาหลายคนพอหารกันจะได้ราคาถูกแบบพอดีๆ

ตลาดนัดไอเดีย
 

ขณะเดียวกัน ตลาดจตุจักรมีความหลากหลายของสินค้า ภาครัฐจึงพยายามทำให้ตลาดจตุจักรเป็น “ONE of the best destination in Bangkok” โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของตลาดจตุจักร ซึ่ง ปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

“ทางเราได้จัดระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและผู้ที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าก่อนแล้วว่าเขามีความต้องการอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังได้จัดประกวดตราสัญลักษณ์ ติดตั้งป้ายทั้ง 27 โครงการ มีการติดตั้งไดเร็กทอรี่ ทำป้ายแผนที่ขนาดใหญ่แสดงบริเวณต่างๆ ในตลาดจตุจักร ในส่วนของลูกค้าต่างชาติ เราได้จัดทำแผ่นพับที่มีภาษาอังกฤษ ติดตั้งแบนเนอร์โฆษณาเพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าในโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ ร่วมถึงการปรับปรุงห้องน้ำให้มากและสะอาดขึ้น”

ฟังแล้วก็ได้แต่เสียดายที่โครงการดีๆ อย่างนี้หมดอายุไปตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2553 ไม่อย่างนั้น ผู้ที่มาเดินซื้อของคงจะมีกิจกรรมดีๆ อย่าง การแสดงมินิคอนเสิร์ตของศิลปิน ให้ดูกันเพลินๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าของดีๆ อย่างนี้จะมีมาอีกเมื่อไหร่??

ช๊อก! รถไฟไม่ต่อสัญญา


ในขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ก็มีข่าวที่สะเทือนตั้งแต่คนนั่งบริหารตลาดนัดอย่างกรุงเทพมหานครไปยันพ่อค้าแม่ค้าตาดำๆ ด้วยทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่แก่กรุงเทพมหานคร แต่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาบริหารจัดการเอง แถมแว่วว่าจะยกเครื่องใหม่ทั้งระบบอีกด้วย

“ทางการรถไฟฯมีหนังสือตอบปฏิเสธไม่ทำสัญญากับ กทม.ตั้งแต่ปี 2549 และได้จ้างทีมงานลงไปศึกษาดูว่าถ้าเอามาทำเอง จะทำรายได้มากกว่าทุกวันนี้ และถ้าหากทางรถไฟฯเอามาทำเองก็จะให้ทางผู้ประกอบการที่ขายของอยู่ตั้งแต่เดิมได้มีสิทธิ์เซ็นสัญญาก่อน ส่วนเรื่องราคาค่าเช่า ทางรถไฟจะให้เช่าถูกกว่าค่าเช่าเดิม” สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว

ซึ่งค่าเช่าที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยพูดถึงนั้น เป็นค่าเช่าที่ผู้ถือสิทธิ์เดิมให้เช่าช่วงต่อกันเอง ซึ่ง ประเมินอยู่ที่ล็อกละ 15,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามทางการรถไฟฯ ยืนยันว่าต้องดูข้อมูลเพื่อหาราคาที่เหมาะสมกันอีกครั้ง

ค้านกับคำชี้แจงเรื่องค่าเช่าที่ อรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (ตลาดจตุจักร) ได้อธิบายว่า “เราคิดค่าเช่าแผงละ 120 บาท ตั้งแต่ย้ายมาจากสนามหลวงใหม่ๆ เมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว แต่ถ้าใครทำผิดกติกา เช่น ไม่เปิดร้านบ่อยครั้ง จะถูกปรับกระทงละ 120 บาท ก็จะกลายเป็นเสียเดือนละ 240 บาท ถ้าผิดอีกก็ถูกปรับเพิ่มอีก 120 บาท เป็น 360 บาท เป็นอย่างนี้ทุกเดือนไป คิดเป็น 80% ของตลาด จะมีค่าเช่าแพงที่สุดราคา 3,000 กว่าบาทอยู่ 2 ราย พวกนี้พิสดารกว่าคนอื่น เซ้งบ่อยเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย”

ฟังจบคนฟังอย่างเราถึงกับอ้าปากค้าง อุทานออกมาแบบเก็บไม่อยู่ เพราะจากที่เคยรู้ๆ มาค่าเช่าร้านอยู่ที่ 15,000 บาท และค่าเซ้งนั้นก็ต้องมีเงินอยู่ในมือเป็นจำนวนหกหลักขึ้น อันนี้ไม่นับทำเลริมรั้วที่เขาว่าขายดี๊ ขายดีนะ เพราะทำเลอย่างนั้นเขาเล่นกันถึงขั้นรับแลกด้วยบ้านหรือรถกันเลย

ข้อมูลสดๆ ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (จตุจักร) ยังพูดให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า

“กองอำนวยการฯ ทำมา 30 ปี มีเงินอยู่ 200 ล้าน จากค่าปรับและการจัดอีเวนต์” ได้ฟังอย่างนี้ย้ำเข้าไปอีก เลยไม่รู้ว่าจริงๆ ขุมทรัพย์ของเงินที่ทางการรถไฟฯ มองเห็นมันอยู่ตรงไหน
ส่วนเรื่องการให้เช่าที่ต่อ แม้จะรับรู้ปัญหาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการอะไรได้มากนัก เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปด้วยความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้เช่าและผู้ให้เช่า

งานช้างสำหรับรถไฟ

ถ้าตัดสินกันแบบไม่พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ได้ยินมาจากฝั่งกองอำนวยการตลาดนัด ก็ดูเหมือนทางการรถไฟฯ จะสามารถเอาพื้นที่ตลาดนัดคืนจากกรุงเทพมหานครได้โดยง่าย เพียงแต่ยืนยันไม่ต่อสัญญา และเอากลับมาบริหารจัดการเอง

“การรถไฟฯจะทำได้อย่างไร คิดดูแค่เก็บขยะจากแผงแปดพันแผงคุณทำได้หรือเปล่า ก็ต้องกทม.อยู่ดี มีปัญญาเก็บหรือเปล่า วันหนึ่งเป็นพันๆ ตัน ถ้ากทม.บอกว่าไม่เก็บ จะทำอย่างไร”
และเมื่อพูดคุยกับทางฝั่งพ่อค้าแม่ค้าก็พูดอ้อมแอ้มตามประสาคนไม่มีทางเลือกมากนักว่า พอจะได้ทราบข่าวมาบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันว่าอย่างไร แต่ถึงจะตกลงกันอย่างไร คนขายก็คงต้องยินยอมตามนั้นอยู่ดี

ส่วนทางออกของการแก้ไขข้อพิพาทครั้งนี้ อรุณ กล่าวว่า

“ท่านนายกฯ บอกว่า ค่าเช่าจะเอาอย่างไรก็ตกลงกัน ต้องตกลงกันแบบรัฐต่อรัฐ เลิกพูดได้แล้วว่าการรถไฟจะทำเอง คิดว่าคุณจะคิดเท่าไหร่กับค่าที่ตรงนี้ดีกว่า แล้วมาพิจารณากันว่าทั้งสองฝ่ายไหวที่เท่าไหร่ มีหลักว่ารัฐต่อรัฐเจรจากัน ไม่ใช่ถือว่ารถไฟเป็นพ่อค้า กทม.เป็นผู้ค้า เป็นเครือข่ายของรัฐตกลงกัน เหมือนพี่น้อง กระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา คุณจะมาเอากำไรอะไรจากผมล่ะ”

รู้อย่างนี้ เห็นทีการรถไฟต้องกลับไปคิดอีกหลายตลบ.
 
 

///////////////////////////////
เรื่อง : อัษฎาพร มณีพันธุ์
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร



กำลังโหลดความคิดเห็น