xs
xsm
sm
md
lg

อตก.เล็งตั้งตลาดกลางที่พิษณุโลกรับกระแส”ยางพารา”ฟีเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอวาท อภิมาลภูวนารถ
พิษณุโลก - กระแสยางฟีเวอร์ องค์การตลาดกลางลงพื้นที่สองแคว จ่อคิวตั้งตลาดกลางที่วังทอง เมษาฯนี้ เล็งร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรยางพารา และ สกย.พิษณุโลก คาด 15 ก.พ.นี้เกษตรกรแห่สมัคร รับทุนยางฟรีแน่นสำนักงาน สกย.ทั่วภาคเหนือ

นายโอวาท อภิมาลภูวนารถ รองผู้อำนวยการองค์การตลาดกลาง (อ.ต.ก.) ธุรกิจการเกษตรพร้อมคณะ เช่น ผอ.ฝ่ายแผนและนโยบาย ผู้จัดการเขต 7 ภาคเหนือฯลฯ ได้เดินทางมาร่วมกับประชุมกับนายสุรพล ฝันเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพิษณุโลก(สกย.) นายธนากร ภู่พรหมเจริญ ประธานสหกรณ์การเกษตรยางพารา พิษณุโลก เพื่อร่วมมือจัดตั้งตลาดกลางในจ.พิษณุโลก

นายสุรพล กล่าวว่า สกย.พิษณุโลก มีเป้าหมายที่จะจัดตั้งตลาดกลางยางพาราในจ.พิษณุโลกและจะต้องมองกว้างกว่าจังหวัด คือ ต้องมองทั้งภาคเหนือ ทำเป็นจุดรวบรวมหรือศูนย์กลางยางพารา ขั้นแรกจะต้องร่วมมือกับสหกรณ์หรือภาคเอกชน เพื่อรับซื้อยางแผ่นหรือน้ำยาง ก่อนที่สนับสนุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยการยาง ของ สกย.สามารถจัดตั้งตลาดกลางในภาคใต้ได้ 5 แห่ง แต่ในภาคเหนือวางแผนไว้ว่า จะดึง อ.ต.ก.และภาคเอกชนเข้ามาร่วมบริหารตลาดกลาง

ด้านนายโอวาท อภิมาลภูวนารถ รองผู้อำนวยการองค์การตลาดกลาง (อ.ต.ก.) กล่าวว่า อ.ต.ก.พร้อมร่วมมือจัดตั้งตลาดกลางยางพาราให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ถือเป็นหน้าที่หลักขององค์กร แต่ที่ผ่านมาประชาชนมองว่า เป็นองค์กรที่เข้าไปแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตร กระทั่งเร็วๆนี้ภาคเอกชน(สหกรณ์)ร้องขอให้มาดำเนินการ ซึ่ง อ.ต.ก.ประเมินแล้ว ควรรีบทำ อีกทั้งยังสอดคล้องกับคำว่า สี่แยกอินโดจีน จึงได้นำทีมมาศึกษาและพร้อมดำเนินการจัดตั้งให้เป็นรูปธรรมต่อไป คาดว่า หลังเดือนเม.ย.ปีนี้ น่าจะดำเนินการได้

จากนี้ไปจะนำโครงการเสนอต่อผู้อำนวยการองค์การตลาดกลาง (อตก.) ว่า เห็นชอบดำเนินการอย่างไร จะร่วมกับภาคเอกชนหรือไม่ อย่างไร เพื่อสร้างจุดรับซื้อให้เป็นตลาดกลาง ประกอบกับที่ดิน ของ อ.ต.ก. มีอยู่แล้ว จำนวน 35 ไร่ ริมถนนสายเอเชีย หมายเลข 12 หมู่ 1 ต.ชัยนาม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งถือว่าเหมาะสมเพราะใกล้กับแหล่งปลูกยางพารา

นายโอวาท ย้ำว่า กฎหมายเปิดให้ อ.ต.ก.ทำธุรกิจซื้อขายได้ ฉะนั้นหน้าที่หลักๆ ก็คือ นำเงินไปซื้อยางแผ่นดิบจากสหกรณ์การเกษตรยางพารา ที่สมาชิกนำยางมาขาย จากนั้นจะดำเนินการร่วมกับ สกย.เป็นผู้เปิดประมูลและขายยางพาราให้ได้ราคาสูงทำให้เกษตรกรพอใจ โดยสมาชิกชาวสวนยางในพิษณุโลกที่มีอยู่ประมาณ 250 ราย จะได้รับผลประโยชน์จากเงินปันผล และสิทธิซื้อปุ๋ย-กล้าพันธุ์ยางชำถุงราคาถูก

“ตลาดกลางที่เราจะทำนี้ ใช้เงินทุนหมุนเวียนเริ่มต้นไม่มาก ประเมินแล้ว เฉลี่ยวันละ 15 ตันก็ถือว่า เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นเพื่อขยายตัวต่อไป”

ผอ.สกย.พิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการปลูกยางพาราที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 (2554-2556) ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาตรา 21 ทวิ พิษณุโลกมีโควตาจำนวน 4,000 ไร่ เฉลี่ยให้เกษตรกรประมาณ 400 ราย

เกษตรกรสามารถยื่นสมัครเพื่อขอรับปัจจัยการผลิตได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป ณ หน้าสำนักงาน สกย. และขอย้ำว่า ต้องมีเอกสารสิทธิที่ดิน คือ ส.ป.ก. เท่านั้น หากเกษตรกรยื่นใบ ภบท.5 และที่ดินเข้าทำประโยชน์ของกองทัพภาคที่ 3 สกย.ไม่รับ ทั้งนี้คาดว่า กระแสยางฟีเวอร์ ส่งผลให้มีเกษตรกรต่อคิว แย่งรับสิทธิ์สงเคราะห์แน่นทุกสำนักงานสกย.ทั่วภาคเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น