เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และกลุ่มกรีนพีซได้จัดงานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ผมเองได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “ข้อเสนออนาคตพลังงานไทย” ในประเด็นการมีส่วนร่วมจัดการพลังงาน
ประเทศไทยเราเองก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 5 โรง ทั้งๆ ที่ก่อนที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยแสดงความไม่เห็นด้วย แต่พอเป็นแล้วกลับเงียบเฉย ข่าววงในล่าสุดที่ภาคประชาชนทราบก็คือ "ขอเลื่อนไป 3 ปี ไม่ใช่เพราะกระแสสังคมบีบ แต่เป็นเพราะทบวงนิวเคลียร์สากลมีความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม”
คนทั่วไปที่ได้รับข้อมูลจากสื่อสาธารณะซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว คงตั้งคำถามอยู่ในใจว่า "นิวเคลียร์ก็ไม่เอา ถ่านหินก็ไม่เอา แล้วจะเอาอะไร(วะ)?”
การ์ตูนข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบครับ คำพูดที่ว่า “คำตอบนั้น เพื่อนเอ๋ย อยู่ในสายลม” นั้นเป็นสำนวนของ หงา คาราวาน ต้นฉบับมาจากเพลง ‘Blowing in the Wind’ ซึ่งแต่งโดย Bob Dylan เพื่อเรียกร้องสันติภาพ ต่อต้านสงครามและแสวงหาเสรีภาพ
ตอนแรกๆ ผมเข้าใจว่า คำที่ว่า “อยู่ในสายลม” นั้นมีความหมายแค่ว่า “เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ” แต่เมื่อสืบค้นเข้าไปใน wikipedia พบว่า ‘Blowing in the Wind’ มีสองนัย (ambiguous) ที่ลึกซึ้งมาก คือ คำตอบมันมีอยู่แล้ว อยู่ซึ่งหน้าเรานี้เอง แต่เราไม่เห็น ไม่รู้สึก
นั่นคือ พลังงานลม มีอยู่แล้ว พัดผ่านหน้าเราเอง แต่เราไม่รู้ตัว จนกระทั่ง “เป็นจริง” ขึ้นในอีก 40 ปีต่อมาดังทางขวามือของการ์ตูน
ความหมายของพลังงานลมในการ์ตูน ในที่นี้หมายถึง พลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึง แสงแดด ชีวมวล (ไม้ฟืน ขี้หมู น้ำเสีย) พลังน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่าผมเพ้อฝันกับพลังงานหมุนเวียนจนเกินไป แต่ข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ
ประเทศเยอรมนีใช้ไฟฟ้าประมาณ 4 เท่าของที่ประเทศไทยใช้ แต่ในจำนวนนี้เขาผลิตจากเชื้อเพลิง 4 ตัวที่หาได้ในท้องถิ่น คือ ลม ชีวมวล น้ำ และแสงแดดได้รวมกันประมาณ 69% ของที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด มีเพียงพลังงานลมอย่างเดียวเท่านั้นที่ประเทศเรามีศักยภาพน้อยกว่าเยอรมนี แต่อีก 3 ตัวที่เหลือเรามีมากกว่าแน่นอน
ในขณะที่ประเทศเรากำลังเถียงกันเรื่อง “รถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน” แต่ประเทศสวีเดนใช้ของเสียจากโรงฆ่าสัตว์มาเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถไฟระยะสั้น “ของเสียจากวัว 30 ตัว สามารถลากรถไฟ 2 ตู้ได้ไกล 75 กิโลเมตรด้วยความเร็วถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” ในบางเมืองรถเมล์ 800 คันใช้แก๊สจากขี้วัวทั้งหมด
นี่ตกลงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแล้วนะครับ
แต่ที่เราต้องเชื่อและคิดอยู่ในกรอบเดิมๆ ก็เพราะกลุ่มพ่อค้าและ “ผู้เชี่ยวชาญ” พลังงานฝังหัวให้เรามาตลอดว่าประเทศจะ “พัฒนา” ได้จะต้องมีอย่างนั้นอย่างนี้ แท้ที่จริงแล้วมันเป็น “การพัฒนาเทียม (pseudo-development)” ประเทศที่ “พัฒนา” จริงๆ แล้วเขาไม่ได้คิดอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญบ้านเราคิด เราถูกเขาหลอกต่างหาก!
ผมได้นำเสนอในวงเสวนาไปว่า การมีส่วนร่วมจัดการพลังงานนั้นต้องมี 3 ระดับครับ ตั้งแต่ (1) ร่วมรับรู้ปัญหาและความจริง (2) ร่วมเสนอและผลักดันนโยบาย และ (3) การร่วมผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าด้วย แทนที่จะให้พ่อค้าพลังงานเป็นผู้ขายให้เราเพียงฝ่ายเดียว
เราต้องรู้ว่าปัญหาของไฟฟ้าไม่ได้มีแค่ “ไฟตก ไฟดับ ไฟไม่พอใช้” ซึ่งเป็นเรื่องเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง (1) ปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบๆ โรงไฟฟ้า (2) ปัญหาโลกร้อน (3) ปัญหาต้นทุน และ (4) ปัญหาการจ้างงานและการกระจายรายได้ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินปีละประมาณ 4.3 แสนล้านบาท (จำนวนไฟฟ้าที่บริโภครวม 148,719 ล้านหน่วย) หรือ 4.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ใช้คนทำงานในกิจการไฟฟ้าทั้งประเทศประมาณ 0.2% ของคนวัยทำงาน ในขณะที่กิจการพลังงานลมอย่างเดียวในเยอรมนีที่ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1 ใน 5 ของไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้แต่มีการจ้างงานถึง 1 แสนคน มากกว่าจำนวนแรงงานในทุกส่วนของกิจการไฟฟ้าไทยรวมกัน
ปัจจุบัน เยอรมนีมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 0.5 ถึง 1 เมกะวัตต์กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศถึงเกือบ 1 หมื่นโรง
ลองจินตนาการดูครับ ถ้าน้ำเสียพวกนี้ไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถูกทิ้งลงคลอง อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าชาวบ้านปลูกไม้ฟืนตามหัวไร่ปลายนาขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวลวันละ 200 กิโลกรัม สังคมของพวกเราทั้งในเมืองและชนบทจะเป็นอย่างไร
อุปสรรคสำคัญที่สุดที่กิจการไฟฟ้าไทยไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ สามารถเข้าใจได้จากการ์ตูนข้างล่างนี้ (จากสมาคมลมของยุโรปที่ย่อว่า EWEA)
ผู้หญิงที่มี “เทวดา” คอยคุ้มครองพยายามจะเสียบปลั๊กไฟ แต่มีตัว “มารร้าย” ขวางอยู่ ในความเป็นจริง ประเทศเรามีคนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้จำนวนมากกว่า 8 พันเมกะวัตต์มาเข้าคิวรอ แต่ “ทางราชการ” ไม่ยอมให้ป้อนเข้าสายส่ง
นี่คือปัญหาสำคัญที่ประชาชนจะต้องรับรู้ความจริงนี้ แล้วร่วมกันเสนอและผลักดันนโยบาย ประเทศเยอรมนีเขามีกฎหมายที่ป้องกันอุปสรรคดังกล่าว สาระสำคัญมี 3 ข้อคือ (1) ให้ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนก่อนอย่างอื่น (2) อย่างไม่จำกัดจำนวน และ (3) เพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนอยู่ได้
ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า "คนเดี๋ยวนี้มันโง่ เอาดีเป็นชั่ว เอาชั่วเป็นดี เอาสุขเป็นทุกข์ เอาทุกข์เป็นสุข กลับกันหมด มันเหมือนกับคนโง่ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว...” แต่ขออนุญาตต่อท้ายว่า "เห็นถ่านหิน นิวเคลียร์ ที่พ่อค้าผูกขาดได้ เป็นพลังงานสะอาด มั่นคง เห็นพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังของประชาชน เป็นเรื่องล้าสมัย ไม่มั่นคง”
ถ้าเราอยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในบ้านเรา พลเมืองจะต้องมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ระดับอย่างต่อเนื่องตลอดไปครับ