xs
xsm
sm
md
lg

คนแห่ซื้ออาหารแปลก“บักขี้เบ้า”ตรึม แม่ค้าเมืองน่านเฮขายได้ 4-5 พัน/วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - คนแห่ซื้อ “บักขี้เบ้า หรือหม่าขี้เบ้า” อาหารประจำฤดูกาลชั้นเลิศของภาคเหนือคึกคัก เฉพาะเมืองน่านแม่ค้าริมทางขายกันตรึม ทำรายได้วันละกว่า 4-5 พันบาท/วัน

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีอาหารประจำฤดูกาลที่ชาวบ้านในท้องถิ่นมักจะนำมาขายตามตลาดสดท้องถิ่น-แผงขายอาหารป่าตามข้างทาง ฯลฯ โดย 1 ในอาหารรถเลิศประจำฤดูกาลของภาคเหนือที่กำลังได้รับความนิยมกันมาในขณะนี้คือ “บักขี้เบ้า หรือหม่าขี้เบ้า” หนอนตัวอ่อนของแมงจู้จี้ (ลักษณะคล้ายกับแมงกุ๊ดจี่ ของภาคอีสาน แต่ตัวโตกว่ามาก”

ขณะนี้ที่จังหวัดน่าน มีแม่ค้า-พ่อค้าในท้องถิ่น นำบักขี้เบ้า ที่ชาวบ้านหามาได้จากใต้กองมูลควาย มาวางขายบริเวณข้างถนนใน อ.ทุ่งช้าง - อ.เฉลิมพระเกียรติ กันเป็นจำนวนมาก และมีประชาชนทั่วไปต่างรุมแย่งซื้อกันอย่างคึกคัก เพื่อนำไปประกอบอาหาร

แม่ค้าบักขี้เบ้า หลายรายบอกว่า ซื้อจากชาวบ้านแล้วนำมาขายในราคา 25 ลูก ราคา 100 บาท เท่ากับลูกละ 4 บาท โดยช่วงนี้บักขี้เบ้าจะมีมาก การนำไปขายแต่ละครั้งละกว่า 1,000 ลูก รายได้ดี วันหนึ่งจะขายได้เงินถึง 4,000 -5,000 บาท

ขณะที่ชาวบ้านที่มาซื้อต่างบอกว่า บักขี้เบ้าเป็นอาหารชั้นเลิศ มีโปรตีนสูง ที่สำคัญหายากมาก ปีหนึ่งจะได้ลิ้มรสสักครั้ง ซึ่งสามารถนำไปแกงกับผักหวาน ผักชะอม หรือผักพื้นเมืองที่ขึ้นตามป่า โดยกรรมวิธีในนำไปประกอบอาหาร ก็จะนำตัวอ่อนในลูกกลมๆ ไปชำแหละเอาขี้หรือไส้ตัวอ่อนที่เป็นหนอนออก แล้วนำไปทำอาหาร นอกจากนั้นยังนำไปต้มกินกับน้ำพริกพื้นบ้านได้

สำหรับขี้เบ้าเป็นคำพื้นบ้านของเกษตรกรภาคเหนือ ที่ใช้เรียกรังของตัวอ่อนแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมขนาดประมาณลูกเทนนิส ส่วนตัวเต็มวัยหรือแมลงพ่อแม่เรียกว่า แมงซู่ซ่า หากจับจะส่งเสียงร้องดังซู่ซ่า ๆ ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อ แมงซู่ซ่าเป็นแมลงปีกแข็งที่มีขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายแมงกุดจี่ของทางภาคอีสาน แต่ตัวโตกว่ามาก ขนาดความยาวตั้งแต่ปากจนถึงก้นประมาณ 4.5 เซนติเมตร ความกว้างลำตัวประมาณ 3.5 เซนติเมตร หรือบางแห่งเรียกว่าแมงจู้จี้ แมงซู่ซ่ามีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับขี้ควายตั้งแต่เกิดจนตาย

จากการสอบถามเกษตรกรยังไม่ เคยมีใครพบเห็นแมงซู่ซ่าอาศัยอยู่กับขี้วัวเลย ขี้วัวโดยทั่วไปจะเห็นเฉพาะแมงซีหรือทางอีสานเรียกแมงกุดจี่เท่านั้น และประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ตัวเต็มวัยเมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะบินไปหากองขี้ควายที่ใหม่ ๆ สด ๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและวางไข่ โดยแม่พันธุ์จะใช้ปากที่แข็งแรงขุดรูใต้กองขี้ควายขนาดความลึกประมาณ 1 ศอก หรือบางหลุมอาจจะลึกกว่านี้ โดยก้นหลุมจะทำเป็นโพรงขนาดใหญ่

จากนั้นแม่พันธุ์จะวางไข่บนขี้ควาย แล้วกิจกรรมปั้นก้อนขี้ควายที่มีไข่อยู่ภายในก็เริ่มขึ้น โดยใช้ปากดันถอยหลัง ขาหลังทำหน้าที่ปั้นก้อนขี้ควายให้เป็นก้อนกลมขนาดใหญ่แล้วลำเลียงขนลงไปไว้ในโพรงก้นหลุมที่ทำไว้ แล้วจะกลับขึ้นมาวางไข่และปั้นก้อนขี้ควาย ขนลงหลุม ทำจนกระทั่งขี้ควายหมดกอง ซึ่งในแต่ละหลุมนั้นมีจำนวน-ขนาดก้อนบ่าขี้เบ้าไม่เท่ากัน บางหลุมมีถึง 15 ก้อน หากเป็นก้อนขี้เบ้าจากควายหงาน (พ่อควายตัวโต ๆ ขึ้นเปรียว) ก้อนขี้เบ้าก็จะมีขนาดใหญ่ตาม

หลังจากปั้นก้อนขี้ควาย ส่งลงหลุมหมดกองแล้ว แม่พันธุ์จะลงไปขุดเพื่อขยายโพรงให้กว้างโดยลำเลียงดินขึ้นมาไว้บนปากรู เกษตรกรที่ไปหาบักขี้เบ้าก็จะอาศัยการสังเกตกองดินที่ถูกขนขึ้นมาโดยชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ขี้ขวย” เมื่อได้โพรงขนาดใหญ่แล้วแม่พันธุ์ก็จะเริ่มกิจกรรมกลิ้งก้อนขี้เบ้าในโพรงต่อเพื่อให้ดินมาพอกก้อนขี้เบ้าอีกชั้น ไข่เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนจะอาศัยก้อนขี้ควายกินเป็นอาหารเพื่อเจริญเติบโต ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ตัวอ่อนจะกลายเป็นดักแด้ ช่วงนี้ขี้ควายจะถูกตัวอ่อนกินหมดเหลือแต่ก้อนดินที่เป็นเปลือก ในระยะนี้ดักแด้จะไม่กินอะไรเลย

เกษตรกรรู้ว่า ระยะนี้เป็นระยะที่มีคุณค่าทางอาหารที่สุด และไม่มีขี้ควายในท้องของดักแด้ เทศกาลหาขี้ขวยของบักขี้เบ้าก็ จะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม หากพ้นระยะนี้ดักแด้ก็จะพัฒนาเป็นตัวแก่และออกจากเบ้าดินในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

สำหรับดักแด้ส่วนใหญ่นิยมนำมาแกงกับยอดผักหละ (ชะอม) นับว่าเป็นอาหารจานเด็ด จะเห็นได้ว่าตลอดชีวิตของแมงซู่ซ่าจะผูกพันอยู่กับกองขี้ควาย หากไม่มีขี้ควายเราก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นบักขี้เบ้า แหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพสูงอีกต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น