คงมีแต่ยุงเท่านั้นที่รู้ว่า ท่อน้ำสีดำพ่นน้ำสีดำใส่แม่น้ำลำคลอง มันไหลจากจากโรงงานไหนบ้าง
เมื่อสัปดาห์ก่อน ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เสนอผลสำรวจประชาชนช่วงอายุ 18-60 ปี จำนวน 1,550 ตัวอย่าง พบว่า 70.6 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศไทยอยู่ในระดับรุนแรงมาก-มากที่สุด 83.8 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยที่มลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและควรเร่งป้องกันแก้ไข 80.2 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรมีกฎหมายกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ (ชนิดและปริมาณ) สู่สิ่งแวดล้อมและให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้
แต่เมื่อถามถึงระดับความจริงจังในการแก้ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับสอบตกในความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง
และถ้าให้ทายว่า แม่น้ำสายใดที่ป่วยไข้มากที่สุดในความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่าง คุณคิดว่าคือแม่น้ำสายใด...
แม่น้ำเจ้าพระยา
เส้นเลือดหลักของที่ราบลุ่มภาคกลาง ไหลผ่านใจกลางมหานครของประเทศ
[1]
แม้ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จะรับรู้ดีว่าแม่น้ำเจ้าพระยาสาหัส แต่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมกลับยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นความใหญ่โตของสายน้ำ และการเติบโตของเมือง อีกทั้งปริมณฑลของปัญหาก็กว้างขวางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ทว่าไม่ใช่ข้ออ้างที่สมเหตุสมผลในการนิ่งเฉย โมเดลหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงว่าสามารถฟื้นคืนชีวิตสายน้ำและควรนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทยได้เกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลี
เรื่องราวของ คลองชองเกชอน (Cheong Gye Cheon) ใจกลางกรุงโซล ซึ่งมีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตรและมีอายุกว่า 600 ปี ประมาณ 30- 40 ปีกอ่น มันได้ถูกถมเพื่อทำถนนและสะพานยกระดับ กลายเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยอาคารพักอาศัยและโรงงาน ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ น้ำในคลองเริ่มเน่าเสีย
แต่ในปี 2545 ก็มีวีรบุรุษนาม ลี ยอง ปาก ได้เสนอโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน ในโอกาสที่ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการกรุงโซล แน่นอนว่าหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ คณะกรรมการต้องมีการประชุมกันกว่า 4,300 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าจะทำการทุบโยกย้ายทางด่วนและเจรจาให้พ่อค้าแม่ขายที่อยู่บริเวณ 2 ฝั่งคลองย้ายไปขายของที่อื่น
หลังจากนั้นก็เริ่มปรับปรุงทัศนียภาพสองฝั่งคลอง บำบัดน้ำเสียโดยการผันน้ำที่มีออกซิเจนและแยกของเสียด้วยจุลินทรีย์แล้วจากแม่น้ำฮันเข้ามาหมุนเวียน มีการดูแลระบบนิเวศโดยสร้างคลองก้างปลา วางหิน และปลูกพืชน้ำจำพวกกก แขม เพื่อให้รากของมันช่วยจับตะกอนในน้ำ อีกทั้งยังมีการสร้างสะพานข้ามคลองอีก 20 กว่าแห่งตลอดแนวคลอง ทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 380,000 ล้านวอน หรือราวๆ 10,000 ล้านบาท บวกระยะเวลาทำงานอีก 2 ปี ปัจจุบันคลองชองเกชอนได้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนที่สำคัญของกรุงโซล ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเป็นเพียงแค่สายน้ำที่รอวันสิ้นลม
ฟังดูอาจเป็นงบประมาณที่สูงกับคลองยาวแค่ 6 กิโลเมตร ถ้าเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาคงมากกว่านี้ทบทวี แต่ในแง่ความคุ้มค่าคงไม่มีใครโต้แย้ง ปัญหาคือพ่อเมืองบางกอกกลับบใช้เวลากับเงิน 15,000 ล้านไปสร้างสกายวอล์ก
[2]
แม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่มีวีรบุรุษคนไหนอาสาแก้ปัญหา มีเพียงชุมชนสองฝั่งที่กระจัดกระจายในหลายพื้นที่ที่พยายามแก้ไขไปตามมีตามเกิด สุชิน เจริญสิตร์ ประธานเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการด้านสิ่งแวดล้อม จังหวัดอ่างทอง เล่าถึงสถานการณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณต้นน้ำจังหวัดอ่างทองระยะทางกว่า 40-50 กิโลเมตร ว่า
“น้ำเริ่มที่จะเสียมา 2 ปีแล้ว ไม่สามารถบริโภคได้ ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างเดียว วิกฤตการณ์น่าเป็นห่วงมาก สาเหตุก็มาจากมนุษย์ ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม ราชการก็เป็นตัวเสริมให้ทำผิด ส่วนใหญ่ใช้ความสะดวกสบายของตัวเองเกินไป และประชาชนไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรให้แก่ตัวเองขนาดไหนอย่างไร”
หนทางหนึ่งที่สุชินเล่าคือ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแก่ประชาชนสองฝั่ง มีการประชุมทุกสองเดือนเพื่อติดตามสถานการณ์ มีการอบรมการเก็บตัวอย่างน้ำที่ถูกวิธีเพื่อนำไปตรวจสอบ การให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ความตื่นตัวก็ยังขึ้นๆ ลงๆ ไปตามปัจจัยอื่นที่มากระทบ
“ผมกำลังร่วมมือกับกรีนพีซตรวจวัดสารเคมีในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ว่ามีสารเคมีกี่ชนิด ซึ่งต้องแก้โดยองค์รวม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะได้เห็นว่ามีสารเคมีเท่าไหร่ แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและแก้ไขตรงจุด ไม่เปลืองงบ ไม่ใช่นั่งวิจัยในห้องแอร์ ไม่สนว่าข้างนอกจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้เลย เราต้องพูดความจริง เอาความจริงมาพูดกันจะโทษโรงงานอย่างเดียวไม่ถูกต้อง แนวทางการแก้ไขก็จะไปได้อย่างสวยงาม”
แม้ว่ากลไกสำคัญตัวหนึ่งที่จะช่วยชาวบ้านในการเฝ้าระวังจะยังไม่เกิดขึ้น...
[3]
‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ เป็นแค่ตัวอย่างระดับชาติกรณีหนึ่ง ที่ต้องแก้ปัญหามลพิษเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทำลายแม่น้ำหัวใจหลักของประเทศอย่างรุนแรง แบบเร่งด่วน เมื่อมาดูวิธีการแก้ปัญหาหลักของมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะการปล่อยสารเคมีที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธีลงสู่แม่น้ำ อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั่นก็คือการจัดทำ ‘ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ’ (Pollutant Release and Transfer : PRTR) ซึ่งกลไกดังกล่าว คือนโยบายหรือระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลักความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการลดมลพิษ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ทุกวันนี้โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าปล่อยอะไรออกไปและปล่อยไปเท่าไหร่
“องค์ประกอบของ PRTR มีอยู่ 5 ข้อ หนึ่ง-รายการสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมหรือมีการเคลื่อนย้ายแล้วสารเคมีพวกนี้จะกลายเป็นมลพิษ สอง-การรายงานข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม สาม-ข้อมูลแหล่งกำเนิด สี่-การรายงานตามกำหนดเวลา เช่น ปีหนึ่งมีการรายงานว่าปีหนึ่งคุณปล่อยสารเคมีออกมาเท่าไหร่ และห้า-ข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้” พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมยังขยับตัวอย่างเชื่องช้าในเรื่องนี้ ทั้งที่กฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมกำลังรออยู่ในกระบวนการ แต่กลไก PRTR ก็ยังไม่เกิด ทั้งที่สองส่วนนี้คือฟันเฟืองที่ประสานกัน
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ประจำศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง PRTR ว่าเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนและผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพราะจะได้เป็นข้อบังคับให้องค์กรมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมยิ่งขึ้น
เธอบอกอีกว่า PRTR เป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะจะจำแนกข้อมูลในด้านมลพิษที่ถูกปล่อยมาจากตัวโรงงานอย่างชัดเจน
“PRTR ถือเป็นตัวสนับสนุน สมมติว่ามีระบบจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในอนาคต การจัดเก็บภาษีต้องมีข้อมูลก่อนว่า แต่ละโรงงานปล่อยมลพิษมากน้อยแค่ไหน อัตราภาษีที่เสนอกันสำหรับมลพิษทางน้ำมันก็จะแบ่งตามขนาดของโรงงาน”
ประเทศไทยยังขาดความเข้มงวดในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม แนวทางการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่เป็นตามมาตรฐานสากล
“เรายังมองในลักษณะว่าภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานและกำหนดให้โรงงานรายงานผลการวิเคราะห์ แต่การเก็บภาษีตามหลักจริงๆ ต้องมีมิเตอร์วัดว่า เขาปล่อยเท่าไหร่ แต่บ้านเรายังไม่มีเครื่องมือที่บังคับให้ติดตั้งทุกโรงงาน ในกฎหมายที่เสนอกันก็เสนอในลักษณะเป็นรายงานของโรงงานเองว่าปล่อยเท่าไหร่ และก็มาเสียภาษี”
PRTR เสมือนเป็นการกดดันในเชิงสังคมเพื่อควบคุมให้โรงงานอุตสาหกรรมพึงระลึกถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคมยิ่งขึ้น ดร.สุจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
ถ้าภาครัฐยังไม่พร้อมที่ลงมาแสดงเองเพื่อรักษาแม่น้ำลำคลอง อย่างน้อยก็น่าจะช่วยสร้างกลไก PRTR ให้ชาวบ้านดูแลแม่น้ำของตัวเองก็ยังดี
>>>>>>>>>>>
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK