xs
xsm
sm
md
lg

แตะเบรก"ประชานิยม" ธปท.ขู่ขึ้นดอกเบี้ยสกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติขู่ขึ้นดอกเบี้ยแรงสกัดอัตราเงินเฟ้อที่อาจพุ่งขึ้นจากนโยบายประชานิยม ยอมรับเห็นใจพรรคการเมืองต้องหาเสียง-ประชาชนมีรายได้น้อย แต่แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกิน ด้านเงินบาทยังคงแข็งค่าจากทิศทางทุนนอกที่ไหลเข้าไม่หยุด!

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายการเงินอาจจะเข้มข้นในการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพราะ ธปท.มีหน้าที่ให้ความมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดย เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้

"เงินเฟ้อจะต้องไม่สูงขึ้นมากเกินไป หาก ธปท.ปล่อยให้เงินเฟ้อสูงเกินไปจนกระทบการใช้จ่ายของประชาชน ธปท.ก็ต้องดูแลการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป อาจจะต้องขึ้นแรงมากก็เป็นได้" นางอัจนากล่าว

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อ ปี อาจจะไม่สามารถที่ทำให้รายได้กระจายไปสู่ทุกคนในประเทศอย่างทั่วถึง ขณะที่ประเทศไทยยังมีความแตกแยก ดังนั้นการที่รัฐบาล หรือพรรคการเมืองอื่น จะมีนโยบายที่ช่วยให้คนที่มีรายได้น้อย มีโอกาสน้อยสามารถได้มากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่นโยบายประชานิยม เป็นนโยบายที่เหมือนยาเสพติด เมื่อนำมาใช้แล้วก็ต้องใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ก็มีข้อที่ควรระวังในการใช้เช่นเดียวกันหากไม่ต้องการให้สังคมไทยอยู่ในสภาพติดยา

ทั้งนี้ การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำก็เท่ากับรักษาค่าของเงินที่อยู่ในกระเป๋าของทุกคนให้สามารถซื้อของได้เต็มค่าของเงินมากที่สุด เป็นแนวคิดของการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting เพราะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 0.25% ไม่ได้มีผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนหรือการขอสินเชื่อใหม่

"การใช้จ่ายขึ้นอยู่กับรายได้ หรือเงินในกระเป๋าของคนมากกว่า แต่ถ้ามองในต้นทุนการเงิน ดอกเบี้ยมีสัดส่วน 3-5% จากต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น" รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาอาจจะกระทบกับบางภาคธุรกิจที่อ่อนไหว กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการลงทุน ซึ่งอาจจะอ่อนไหวมากกว่าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งอ่อนไหวต่อดอกเบี้ยเช่นกัน แต่ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย
ยอดจำหน่ายรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นในระดับที่สูง

นางอัจนากล่าวด้วยว่า ในส่วนของการดึงเงินทุนจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามา ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าขึ้นนั้น มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่ผ่าน รวมประมาณ 5-6 ครั้งเป็นปัจจัยส่วนน้อยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หรือเป็นตัวดึงเงินไหลเข้า แต่ในช่วงนี้ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาซื้อพันธบัตรต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว และในช่วงปีนี้เป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้น

"ค่าเงินบาทเองไม่ได้แข็งค่าเพียงสกุลเดียว แต่เป็นการแข็งค่าทั้งภูมิภาค เพราะเงินทุนไหลเข้ามามากในเอเชีย ยกเว้น ไต้หวัน อินเดีย และเวียดนาม” นางอัจนากล่าวและว่า อีกประเด็นคือเงินดอลลาร์ที่ได้จากการส่งออกทองคำ ซึ่งคนนำมาขายออกในช่วงที่ราคาทองแพง โดยในเดือนนี้เท่าที่เห็นคร่าวๆ การส่งออกทองในเดือนนี้มากกว่าการนำเข้าในระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น