ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดวันประกาศยุบสภาไว้ที่สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ประเด็นข่าวจากทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาก็วนเวียนอยู่กับว่าจะมีหรือไม่มีเลือกตั้งหรือไม่ ราวกับว่า ปัญหาทุกปัญหาในประเทศนี้ จะได้รับการแก้ไขโดยการเลือกตั้งเท่านั้น
มีความพยายามสร้างมายาคติที่ว่า ขณะนี้กำลังมีขบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดขวางการนำประเทศไปสู่ความเป็นปกติ โดยเฉพาะการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะรณรงค์ให้ประชาชนกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือ โหวตโน ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับนักการเมืองแบบเก่าๆ นั้น ถูกบิดเบือนว่า เป็นการต่อต้านการเลือกตั้ง รวมทั้งป้ายสีถึงขนาดว่า เป็นการเชื้อเชิญให้ทหารออกมายึดอำนาจด้วยซ้ำ
นายอภิสิทธิ์เอง พยายามพูดย้ำถึงกำหนดวันเลือกตั้ง และวันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ทุกคนตั้งตารอ ราวกับว่า เมื่อถึงวันนั้น ปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้จะได้รับการแก้ไขให้สำเร็จเสร็จสิ้น
เช่นเดียวกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกมาย้ำว่า หลังการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น โดยบอกปฏิทินคร่าวๆ ว่า จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 26 มิถุนายน หรืออย่างช้าวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จไม่เกินวันที่ 3 กันยายน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ออกมายอมรับว่าตารางเวลาคงไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้ และพูดแบบเกทับเอาใจนักเลือกตั้งว่า อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ด้วยซ้ำ
ขณะที่ฟากฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งโดยธรรมชาติก็เป็นนักเลือกตั้งเช่นกัน ก็หลงกลเดินตามเกมรัฐบาล พยายามสร้างข่าวว่าจะมีการรัฐประหารเพื่อล้มการเลือกตั้ง โดยอ้างว่า เป็นเพราะรัฐบาลกลัวพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะ ซึ่งการออกมาเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยในลักษณะนี้ กลับไปเข้าทางฝ่ายรัฐบาล เพราะตราบใดที่ทหารยังไม่ได้ออกมาทำการยึดอำนาจ ก็เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยพูดโกหก
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ก็สามารถตีกินได้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้มีรัฐประหารก็ต้องมาช่วยกันสนับสนุนการไปสู่การเลือกตั้ง เพราะเคยร่วมเรียกร้องเรื่องเหล่านี้มา และก็เห็นว่า มีการรณรงค์หาเสียงกันแล้ว ฉะนั้น อาจเป็นความพยายามในการที่จะสร้างประเด็น เป็นการเอากองทัพมาเป็นประเด็นทางการเมืองช่วงการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นการพูดถึงปัญหาของประชาชนมากกว่า
นอกจากการตีข่าวยึดอำนาจแล้ว ยังมีความพยายามสร้างข่าวว่า วุฒิสภาจะยื้อร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 3 ฉบับเพื่อให้ไม่มีการเลือกตั้งตามกำหนด ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันไปยังวุฒิสภา ให้เร่งพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับโดยเร็ว ซึ่งขัดแย้งกับหลักการถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติ ที่ฝ่ายบริหารจะไปเร่งรัดการพิจารณากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้
แต่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า การเร่งผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนั้น เป็นไปเพื่อสนองการประกาศยุบสภาล่วงหน้าของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น ทำให้เกิดกระแสคัดค้านการเร่งผ่านร่างกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าว โดยกลุ่มคนไทย-ปัญญาชนไทยในสหรัฐฯ ได้รวมตัวกันออกจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในไทย คัดค้านการเร่งผ่านกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ
เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของชาติ และการพิจารณากฏหมายสำคัญระดับนี้ ควรได้รับการอภิปรายอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่สมาชิกสภาผู้แทนของเรา ผ่านกฏหมายทั้ง 3 ฉบับ ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงเพื่อให้สอดรับ กำหนดการยุบสภาล่วงหน้า ของนายกรัฐมนตรี
ในระบอบประชาธิปไตย ความสำคัญหลักประการหนึ่ง ซึ่งยังผลให้การเลือกตั้ง เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย คือโอกาสในการแข่งขันซึ่งต้องมีเสมอกัน ทั้งที่สมาชิกสภาผู้แทนเหล่านี้ มักทำลายความชอบธรรม ในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ด้วยข้ออ้างความเป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเสมอมา แต่ในเวลาเดียวกัน ส.ส.เหล่านี้ กลับช่วงชิงความได้เปรียบ เพื่อประโยชน์ฝ่ายตน เพื่อให้ได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาล แม้ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง และเขตการเลือกตั้งก็ตาม
ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง (Re-Districting) เขาไม่ทำกันชุ่ยๆ เพราะมันเป็นการจำกัดสิทธิ์ (Disfranchise) ประชาชนและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นการกระทำใดๆ อันจะนำไปสู่การได้เปรียบเสียเปรียบ ของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เขาไม่ทำกัน การกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ในอเมริกา ทำกันทุกสิบปี หลังการสำรวจสำมโนประชากร ในอังกฤษการกำหนดเขตเลือกตั้งต้องมีการทำแผนที่ประชากรและเขตการเลือกตั้งอย่างละเอียด ซึ่งครั้งสุดท้ายในอังกฤษ ใช้เวลากว่า 3 ปี และใช้เงินกว่า 5 ล้านปอนด์ ไม่ทำตามอำเภอใจของนักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากฏหมายอย่างเร่งรีบ ผ่านสภา 3 วาระรวด พร้อมทั้งยัดเยียดให้ผ่านสภาสูงใน 3 สัปดาห์
นอกจากนี้ กฎหมายลูกทั้ง 3 เกิดแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยครรลองประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ 1. ในประเทศประชาธิปไตย การลดเขตเลือกตั้งหรือลดจำนวนผู้แทนให้น้อยลง ในขณะที่ประชากรความเจริญและปัญหาเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการเลือกตั้งของประชาชน แต่ประเทศไทยกลับสวนทาง ด้วยการลดจำนวนเขตการเลือกตั้ง ลงเหลือ 375 เขต ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้น โดยไม่มีความเหมาะสม นอกจากต้องการชิงความได้เปรียบ จากการเพิ่มจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น
2. เนื่องจากนโยบายการบริหารประเทศของพรรคการเมืองใหญ่ในต่างประเทศ เป็นนโยบายที่มีความต่อเนื่อง และเป็นที่เข้าใจของประชาชน ผู้แทนระบบสัดส่วนถูกกำหนดขึ้น เพื่อคุ้มครองพรรคการเมืองเล็กๆ และป้องกันการผูกขาดอำนาจในหมู่พรรคการเมืองใหญ่ ระบบพรรคในต่างประเทศจึงเข้มแข็ง พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็นพรรคส่วนบุคคลหรือพรรคที่อยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน นโยบายพรรคมักโลเล เป็นไปตามความต้องการของนายทุน หรืออารมณ์ของประชาชน และประเด็นการเมืองที่เผชิญอยู่ในเวลานั้น ดังนั้น การเพิ่มจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ไม่สามารถทำให้ระบบพรรคในประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น นอกจากเป็นการเพิ่มโอกาส ให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ระหว่างพรรคและนายทุนของพรรค และส่งผลเป็นการทำลายหลักประชาธิปไตยอย่างรุนแรงเท่านั้น
3.การเสนอกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับนั้น เพียงเพื่อให้สอดรับการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งทำลายจารีตประชาธิปไตย ด้วยเหตุถึง 2 ข้อเป็นอย่างน้อย อาทิ รัฐธรรมนูญปี 2550 มีประชามติถึง 14.7 ล้าน อีกทั้ง รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 วรรค 4 กำหนดให้มีการทำประชาพิจารณ์อย่างชัดเจน แต่การแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แอบทำกันระหว่างพรรค โดยไม่แยแสต่อการทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ
“จากภาพที่ปรากฏในระยะนี้ เราไม่เชื่อในความสุจริตของสมาชิกสภาผู้แทน เราสงสัยในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของ ส.ส.เหล่านั้น โดยเฉพาะหน้าที่อันสำคัญสูงสุด “การกำหนดอนาคตของชาติ” ซึ่งต้องมีความกล้าหาญ และจริยธรรมเป็นพื้นฐาน จากการล่มสภาได้ถึง 3 ครั้ง เพราะ ส.ส. เหล่านั้นไม่มีความกล้าหาญพอที่จะลงคะแนน สวนความต้องการของนายทุนพรรค จึงหนีหน้าที่จนสภาล่ม และการผ่านกฏหมายสำคัญ 3 ฉบับ ภายในเวลา 3 ชั่วโมง โดยเอกฉันท์นั้น เห็นได้ชัดว่า อนาคตประเทศไทย ถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนพรรคการเมือง ผ่าน ส.ส.ซึ่งยอมตนเป็นทาสในเรือนเบี้ย”จดหมายจากกลุ่มคนไทย-ปัญญาชนไทยในสหรัฐฯ ระบุ