xs
xsm
sm
md
lg

ระบบกู้ภัยภาคประชาชน (3)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ทีมจากหมู่บ้านเล็กๆ ของเรา (บ้านสวนใต้ ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา) ที่ออกจากหมู่บ้านไปตั้งแต่เช้ามืด กลับมาถึงหมู่บ้านตอนเที่ยงคืนกว่าๆ ของเมื่อคืน พวกเขาไปด้วยกันด้วยรถกระบะ 2 คัน บรรทุกสิ่งของซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร เพราะหมู่บ้านของเราเป็นชาวนา ข้าวสารเป็นสิ่งของที่สามารถร่วมมือสนับสนุนเพื่อนผู้ประสบภัยได้ไม่ยากเพราะไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินทอง บางคนก็เอาฟักทอง บวบ มัน หน่อไม้ ฯลฯ จากสวนของตัวเอง เป็นความสวยงามที่ผมแอบภูมิใจอยู่ลึกๆ ทุกครั้งที่หมู่บ้านของเราไม่เคยนิ่งดูดาย และมีปฏิกิริยาต่อทุกสถานการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง...

สิ่งที่เขานำมาเล่าสู่กันฟังเช้านี้ก็คือ ความรู้สึกสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต้องตกระกำลำบากที่พวกเขาไปเห็นมากับตา พวกเขาเล่าว่าเข้าไปถึงที่เกิดเหตุทั้งที่กรุงชิง นบพิตำ และไปจบที่สิชล สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นของการพูดคุยก็คือคำถามที่ว่า “ถ้าหมู่บ้านของเราโดนอย่างนั้นบ้าง พวกเราจะทำอย่างไร..” เป็นคำถามที่ดูเกินจริงเกินความคิดเดิมๆ ที่มีอยู่ในสังคมหมู่บ้านเล็กๆ ของพวกเรา “ไม่มีทาง...บ้านเราอยู่บนควนและไม่เป็นเขาสูงๆ เหมือนที่กรุงชิงหรือเทพราชหรอก”

บางคนแย้ง “กูว่าไม่แน่ สึนามิไง..บ้านเราห่างเล (ทะเล) แค่ห้าหกกิโลเมตร...ดูญี่ปุ่นดิ ห่างฝั่งเป็นสิบๆ โลยังเรียบเป็นหน้ากลอง” บทสนทนาของเพื่อนบ้านหลังจากไปตระเวนบริจาคสิ่งของกลับมาคือเรื่องราวที่ชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ ของเราได้หยิบยกเอาปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยสังคมโลกกำลังเผชิญหน้า มาถกเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจังอีกวาระหนึ่ง ฯลฯ

ระหว่างการออกสำรวจของทีมเล็กๆ หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ พวกเราเริ่มตระเวนตั้งแต่ตำบลเทพราช ตำบลฉลองอำเภอสิชลในพื้นที่นครศรีธรรมราชแล้วเข้าตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพินที่สุราษฎร์ฯ เข้าเขาพนมในกระบี่ และจบลงที่ตรังใช้เวลารวม 4 วัน 4 คืน สิ่งสำคัญที่เราพบในพื้นที่เกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้ก็คือ พวกเราพบขบวนของภาคประชาชนหลากหลายอาชีพ ที่มุ่งกันไปยังสถานที่เกิดเหตุที่มาจากพื้นที่ทั้งที่ใกล้เคียงและต่างจังหวัดหรือไกลออกไปอย่างต่างภูมิภาคในทุกพื้นที่

บ้างก็มาด้วยรถกระบะอย่างหรูชนิดราคาแพงๆ อุปกรณ์ในการบุกป่าลุยโคลนเต็มพิกัด บรรทุกสิ่งของที่จำเป็นเต็มคันรถ บ้างก็เป็นหน่วยงานของมูลนิธิทางการกุศลที่เรามักคุ้นหูคุ้นตาอยู่บนถนนยามเกิดอุบัติเหตุ บ้างก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่หอบหิ้วเอาข้าวสารอาหารแห้งใส่ถุงพะรุงพะรังเดินไปแจกบ้านโน้นบ้านนี้ บ้างก็เข้าไปนั่งฟังเหตุการณ์ที่เพื่อนผู้ประสบภัยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังอย่างใจจดจ่อ บ้างก็เศร้าหมองซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด ฯลฯ

ในท่ามกลางของการพัฒนาการทางสังคมที่บูดเบี้ยว ในท่ามกลางการจัดระบบของกลไกทางสังคมที่ยังไม่ลงตัว ทำให้สังคมไทยไม่มีขีดความสามารถที่จะรองรับภัยพิบัติใดๆ ได้เลย เหตุการณ์พายุดีเปรสชั่นที่พัดเข้ากระหน่ำฝั่งอ่าวไทยในแถบสงขลา พัทลุง และสามจังหวัดในภาคใต้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งบ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชนไปจำนวนมากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หาได้มีบทเรียนใดๆ ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ที่จะได้เรียนรู้และปรับตัวเพื่อเตรียมรับสถานการณ์เช่นนี้แม้แต่น้อย

ความโกลาหลอลหม่านจากระบบสื่อสารที่ล่มทุกระบบ ไฟฟ้า ประปา หรือแม้แต่ระบบเตือนภัยใดๆ ไม่ปรากฏว่าได้มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นอาทิตย์ ภาพเบื้องหน้าที่เห็นด้วยตาคือความระทมทุกข์ของผู้คนที่พยายามดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง และความช่วยเหลือจากภาคประชาชนด้วยกัน ที่พอประทังและเยียวยาความเดือดร้อนเบื้องหน้าได้จริงๆ ภาพผู้คนที่ต้องพาครอบครัวกันมาอยู่บนถนน บนชั้นสองของอาคารเรียนกลางกระแสน้ำ กิน ถ่าย อย่างผิดสุขลักษณะซึ่งเป็นเรื่องพื้นๆ ที่กลไกรัฐสามารถที่จะจัดการให้ได้ ไม่ว่าห้องน้ำ ห้องส้วม แบบลอยน้ำในพื้นที่จมน้ำหรือจัดอพยพไปอยู่ในพื้นที่สูง ที่สะอาดและปลอดภัยกว่าบนถนน เพียงแค่นี้ศักยภาพของกลไกรัฐก็สอบตกโดยสิ้นเชิง คำถามจึงมีว่าเราจะปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เลยตามเลยไปอีกกี่ครั้งของเหตุการณ์

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะได้กระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบต่อกรณีภัยพิบัติต่างๆ ลงสู่ชุมชน ซึ่งก็หมายรวมถึงงบประมาณ อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น ตลอดถึงการจัดการให้ความรู้ การจัดระบบเตือนภัย การฝึกอบรมทั้งในแง่ของทฤษฎีวิชาการที่ว่าด้วยภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงการจัดการฝึกอบรมฝึกฝน ซักซ้อมการเผชิญเหตุในพื้นที่จริง กรณีการหนีภัยจากแผ่นดินถล่มขึ้นไปอยู่บนเนิน 2-3 จุดที่ตำบลเทพราช ตำบลฉลองของอำเภอสิชลที่ทำให้หลายชีวิตในหมู่บ้านรอดชีวิตมาได้ หรือกรณีบ้านในพื้นที่ลุ่มอย่างในพื้นที่ตำบลท่าข้ามของอำเภอพุนพิน การออกแบบบ้านลอยน้ำของบางครอบครัว ที่สามารถทำให้เก็บข้าวของไว้ได้ไม่เสียหายจมอยู่ใต้น้ำเหมือนบ้านทั่วๆ ไป

การที่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันมองเห็นแผ่นดินถล่มจากภูเขา ซึ่งห่างออกไปจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตรทั้งๆ ที่เกือบทุกหลังคาเรือนมีรถยนต์ของตัวเองที่เขาพนม กระบี่ หากพวกเขารู้ว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะต้องรีบออกจากหมู่บ้าน วันนี้เราคงไม่เห็นภาพของทั้งบ้านเรือนและรถยนต์จำนวนมากถูกดินภูเขาถล่ม ถูกน้ำซัดกระจัดกระจายกันเช่นนั้น หรือการวางแผนการช่วยเหลือจากการจัดระบบข้อมูลของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายที่ไม่ให้การช่วยเหลือล่าช้าหรือซ้ำซ้อนกัน นี่คือประสบการณ์และบทเรียนสำคัญของชุมชนที่เราสามารถยกระดับขึ้นมาให้เป็นองค์ความรู้ของชุมชน เป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองการปกครอง ส่งผลกระทบต่อความด้อย ความล้าหลังที่ส่งผลให้ศักยภาพของประชาชนไทยไม่มีโอกาสได้พัฒนา ทั้งในแง่ของการเรียนรู้และการปกครองดูแลตัวเอง สร้างนิสัยหวังพึ่งพา ร้องขอ รอการช่วยเหลือในยามเจอภัยพิบัติให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ส่งผลให้ประเทศของเราด้อยพัฒนาและล้าหลัง แต่การรวมศูนย์ระบบเตือนภัย ระบบเฝ้าระวังภัยในหมู่ประชาชน ได้ส่งผลให้ประชาชนต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะมอบอำนาจหรือคืนอำนาจในการสร้างระบบเตือนภัย ระบบเฝ้าระวังและการกู้ภัยให้กับชุมชน ในเมื่อทั้งอำนาจและทรัพยากรมหาศาลที่รวมศูนย์อยู่ในปัจจุบัน ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าภาคประชาชนหรือมูลนิธิเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เก็บศพตามท้องถนนได้เลย.
กำลังโหลดความคิดเห็น