xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดร.ลิขิต ธีรเวคิน “ไม่รู้การเมืองไทยจะเกิดอะไรขึ้น...รู้แต่ว่าไม่ดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กล่าวได้ว่าทันทีที่ 'นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณว่าจะมีการยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้นี้ เสียงปี่เสียงกลองการเลือกตั้งก็พลันดังกระหึ่มขึ้นในทันที เพิ่มดีกรีความร้อนแรงให้กับการเมืองไทยในชั่วพริบตา แต่ทั้งนี้ก็มีคำถามตามมาว่าในเมื่อบรรดานักการเมืองก็ยังวนไปเวียนมามีแต่คนหน้าเดิม พรรคการเมืองก็ยังเป็นพรรคเดิม เช่นนี้แล้วสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่สืบเนื่องยาวนานมาหลายปีจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์' จึงได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ 'ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน' ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยนับจากนี้ไว้อย่างถึงแก่นและแหลมคม

**อาจารย์มองสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้ยังไง

ผมว่าการเมืองตอนนี้มันเป็นไปได้ทั้งนั้น ต้องดูว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และถ้ามีการเลือกตั้ง หลังจากนั้นจะสามารถตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ที่ผมมองอย่างนี้เพราะขณะนี้ประเด็นเรื่องเลือกตั้งเป็นประเด็นร้อนมากว่าจะเลือกตั้งหรือไม่ แล้วนายกฯอภิสิทธิ์ก็รีบประกาศยุบสภา ซึ่งผมวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่นายกฯ รีบที่จะประกาศยุบสภาเพราะ.สถานการณ์มันสุกงอมใน 3 ประการ คือ 1 .รัฐบาลมีปัญหาเรื่องผลงาน ผลงานไม่ดี อีกทั้งยังเกิดความแตกแยกในคณะรัฐมนตรี และในพรรคประชาธิปัตย์ 2. ประกาศยุบสภาเพื่อสกัดการปฏิวัติรัฐประหาร เนื่องจากมีข่าวว่าอาจมีการรัฐประหารในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งเมื่อรัฐบาลรีบยุบสภา ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ใครจะลุกขึ้นมาทำรัฐประหาร 3. สกัดกลุ่มเสื้อแดง เพราะถ้ารัฐบาลยุบสภาเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่มีเหตุผลที่เสื้อแดงจะชุมนุมประท้วงต่อไป ซึ่งที่คุณอภิสิทธิ์ทำแบบนี้ก็เพื่อเซฟตัวเอง

และปรากฏว่าได้ผล กระเพื่อมกันทั้งประเทศเลย เช่น ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสาบูรณ์ โผล่ออกมาจากไหนไม่รู้ มีการรวมพรรคชาติไทยพัฒนากับพรรคเพื่อแผ่นดิน ขณะที่บรรหาร ศิลปอาชา ประกาศจับมือกับเนวิน ชิดชอบ จะร่วมงานทางทางการเมืองกันหลังการเลือกตั้ง คือทุกคนขยับหมด ทีนี้รู้เลยใครเป็นใคร แต่ก็มีผลเสียหลายอย่างที่ตามมา คือ ส.ส.ลงพื้นที่หมดเพราะเร่งหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง แต่ละพรรคมีการต่อรองกันอย่างหนัก และเป็นสถานการณ์กดดันให้เพื่อไทยต้องรีบหาตัวคนที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะถ้าหาตัวไม่ทันก็ยุ่ง ตอนนี้ในพรรคเพื่อไทยก็เริ่มแตกกันวุ่นวายไปหมด คือมันเป็นไพ่ที่อภิสิทธิ์วางว่าทุกคนต้องเดิน แต่เขาตั้งใจหรือเปล่าไม่รู้นะ

**แล้วทำไมหลังจากประกาศยุบสภาจึงมีข่าวออกมาว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง

การที่พอประกาศยุบสภาปุ๊บมันมีประเด็นว่า จะมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง ซึ่งการที่มีการตั้งคำถามอย่างนี้ออกมาแปลว่าระบบของเราใช้ไม่ได้ มันไม่มีความมั่นใจ เพราะปกติยุบสภาแล้วก็ต้องมีการเลือกตั้ง แต่นี่เฮ้ย..อาจจะเลือกหรืออาจจะไม่เลือก ทุกฝ่ายทั้งนักการเมืองทั้งประชาชนไม่มีความมั่นใจทางการเมืองเลย เหมือนนักการเมืองจีนที่ตอนนี้หันไปพึ่งไสยศาสตร์ ต้องไปทำฮวงจุ้ย เพราะระบบมันไม่แน่นอน เขาไม่รู้จะพึ่งอะไร ไม่สามารถพึ่งเหตุผลได้เขาก็ต้องหันไปพึ่งสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผล นักการเมืองไทยก็ชอบผูกดวงเพราะอะไร เพราะระบบมันไม่แน่นอนนี่ คนเก่งที่สุดอาจจะไม่ได้รับเลือก ก็ไปผูกดวงละ

**ถ้ามีเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

ถ้ามีเลือกตั้งก็มีความเป็นไปได้อยู่ 4 แนวทางด้วยกัน คือ แนวทางที่ 1. เลือกตั้งปุ๊บทุกอย่างเรียบร้อย ราบรื่นทุกอย่าง พรรคที่ได้เสียงข้างมากก็จัดตั้งรัฐบาล บริหารประเทศไป ส่วนพรรคที่แพ้ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ดีเกินไปที่จะเป็นความจริง แต่หลายคนก็อยากให้เป็นแบบนี้

แนวทางที่ 2. มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ บางพรรคจะหาเสียงไม่ได้ในบางพื้นที่ เข้าไปก็ถูกขว้าง จนถึงขั้นใช้ความรุนแรง อาจจะมีการขว้างระเบิดกัน ยิงกัน ผมเพิ่งเจอ ส.สงคนหนึ่งเขาบอกว่าลงไปในพื้นที่นี่ โอ้โห...มันด่ากัน ขว้างไข่กัน ขนาดไปงานศพยังถูกขว้างเลย ถามจริงๆ ตอนนี้หัวหน้าพรรคบางพรรคลงไปหาเสียงในภาคเหนือภาคอีสานได้ไหม แล้วหัวหน้าพรรคอีกพรรคไปหาเสียงในภาคใต้ได้ไหม จะมีแคมเปญยังไงล่ะ อย่างนี้มันไม่ใช่การเลือกตั้งแล้ว ซึ่งสุดท้ายอาจจะต้องหาทางออกด้วยการยุติการเลือกตั้ง หรือปล่อยไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายประชาชนเอือมระอาว่าถ้าการเลือกตั้งยังเป็นอย่างนี้แล้วรัฐบาลจะเป็นยังไง

แนวทางที่ 3 การเลือกตั้งผ่านไปได้ ถึงจะมีความรุนแรงบ้างแต่ก็เลือกตั้งได้ แต่ว่าประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะมีการโกงทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นประท้วงกันทั่วเลย เหมือนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลัง พ.ศ. 2500 ที่มีการเลือกตั้งสกปรก นิสิตจุฬา นักศึกษาธรรมศาสตร์ ประท้วงกันใหญ่ ก็มาเจอร้อยเอกคนหนึ่งที่สะพานมัฆวานฯ บอกหยุดก่อน เดี๋ยวนายจะมา ร้อยเอกคนนั้นคือ อาทิตย์ กำลังเอก จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มาแล้วบอก “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” แล้วก็ปฏิวัติ ทีนี้พอประชาชนไม่ยอมรับการเลือกตั้ง มันก็เกิดการฟ้องร้อง คดีล้นศาลไปหมด ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโหวตโนเยอะแยะนะ แล้วถ้าคนเกิน 50% บอกโน..ฉันไม่เลือกใคร ยุ่งเลยนะ ความชอบธรรมในการเลือกตั้งไม่มี

แนวทางที่ 4 เลือกตั้งผ่านไปได้ ถึงจะมีการขว้างปากันช่วงหาเสียงแต่ก็ยังกล้อมแกล้มผ่านไปได้ แต่ว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือกว่าจะตั้งได้หืดขึ้นคอเลยเพราะคะแนนมันก้ำกึ่ง และถึงตั้งรัฐบาลได้ก็บริหารงานไม่ได้ เหมือนสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งหมดก็คือลงเอยว่าระบบการเลือกตั้งต้องยุติชั่วคราว

**อาจารย์คิดว่าทั้ง 4 แนวทางนี้ แนวทางไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ผมกลัวว่าจะเป็นแนวทางที่ 3 นะ คือเลือกตั้งได้แต่ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง มีการคัดค้านเยอะแยะไปหมด อาจจะแรงเลยเพราะต่างคนต่างไม่ยอมแพ้ มีคดีขึ้นศาลเต็มไปหมด ชาวบ้านเดินขบวนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) บอกอย่างงี้ไม่ไหวแล้ว กกต.ทนไม่ได้ลาออกดีกว่า

**แล้วถ้าไม่มีเลือกตั้งล่ะ

สาเหตุที่อาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเพราะ 1) ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยทำให้เหตุการณ์มันรุนแรงจนกระทั่งมันเลือกตั้งไม่ได้ พอเลือกตั้งไม่ได้ก็ต้องไปสู่ที่เดิมคือมีรัฐประหาร แต่ว่าบรรยากาศของหลายๆ ประเทศที่มีการประท้วงกันรุนแรงอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ตูนีเชีย อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย บาเรนห์ ไอเวอรี่โคสต์ โมร็อคโค เยเมน เฮ้ย..ต้องคิดหนักแล้วว่าจะเสี่ยงเหรอ อยู่ดีๆ จะเสี่ยงหาเรื่องเหรอ เพื่ออะไร

2) กกต.ลาออก เพราะเมื่อ กกต.ลาออกก็จัดการเลือกตั้งไม่ได้ แต่ถ้า กกต.ลาออกก็มีทางออกอยู่ 3 วิธี คือ วิธีที่ 1. ใช้มาตรา 7 คือใช้ประเพณีตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งรัฐจะว่างเว้นซึ่งอำนาจไม่ได้ โดยตั้งนายกรัฐมนตรีแบบรัฐบาลชั่วคราว บริหารสัก 2 ปี เพื่อจะปรับปรุงประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งบางคนบอกไม่ถูกต้อง มันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ วิธีที่ 2. ใช้มาตรา 7 ตั้ง กกต.ชั่วคราว พอจัดการเลือกตั้งเสร็จ กกต.ชุดนี้ก็ลาออก แล้วให้สภาสรรหา กกต.ชุดใหม่ ซึ่งดีไม่ดี กกต.ชั่วคราว ถ้าทำงานดีอาจจะกลับมาอีก วิธีที่ 3 ไม่ต้องตั้ง กกต.ชั่วคราว สรรหา กกต.ใหม่เลย ส่วนรัฐบาลที่จะบริหารประเทศก็ให้รัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลรักษาการไปเรื่อยๆ เมื่อสรรหา กกต.ได้ค่อยจัดการเลือกตั้ง เพราะถึงเลือกตั้งไม่ได้ตามกำหนดก็ไม่มีอะไรเสียหายนี่ เกินเวลาก็เกินเพราะมันเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ต้องยึดหลักการว่าบ้านเมืองจะพังไม่ได้ ระบบประชาธิปไตยจะพังไม่ได้ เงื่อนเวลานี่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ทำให้ระบบพังนะ เลือกตั้งช้าไปหน่อยก็ไม่เป็นไร

3) ไม่มีการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาบริหารงาน ทีนี้ถามว่าถ้าไม่ล้มรัฐธรรมนูญจะใช้มาตรา 7 ตั้งรัฐบาลชั่วคราวได้ไหม ก็ตอบว่าทำได้ แค่แก้รัฐธรรมนูญ งดเว้นใช้บางมาตรา มาตราที่ระบุว่านายกฯต้องมาจาก ส.ส. และมาตราที่ให้ ส.ส.ในสภาโหวตเลือกนายกฯ แล้วใช้บทเฉพาะกาลเลือกคนที่เหมาะสมมาเป็นนายกฯ โดยทั้ง 2 สภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งสามารถเอาคนนอกมาเป็นนายกฯได้ด้วย เพราะเป็นรัฐบาลชั่วคราว ไม่ต้องมาจาก ส.ส. แค่สภาพร้อมใจกันแก้รัฐธรรมนูญ

**แต่ถ้าจะตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยการแก้รัฐธรรมนูญ คงต้องถึงจุดที่วิกฤตจริงๆ

ใช่ ต้องถึงจุดที่วิกฤตเสียก่อน คือถ้าเกิดวิกฤตแล้วสภาตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ไม่ว่า แต่การแก้รัฐธรรมนูญหรือการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้นอย่าใช้วิธีออกพระราชกฤษฎีกาเพื่องดใช้รัฐธรรมนูญเป็นอันขาด เหมือนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพราะจริงๆ แล้วมันทำไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด รองลงมาคือพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด จากนั้นจึงมาถึงการออกพระราชกฤษฎีกาไปบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ คือพระราชกฤษฎีกาเป็นศักดิ์ที่ 3 ของกฎหมาย ดังนั้น จะเอาพระราชกฤษฎีกามาเป็นข้อกำหนดในการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้ นอกจากนั้นการแก้รัฐธรรมนูญยังต้องดำเนินการโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไม่ใช่ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญมาตรนั้นมาตรานี้ได้เลย ถ้าทำอย่างนั้นถือเป็นกบฏนะ ถ้าไม่ต้องการให้มีรัฐประหารก็มีทางออกแบบนี้

**อาจารย์มองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่มีการเลือกตั้ง

มาถึงตรงนี้แล้วมันก็ต้องกล้อมแกล้มไป ก็เลือกตั้งกันไป แต่ที่สำคัญคือหลังเลือกตั้งนี่แหละ ระหว่างการเลือกตั้งก็เป็นปัญหาใหญ่ที่น่าหนักใจนะ

**คิดว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้น

โอ้โห...เข้มข้นมากๆ เพราะมันไม่ใช่การชนะเลือกตั้งเพื่อมาเป็น ส.ส. แต่มันเป็นการชิงบ้านชิงเมือง เป็นการเดิมพันว่าบางคนจะได้กลับหรือไม่ได้กลับ จะอยู่หรือจะไป มันสู้กันแรงที่สุดเลยครั้งนี้ นี่ถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง บางวิธีที่เคยเล่นมันก็เคยล้มเหลวมาแล้ว และเป็นสิ่งที่โลกจับตามอง ดังนั้นถ้าคิดจะเล่นวิธีเดิมมันก็ไม่ง่าย จะเสี่ยงเหรอ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องกลับมาเล่นในเวทีนี้ ทุกคนก็เฮกลับเข้ามาเล่นในเวที และก็ต้องใช้ทุกวิถีทางในเวทีเพื่อเอาชนะให้ได้

แต่ข้อดีก็คือตอนนี้ประชาชนพัฒนามากในแง่ของความตื่นตัวทางการเมือง ในประเทศแถบนี้ไม่มีประชาชนประเทศไหนตื่นตัวทางการเมืองเท่าประเทศไทยนะ คนไทยตื่นตัวมาก โดยเฉพาะรากหญ้า ตรงนี้ถือว่าคือความเจริญทางการเมืองนะ แต่ข้อเสียคือมันไม่สามารถมีกลไกที่จะรองรับความตื่นตัวดังกล่าวได้ ถ้ามันรองรับได้นะการเมืองไทยจะก้าวไปได้สวยเลย เพราะไอ้ความขัดแย้งแบบนี้มันคือการพัฒนาทางการเมืองนะ ก็เหมือนเด็ก ถ้าเด็กๆเถียง และเขามีเหตุมีผลของเขา แสดงว่าเขาพัฒนานะ แต่ถ้าเขาไม่หือไม่อืออะไรเลยเนี่ยน่าเป็นห่วงนะ

ผมว่าตรงนี้ถ้ามองให้ดี เป็นความกระเพื่อมขยับตัวของสังคม แต่ข้อเสียคือสังคมมันปรับไม่ได้ ไม่มีครั้งไหน ไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนจะสนใจการเมืองมากเท่าประเทศไทยตอนนี้ มีประเทศเดียวที่เคยมีประชาชนสนใจการเมืองอย่างมากคือสมัยที่ประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตุง ปลุกชาวนาจีน ตอนนั้นเมืองจีนขยับหมด ของเราไม่ต้องปลุกอย่างนั้นเขาลุกขึ้นมาเอง ตื่นตัวยิ่งกว่าสมัยคอมมิวนิสต์อีก มีครั้งไหนบ้างที่กรรมกร คนใช้ พูดคุยเรื่องการเมืองกันหมด มีจุดยืนเป็นเสื้อสีนั้นสีนี้ แต่มันเกิดความไม่ไว้วางใจกันด้วยนะ ในบ้านเดียวนี่ยังไม่พูดเรื่องการเมืองกันเลย ไม่รู้อยู่ฝ่ายไหน เพราะเขามีจุดยืนแบบนี้แล้วก็มองไปทางเดียวเลย ไม่เปิดรับด้านอื่น ซึ่งอย่างนี้ไม่ดี

**อาจารย์มองการที่บรรดา ผบ.เหล่าทัพ ออกมาแถลงยืนยันว่าจะไม่ปฏิวัติอย่างไร

ถ้ามองในแง่บวกผมคิดว่ากลุ่มทหารเหล่านี้ก็คงต้องการให้การเมืองไปตามครรลอง เรื่องของการเมืองก็ปล่อยให้การเมืองว่ากันไป พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ก็เคยพูดว่า “การเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง” ประการที่ 2 คือถ้ามองในแง่ความเป็นจริง ถ้าทหารเข้ามาเกี่ยวข้องเขาจะได้อะไร ตอนนี้เขาได้อยู่แล้วน่ะ เขาจะได้อะไรมากกว่า ผบ.ทบ. ทำไมเขาต้องไปเสี่ยงล่ะ ถ้าเกิดพลาดขึ้นมาใครรับผิดชอบล่ะ ประการที่ 3 คือเขาออกมาพูดเพื่อให้บางคนเห็นชัดๆ เลยว่า อย่านะ อย่าดึงเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราไม่เกี่ยว คุณอย่าเอาเราเป็นเครื่องมือไปขู่อีกคนหนึ่ง ชอบไปพูดขู่ฝ่ายตรงกันข้ามว่าอย่านั้นอย่างนี้นะเดียวทหารจะปฏิวัติ อย่าเอาเราไปใช้เป็นเครื่องมือ เราไม่เกี่ยว เพราะที่ผ่านมาเราถูกใช้จนกระทั่งเกิดความเสียหายมาแล้ว ซึ่งเขาก็ทำถูกนะ แต่การที่เขาจะเตือนกันเนี่ยมันก็มีวิธีอื่น เช่น ไปพูดกันเป็นส่วนตัว นี่เล่นออกมาประกาศอย่างเป็นทางการขนาดนี้นี่ลืมนึกไปนะว่ามันทำให้ถูกมองได้

**แปลว่ามีทหารอีกกลุ่มหนึ่งที่จะปฏิวัติจริงๆ

ไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเป็นการพูดเตือนว่า..อย่าขยับนะ แล้วใครจะกล้าขยับล่ะถ้าระดับผู้ใหญ่ไม่สั่ง ก็แสดงว่ามันมีคนที่คิดจะทำจริง ลองวิเคราะห์สิ ใครจะกล้าขยับถ้า ผบ.สูงสุด ผบ.ทบ. ไม่สั่ง ก็แสดงว่ายูคิดจะขยับใช่ไหม ยูจะไม่ฟังไอใช่ไหม ยูจะจัดการงานนอกคำสั่งหรือเปล่า วิเคราะห์แล้วมันออกมาได้แบบนี้

**คือมีการกระด้างกระเดื่องในกองทัพ ?

ไม่มีอย่างอื่นหรอก เพราะมันมีความไม่พอใจกัน อ่านดูจะเห็นเลย พูดกันตามจริงทหารเขาก็เหนื่อย อยู่ๆ เขาต้องแบกหมด มันลำบากเหมือนกันนะ ถึงเวลาจริงๆ ใครแบกหน้าล่ะ

**แล้วอาจารย์มองกระแสโหวตโนที่เกิดขึ้นตอนนี้อย่างไรบ้าง

คือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถือเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน แต่ทีนี้ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะต้องเสียสิทธิบางอย่าง เช่น เสียสิทธิในการลงชื่อถอดถอน แต่ถ้าไปใช้สิทธิเขาก็มีสิทธิเลือกใครก็ได้ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม ไม่มีใครมาห้ามได้ นอกจากนั้นยังมีอีกช่องหนึ่งที่เป็นทางเลือก คือถ้าผมไม่พอใจใครสักคนเลย ผมก็มีสิทธิสงวนที่จะไม่ลงคะแนนให้ใครเลย นี่เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ถ้ามีความรู้สึกว่าระบบทั้งหมดมันใช้ไม่ได้แล้วพากันโหวตโน สมมุติสัก 5% -10% มันก็เป็นสิทธิส่วนตัว ไม่มีสิทธิไปว่าเขา แต่ถ้าโหวตโนไป 55% มันไม่ใช่เรื่องปัจจัยบุคคลแล้ว แต่มันคือการปฏิเสธระบบทั้งระบบ แสดงว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งจึงโหวตโน สมมุติผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีทั้งหมด 30 ล้านคน โหวตโนสัก 15 ล้านเสียง หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งมันก็ฉิบหายแล้ว คุณเป็นรัฐบาลภาษาอะไร ระบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว

ในทางการเมืองมันมีปัญหานะ มีคนสมัคร ส.ส. 5 คน คุณได้คะแนน 21% แล้วกระจายไปที่อื่น 79% แล้วคุณเป็น ส.ส.ยังไงแค่ 21% สมมุติในเขตนั้นมีประชากร 1 แสนคน ได้คะแนนแค่ 2 หมื่น จะมาเป็นตัวแทนคนทั้ง 1 แสนคนได้ยังไง บางประเทศเขาใช้วิธีเอาคนที่ได้คะแนนอันดับ 1 กับอันดับ 2 มาให้ประชาชนโหวตอีกที แล้วคะแนนคุณต้องเกิน 51% นะ แล้วตอนนี้ก็กำลังมีปัญหาว่าถ้าเขตนั้นมีคนลงสมัครแค่คนเดียว แล้วได้คะแนนไม่ถึง 21% จะได้เป็น ส.ส.ไหม นี่แก้กฎหมายว่าถ้าให้ลงคะแนนใหม่อีกทียังไม่ได้ 21% เขาให้เป็น ส.ส.เลย ไม่งั้นมันไม่มี ส.ส.นะ เจ๊งเลยนะ

**อาจารย์มองว่าถ้าเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยชนะจะเกิดอะไรขึ้น

ผมว่าการตั้งรัฐบาลถ้าได้เสียงมากปุ๊บ เป็นมติมหาชนมันจะห้ามลำบากมาก แต่ก่อนที่เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งมันจะมีปัญหาภายในซึ่งต้องจัดให้ลงตัวใครจะเป็นนายกฯ

**ตอนนี้เพื่อไทยก็ยังหาตัวคนที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯไม่ได้

พอขยับทำท่าจะชนะมันชักยุ่งแล้วคราวนี้ ถ้าเพื่อไทยชนะแล้วจะให้ระบบมันไปต่อก็ต้องเป็นไปตามครรลอง

**โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้มีไหม

ยาก จะตั้งรัฐบาลได้เขาต้องรวมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ปัญหาคือเขาหาตัวนายกรัฐมนตรีลำบาก และถ้ากล้าหาญนะต้องตั้งรัฐมนตรีแบบที่คนเถียงไม่ออก ตำหนิไม่ได้ อาจจะไม่ตั้ง ส.ส.เป็นรัฐมนตรี แต่ตั้งคนที่เขามีความรู้ความสามารถด้านนั้นๆ เข้ามา เพื่อให้คนเถียงไมได้ แต่ถ้าตั้งปั๊บคนยี้เลย มันก็พังตั้งแต่แรก

**แต่ดูแล้วแม้แต่ตัวรัฐมนตรีที่เหมาะสม เพื่อไทยก็ยังหายาก

มันถึงต้องเอาคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีไง อย่าง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ซึ่งเคยอยู่พรรคเพื่อไทยยังบอกว่ามันน่าจะเอาคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีให้หมด แล้วพรรคก็ทำหน้าที่ดูแลประสานงานไป แต่นักการเมืองมันไม่ตื่นไง

**ดูจากหลายๆ โพลที่บอกว่าเพื่อไทยจะได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง กระแสอย่างนี้ โอกาสที่ ส.ส.จะไหลไปเพื่อไทยน่าจะมีเยอะไหม

ไม่น่านะ สิ่งที่นักการเมืองต้องระวังคือบางทีพูดจนตัวเองเชื่อไปเองนะ อย่างผมเคยอยู่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีคนมาตบไหล่ผม บอกว่าเชื่อเถอะอาจารย์เลือกตั้งคราวนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยเสียง ผมก็นึกว่ามันจะถึงร้อยได้ยังไง ไปๆ มาๆ ได้ 30 กว่าคน การเมืองนี่พูดไปพูดมาจนเชื่อกันเอง แต่มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมว่าอันตรายนะ

**โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับขั้วกับพรรคเพื่อไทย ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปได้ไหม

ผมว่าลำบากนะ เหมือนน้ำกับน้ำมัน ยกเว้นจะมีกำลังภายในบีบคอ แต่ถึงจะรวมได้แต่ก็บริหารงานลำบาก เจอหน้าก็พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว คือการเมืองมันต้องมีอุดมการณ์นะ มันอาจไม่ได้ขัดแย้งกันเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องแนวทาง แล้วยิ่งไม่มีอุดมการณ์อย่างนี้นะมันขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ตัวเดียวเลย ซึ่งมันง่ายต่อการขัดแย้ง ถ้าต่างคนต่างไม่มีผลประโยชน์นะขัดแย้งเรื่องหลักการเรื่องอุดมการณ์เนี่ยมันก็รุนแรงนะ แต่ถ้าขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์นี่โอกาสที่จะขัดแย้งกันมันมีทุกวันนะ เจอหน้าก็ขัดแย้งกันแล้ว เฮ้ย..ทำไมคุณเอางบประมาณไปเยอะขนาดนี้

**อาจารย์มองว่าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอาจจะไม่ได้คะแนนมากพอจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ว่าไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสเยอะไหม

คือประชาธิปัตย์นี่พูดตรงๆ นะถ้าเป็นรัฐบาลแบบเดิมนี่สำคัญอยู่ที่ตัวนายกฯ จะให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ แบบเดิมเนี่ยไม่ได้แล้ว

**ไม่ไหวแล้วใช่ไหม

ผลงานอ่อน โธ่...แล้วมันไม่ใช่ผลงานอย่างเดียว การแก้ปัญหาก็ไม่ได้แล้ว ลำบากมาก ประชาธิปัตย์เองเขาก็ไม่เอา ลำบากมากแล้วล่ะ แล้วคุณอภิสิทธิ์เองก็คงไม่เอาแล้วด้วย ผมว่าแกคงเข็ดขยาดเหมือนกัน เพราะปัญหาของรัฐบาลชุดต่อไปจะมากกว่านี้เยอะ แม้แต่พรรคเพื่อไทยถ้าได้ขึ้นเป็นรัฐบาลก็ไม่ง่ายนะ ใครมาก็ไม่ง่ายเพราะมันอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแล้วเรื่องมันใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องที่จะบริหารแบบรูทีน (routine) มันเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ที่ซับซ้อน มันไม่ง่ายนะ ไม่สังเกตเหรอแม้แต่ประเทศใหญ่ๆ อย่างญี่ปุ่นการเมืองยังเสื่อมลง เสื่อมลง ช่วงหลังๆ นี่ไม่มีผู้นำประเทศเก่งๆ เลย แต่ประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์อย่างจีนกลับดีขึ้นตามลำดับ อินเดียก็ดีขึ้น ฟิลิปปินส์ก็ไม่เลวนะ มาเลเซียก็ไม่เลว แต่สิงคโปร์นี่ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะเขาบริหารงานแบบรูทีน หลังยุครัฐบาลลี กวนยู เขาก็ไม่รู้ว่าทำยังไงเหมือนกัน แล้วที่แปลกคือเขมรดีขึ้นนะ ระบบเขาใช้ได้เลย เพราะฉะนั้นของไทยนี่ท้าทายนะ

**แล้วอย่างนี้ถ้าไม่เอาคุณอภิสิทธิ์แล้วประชาธิปัตย์จะเอาใคร กลับไปที่คุณชวน หลีกภัย หรือจะเอาคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ มาเป็นหัวหน้าพรรค

ชื่อของคุณศุภชัยก็มี แล้วก็มีการพูดถึงคุณอภิรักษ์ โกษะโยธินด้วย คือก็มีความพยายามพูด แต่ทุกคนก็มีปัญหาแล้วมีปัญหาหมดทุกพรรคนะ ไอ้กลุ่มนี้ถ้าตั้งขึ้นมา เป็นนายกฯไหวเหรอแต่ละคน เพราะฉะนั้นขณะนี้เรามีปัญหาวิกฤตอะไรรู้ไหม ? วิกฤตผู้นำ วิกฤตในตัวนายกฯ อย่างคุณอภิสิทธิ์ก็มีข้อจำกัดมากในแง่ของประสบการณ์และความรู้ เขาไม่มีประสบการณ์ ไม่มีประวัติความสำเร็จสักอย่างนอกจากเป็นนักการเมือง แล้วมันลำบากเพราะแกขึ้นมาก็ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง พูดกันในแง่ดีก็คืออย่างน้อยแกก็ประคับประคองรัฐบาลมาได้ ก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ แต่สถานการณ์อย่างนี้ลำบาก

**แล้วอาจารย์มองกรณีการสรรหาตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังไง ตอนแรกว่าจะเป็นคุณเฉลิม อยู่บำรุง แล้วก็มาคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แต่สุดท้ายคุณทักษิณเองก็ยังกั๊กเหมือนเดิม ดูแล้วจะเอาใครกันแน่

คือเขาตกลงกันไม่ได้ มันไม่ลงตัว

**ทำไมคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งคุณทักษิณเองก็สนับสนุน แต่มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ มือไม่ถึงเหรอ

ก็ยังอ่อนประสบการณ์ ยังติดเรื่องอาวุโสอะไรต่างๆ มันไม่ง่าย แค่บริหารพรรคก็ลำบากแล้ว แต่ถ้ามีคนหนุนหลังอยู่ก็อาจจะทำได้ ก็บริหารงานในลักษณะของตัวแทน

**อยู่ได้ แต่อยู่ไม่นาน ?

ก็ลำบาก ไม่มีตัว ไม่มีตัวเกือบทุกพรรค

**คุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ถึงโผล่มา

ปุระชัยนี่คนก็เชื่อว่าเป็นคนสะอาด แต่ว่าเวลาทำงานนี่ทำได้หรือเปล่า ทำงานกับคนอื่นลำบาก คุณชัย ชิดชอบก็พูดถูกนะว่าเหมาะจะเป็นเทวดาคือเขาบริสุทธิ์ แต่การเมืองมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แล้วเขาก็เถรตรง ผมเชื่อว่าเขาเป็นคนดีนะขณะเดียวกันถ้าเขาเดินเจอเสาเขาชนเลยนะ เขาไม่หลบเสา ซึ่งทางการเมืองมันไม่ได้นะ ตอนที่เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำอะไรมาก ผลงานตอนเป็น รมว.มหาดไทยไปไล่จับสายเดี่ยวนี่มันผิดแล้ว จับสายเดี่ยวที่ไปเที่ยวผับนี่ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยไปทำ มันเป็นหน้าที่ของตำรวจ
**แล้วรัฐบาลชุดนี้ล่ะทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

รัฐบาลชุดนี้เหมือนกัน น้ำท่วมทางใต้งวดนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนะ มาถึงเรี่ยไรเงินไปช่วย อย่างนี้เอกชนก็ทำได้ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวช่อง 3 เขาทำดีด้วย อย่างตอนเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 เนี่ยทักษิณเขาบินลงไปดูเลย แต่รัฐบาลนี้แก้ปัญหาไม่เป็น แก้ปัญหาแบบเอาของไปแจก คุณต้องเริ่มถามคำถามว่าน้ำไหลบ่า ดินถล่มนี่เพราะอะไร ป่าไม้หายไปไหน นี่ไปบอกว่าเรี่ยไรเงินมาซับน้ำตา นี่ไม่ใช่ผู้นำ บริจาคเงินใครก็ทำได้ ผมก็บริจาคไปแล้ว 50,000 บาท (หัวเราะ) ปัญหาของแพงก็แก้ไม่ได้ น้ำมันพืชแพงก็ต้องดูว่าส่งใครไปแก้ เมืองไทยเหมือนผู้หญิงสาวนะมีแต่คนรุมทึ้ง

**อาจารย์มองสภาพสังคมตอนนี้ยังไง

มันมีปัญหานะเพราะตอนนี้ศรัทธาต่อกลไกการเมืองพังหมดแล้ว คนรู้สึกดูถูกนักการเมืองอย่างมหาศาลเลยตอนนี้ ไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดนะแต่ว่าเหยียดหยาม เพราะพอพวกนี้เข้าไปในสภาแล้วนี่เขาไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตาเลยนะ พวกเราคือหัวหลักหัวตอเลย เขาจะทำแบบนี้ เขาจะเอาแบบนี้ ไม่ฟังเสียงประชาชนเลย จะปั่นราคาสินค้า จะแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ นักการเมืองทำตามสบายเลย ข้าราชการเขาขมขื่นนะ ผมมีลูกศิษย์ที่เขาทำงานดี เขาก็บอกแต่งตั้งงวดนี้เขาไม่ได้ ตอนนี้ระบบมันรวนไปหมดแล้วนะ

คือความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมนี่ประกอบด้วย 2 ส่วนนะ คือส่วนของชีวภาพซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และส่วนของกลไกซึ่งเป็นเรื่องของระบบและกฎเกณฑ์ ตอนนี้ความสัมพันธ์เชิงชีวภาพมันหายไป ความสัมพันธ์เชิงกลไกก็เริ่มพัง ตอนนี้คนไม่กล้าคุยเรื่องการเมืองกับคนรู้จักนะ แม้แต่ในครอบครัวก็ไม่กล้าคุย เพราะไม่รู้ว่าข้างไหน อย่างนี่ความสัมพันธ์เชิงชีวภาพพังนะ กลไกก็พังเพราะกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไม่แน่นอน ระบบยุติธรรมก็พัง ถ้าบอกว่าทำอย่างนี้ผมไม่ผิดกฎหมายนี่ อีกคนบอกคุณแน่ใจหรือว่าไม่ผิด อาจจะผิดก็ได้นะในเมืองไทยน่ะ มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ This is China Town คืออะไรก็ตามที่เกิดในเมืองจีนพิลึกกึกกือได้หมด แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า This is Thailand เพราะมันรวนไปหมดทั้งความสัมพันธ์เชิงกลไกและชีวภาพ ตอนนี้ผู้คนไม่ไว้ใจกันแล้ว

สภาพการเมืองจึงออกมา 5 ข้อดังต่อไปนี้ ข้อที่ 1.ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่รู้ว่าไม่ดี ข้อที่ 2. ไม่รู้จะยึดหลักอะไร ไม่รู้จะยึดตัวบุคคลที่ไหน นักการเมืองก็ไม่มีใครไว้ใจได้เลย ข้อ 3.มาตรฐานความถูก-ผิดไม่มี ไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด ไม่แน่ใจ ไม่รู้ถูกหรือเปล่า อันนั้นยุบอันนี้ไม่ยุบ กรณีเดียวกันแต่ทำไมตัดสินไม่เหมือนกัน มีคลิปออกมาแทนที่คนวิ่งล็อบบี้กับเจ้าหน้าที่ในองค์กรจะโดน กลายเป็นคนที่เอาคลิปออกมาแฉกลับโดน อะไรกันวะเนี่ย (หัวเราะร่วน) คุณนี่เลวมากนะเอาเรื่องที่เขาโกงไปเปิดเผย เดี๋ยวจะเอาคุณเข้าคุก อะไรวะ ข้อ 4.สมรรถนะทางการเมืองของประชาชนไม่มี ประชาชนทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีความหมาย เหมือนมดเล็กๆ ตัวหนึ่ง ไม่มีสิทธิที่จะคิดจะทำอะไรได้เลย ข้อที่ 5.รอโอกาสเปลี่ยนแปลง รอเวลาที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ก็รู้ว่าถึงจะเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่ดี ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนแต่รอให้เปลี่ยนแปลง เพราะมันต้องเปลี่ยนแปลง อยู่อย่างนี้ไม่ได้

และจากสภาพการเมืองทั้ง 5 ข้อดังกล่าว จะนำไปสู้สภาพสังคมดังนี้ ข้อที่ 1 ผู้คนในสังคมแตกแยกกัน ประชาชนในประเทศก็รู้ว่า เรามาอาศัยเขาอยู่หรือเปล่าเนี่ย รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ใช่เจ้าของประเทศ ไม่ใช่คนนี้แล้ว ข้อที่ 2. ประชาชนรู้สึกยอมแพ้ อะไรจะเกิดก็เกิด ประเทศนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว ข้อ 3 รู้สึกเยาะเย้ยเสียดสีสังคม บอกเฮ้ย..ผมจะไปอยู่ประเทศลาวแล้วนะ คืนบัตรประชาชนไทยเลย หรือกลับไปอยู่เมืองจีนดีไหม เพราะอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้
ข้อ 4. ถอนตัวจากสังคม ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่สนใจเหตุบ้านการเมือง ใครอย่ามาพูดเรื่องการเมือง อย่า..อย่า..ผมไม่อยากรู้ ดูละครน้ำเน่าตบตีกันดีกว่า ไปตีกอล์ฟ นั่งจิบไวน์ดีกว่า อย่ามาพูดเรื่องการเมืองนะ ผมอ่านแต่ข่าวกีฬา อ่านแต่บันเทิง เพราะอ่านเรื่องการเมืองแล้วมันเครียด ยิ่งอ่านยิ่งสิ้นหวัง ซึ่งปัจจุบันคนที่มอยู่ในสภาพนี้นี่มีเยอะนะ แม้แต่ตัวผมเองทุกวันนี้ก็อ่านข่าวแบบผ่านๆ อ่านเฉพาะหัวข้อ เพราะไม่อยากเครียด ซึ่งอาการอย่างนี้มันคืออาการป่วยทางเมือง ซึ่งมันไม่ดีนะ มันจะซึมเศร้าๆ ไม่มีชีวิตชีวา มันสิ้นหวัง ไมรู้อะไรจะเกิดขึ้น

**แล้วรัฐบาลแห่งชาติมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหม

ถ้ามีก็เป็นรัฐบาลชั่วคราว และจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อตัวรัฐมนตรีที่ตั้งมาเนี่ยคนเถียงไม่ได้ ตั้งมาปุ๊บคนบอก โอ้โห..ใช่เลย สมมุติ รมว.คลัง เอาศุภชัย พานิชภักดิ์ มาเลย รมว.มหาดไทยเอาคนที่เขาซื่อสัตย์ มือสะอาด ตั้งมาแล้วก็ทำงานเต็มที่

คือปัญหามันสะสมมาก มันต้องใช้เวลา แต่ว่ามันต้องปลุกให้ประชากลับมารู้สึกมีส่วนร่วม แต่ไอ้พวกที่ไม่สิ้นหวังคือพวกไหนรู้ไหม ไอ้พวกที่อยู่ในกระบวนการการเมือง พวกนี้มีความสุข พวกเสื้อสีต่างๆ เขามีความสุขนะ แหมฟังปราศรัยแล้วมันดี แต่ไอ้คนที่ไม่ได้อยู่ฟังไหนนี่มันเซ็งมันเบื่อ บางคนฟังเรื่องการเมืองแล้วซึมเศร้า ผมเองเวลาไปสอนเรื่องการเมืองผมก็ซึมเศร้านะ อย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโน บอกแกนอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาตีสามตีสี่ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง

**อย่างนี้ดูแล้วการเมืองไทยจะไปยังไง จะแก้ไขยังไง

ผมว่านักการเมืองจำเป็นต้องตื่นตัว ปรับปรุงแก้ไขตัวเองนะ ถ้าไม่ตื่นมันก็ต้องใช้วิธีลงแส้ แต่ผมกำลังกลัวว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มันจะหนีไม่พ้นสงครามการเมือง แต่ว่าหลังจากนั้นอาจจะง่ายขึ้น เพราะดูจากหลายประเทศอย่างในสเปน ในอเมริกา เขาก็เกิดความรุนแรงก่อน จริงๆ แล้วถ้าจะทำจริงๆ มันเลี่ยงได้นะ แต่จะเลี่ยงกันไหมล่ะ แล้วถ้าเลี่ยงไม่ได้จะทำยังไง ผมกลัวที่สุดนะครั้งนี้ แล้วจะได้เกิดเฉพาะกับประชาชนเท่านั้นนะ องค์กรของหน่วยราชการต่างๆ ก็ขัดแย้งกันอยู่ เราปฏิเสธไม่ได้ แล้วถ้าเกิดมีอะไรขึ้นมาล่ะ

คือหลังการเลือกตั้งนี่ไม่ว่าพรรคไหนจะรวมกันจัดตั้งรัฐบาลก็แล้วแต่ แต่ถ้านักการเมืองไม่ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง และไม่ตระหนักถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวมนะมันไม่เกิดประโยชน์หรอก เลือกตั้งมันก็แค่กระบวนการอันหนึ่งที่มันผ่านไปเพื่อตั้งรัฐบาล แต่ถ้ามันไม่แก้ที่ตัวผู้ที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง การเมืองมันก็กลับไปสู่ที่เดิม
 
**คนก็ออกมาเดินขบวนกันเหมือนเดิม

ใช่ ประชาชนเขาถึงเบื่อว่าเลือกตั้งไปก็เท่านั้น แต่จะตั้งรัฐชาติก็มีปัญหาอีกว่าแล้วจะมายังไง อีกทั้งการตั้งรัฐบาลแห่งชาติก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะได้คนดีมาบริหารบ้านเมือง มีรัฐบาลแห่งชาติอยู่สมัยเดียวที่การันตีได้ว่าซื่อสัตย์สุจริตคือรัฐบาลสมัยท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งคนยอมรับว่าไม่มีมีการโกง สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ไม่มีปัญหาเลย แต่ตอนนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปเยอะ บ้านเมืองก็มีความซับซ้อน การหาตัวคนดีๆ ก็ลำบาก มันไม่มีกระบวนการหล่อหลอมคัดกรองนักการเมืองเหมือนประเทศจีน ที่เขาได้ประธานาธิบดีอย่างนายหู จิ่นเทา ได้นายกรัฐมนตรีอย่างนายเวิน เจียเป่า นักการเมืองไทยมาจากร้อยพ่อพันแม่ ไม่ได้ผ่านกระบวนการอะไร

แล้วที่ต้องแก้อีกอย่างคือต้องแก้ที่ประชาชนด้วย คือถ้าฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นนะการเมืองจะเปลี่ยนเลย ตัวอย่างชัดคือประเทศเกาหลีใต้ พอฐานะของประชาชนเขาดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น การเมืองเปลี่ยนหมดเลย เกาหลีใต้การเมืองเปลี่ยนเพราะเศรษฐกิจมันเปลี่ยน อย่างถ้าผมได้เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาทนะ คุณมาซื้อเสียงผม 500 บาท 1,000 บาท ซื้อไม่ได้ ถ้าผมได้เดือนละ 20,000 ผมไม่ไปขูดหาหวยหรอก

**แต่ดูแล้วเศรษฐกิจก็เปลี่ยนยาก เพราะนักการเมืองซื้อเสียง แล้วก็เข้าไปโกงกินเหมือนเดิม ไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น

ก็ใช่ ไปๆ มาๆ ไม่รู้จะแก้ยังไง คนจนก็จนต่อไป แต่จริงๆ แล้วตอนนี้ซึ่งมีการเคลื่อนตัวของรากหญ้าปรากฏว่าเศรษฐกิจดีขึ้นนะ โอเค คนรวยเนี่ยรวยขึ้น แต่คนจนก็ดีขึ้นนะ เขามีรถกระบะ มีทีวีสี มีมือถือ มีมอเตอร์ไซค์ และไม่อดอยากนะ ขายของอาจจะติดหนี้แต่ไม่ถึงกับอดอยาก เพราะถ้าอดอยากจะมานั่งประท้วงอย่างนี้ไม่ได้ มันกลายเป็นความจนแบบสัมพัทธ์ ไม่ได้จนจริงๆ ถึงภาพรวมจะจนแต่ฐานะเขาดีกว่าเดิม ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก้ประชาชนอย่างแท้จริง ต้องให้การศึกษาและสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เขาไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ใช่ปลูกอะไรก็ขาดทุน ปลุกอะไรก็ถูกกดราคา กลไกมันผิด แล้วถ้าคนมีการศึกษาสูงขึ้นมันก็ไม่ง่ายที่ใครจะมาชักจูง

คือประเทศไทยเป็นการเมืองที่ใช้ 5 ส. ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน คือ 1. สื่อ ใช้สื่อทุกชนิดเป็นเครื่องมือ 2.สี สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน 3.สัญญะ เช่น มือตบ ตีนตบ ตั้งพรรคก็ตั้งตรงกับวันปฏิวัติฝรั่งเศส 4.ไสยศาสตร์ แก้เคล็ด เล่นคุณไสย เอาเลือดมาเทบ้างอะไรบ้าง 5.เสียงแห่งคำพยากรณ์ หมอดูนั่นนี่เต็มไปหมด

**สุดท้ายอาจารย์คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้น

ผมว่ายังไงก็มีการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายจะไปไม่รอด หรืออาจจะบริหารประเทศได้ 5-6 เดือน แล้วเกิดการประท้วงวุ่นวายไปหมด รัฐบาลไปไม่ได้ แล้วก็อาจมีรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา เพราะถ้านักการเมืองเสื่อมคนก็ไม่ยอมรับ ตอนนี้การเมืองไทยก็รอโชคชะตาอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น