ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลจากการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี “เคาะกะลาเลือกตั้ง” ว่าจะเกิดขึ้นในปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม ทำให้ตลาดการเมืองเริ่มคึกคัก และเริ่มขยับนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มตัวกันมากขึ้น
โดยหากแบ่งขั้วการเมืองในเวลานี้ก็มีอยู่สองขั้วหลัก คือ “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่จะลงชิงชัย-แย่งกันเป็นรัฐบาล ซึ่งจากผลการสำรวจจากสำนักต่างๆ ที่ออกมา ปรากฏว่าสถานการณ์ของทั้งสองพรรคอยู่ในระดับที่ “สูสี” ถึงแม้ผลสำรวจในทางลับ โดยหน่วยงานทางด้านความมั่นคง มีรายงานออกมาว่า “พรรคเพื่อไทย” จะชนะการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศที่เป็นอยู่ ผลที่ออกมาไม่น่าจะ แพ้-ชนะ กันขาดมากนัก
เมื่อรูปการณ์น่าจะออกมาแบบนี้ ก็ย่อมเป็นโอกาสทองของ “พรรคการเมืองขนาดกลาง” ที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญที่จะ “สวิง” เข้าร่วมกับขั้วไหน ขั้วนั้นก็ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น จึงเห็นบรรดา “นักลงทุนทางการเมือง” มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ทั้งประเภทประมูลราคาเพื่อ “ซื้อ” และ “ขายตัว” กันโดยตรง “ควบรวมกิจการ” หรือแม้แต่จับมือกันแบบ “เฉพาะกิจ” เพื่อต่อรองร่วมรัฐบาลเท่านั้น
"ผู้แทนฯ ก็เหมือน โค กระบือ ใครให้ราคาดีกว่าก็ขายไป... วันนี้มีการใช้อำนาจรัฐมาประมูลไป ส.ส. ก็ขายตัวกันน่าดู เริ่มตั้งแต่ 30-60 ล้านบาท มีการประมูลซื้อตัวกัน" 1 ในแก๊ง 3 พี ให้ความเห็น
บรรยากาศการเมืองเวลานี้ จึงไม่ต่างจากฤดูผสมพันธุ์ของ “สัตว์การเมือง” ทั้งหลาย ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ พยายามดิ้นรน “ผสมพันธุ์กัน” ให้เป็น “พรรคขนาดกลาง” ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่สอดประสานกันอย่างแนบแน่นกับพรรคชาติไทยพัฒนา ของ “บรรหาร ศิลปอาชา” ตามมาด้วย “พรรครวมชาติพัฒนา” ของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ผสมพันธุ์กับ “พรรคเพื่อแผ่นดิน” ของแก๊ง “3 พี”
หรือแม้แต่ “พรรครักษ์สันติ” พรรคการเมืองน้องใหม่ ซิงๆ ของ “ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” ที่เพิ่งเปิดบริสุทธิ์วางจุดขายว่าขอเป็น 'ทางเลือก' สำหรับคนที่เบื่อความขัดแย้ง ไม่อยากเอาทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ก็อดรนทนไม่ไหวจนต้องเปิดตัวต่อสาธารณชน
เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ “การเลือกตั้ง” และยิ่งสถานการณ์ของสองขั้วใหญ่อยู่ในระดับที่ “สูสี-คู่คี่” ทำให้พรรคขนาดกลางมีโอกาสเป็น “ตัวแปร” ที่จะ “สวิง” ไปข้างไหน ข้างนั้นก็คุมอำนาจรัฐ “การผสมพันธุ์” เพื่อสำเร็จความใคร่ทางการเมือง จึงเกิดขึ้น !
และนั่นคือ บรรยากาศทางการเมืองเดิมๆ ที่ยังคงย่ำรอยอยู่กับที่ เมื่อแรกสถาปนาประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ดำเนินรอยตามเช่นนั้น แถมยังมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนหนักเข้าไปอีก
ที่ร้ายกว่านั้นคือ บรรยากาศเยี่ยงนั้นกำลังหลอกหลอนและบีบบังคับให้ประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งต้องกากบาทเลือกพวกเขาเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา
“เนวิน-บรรหาร” จับมือไว้
แล้วไปสู่ “ที่ชอบๆ” ด้วยกัน
เริ่มจาก นายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของพรรคภูมิใจไทย และนายบรรหาร ศิลปอาชา เจ้าของพรรคชาติไทยพัฒนา ยกโขยงทั้งแกนนำพรรค รัฐมนตรี ส.ส. สมาชิกพรรค และว่าที่ผู้สมัคร มาร่วมหารือกันอย่างคับคั่งกว่า 100 คน ที่โรงแรมสยามซิตี้ ภายใต้คำขวัญ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้สังคมการเมืองได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย ถ้าไม่สามารถมีคะแนนเสียงเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพังพรรคเดียว พวกเขาคือ “ตัวแปร” สำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตในการก้าวขึ้นไปเป็นรัฐบาล
แปลสัญญาณได้ว่า ใครอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ใครอยากเป็นรัฐบาล ต้องมาง้อพวกเขาให้เข้าร่วมด้วย เพราะพวกเขามั่นใจว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย จะไม่มีพรรคใดใน 2 ขั้วใหญ่นี้ ได้คะแนนเสียงจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
นี่คือการเคลื่อนเกมการเมืองเพื่อเพิ่มแต้มต่อ และเพิ่มราคาทางการเมืองให้กับนายบรรหารและนายเนวิน เพื่อพวกเขาจะสามารถต่อรองเก้าอี้สำคัญๆ ทางการเมืองมาไว้ในกำมือ
ยิ่งดูจากแถลงการณ์ร่วมที่สองพรรคอ่านร่วมกันแล้ว ยิ่งเห็นเจตนาที่ชัดเจน นั่นคือ ข้อ 2. พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาตกลงให้สัจจะวาจาว่านับแต่นี้ไป จะดำเนินการทางการเมืองร่วมกัน มีจุดยืนเดียวกัน และข้อ 3. หลังการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา จะตัดสินใจทางการเมืองร่วมกัน
นี่คือการประกาศเจตนารมณ์ในการเป็น “ขั้วการเมืองขั้วใหม่” ที่ทุกฝ่ายมิอาจมองข้ามได้ และสำคัญยิ่งกว่าแถลงการณ์ก็คือคำพูดของ “เนวิน” ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมว่า “กลับได้แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว”
ไม่บอกก็รู้ว่า นายเนวินมั่นใจว่า ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อย่างแน่นอน และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การจับมือครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่การเป็นพรรคร่วมธรรมดาๆ หากแต่พวกเขาอาจคิดการใหญ่ถึงขั้นเป็น “พรรคแกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาล กันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกันก็เป็นการเล่นไพ่สองหน้าและเปิดโอกาสทางการเมืองให้กับตัวเองครั้งสำคัญของนายเนวิน เพราะถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่มีคะแนนเสียงเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล นายเนวินก็สามารถ “จัดให้” ได้ ถึงแม้สายสัมพันธ์ระหว่างนายใหญ่กับหมอผีเขมรรายนี้ดูเหมือนจะไม่มีวันมาบรรจบกันได้ ด้วยข้อหา “ทรยศ” ที่ประทับอยู่บนหน้าผากของนายเนวิน แต่นอกจาก “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” แล้วยังมี “กาวใจ” ชั้นยอดยี่ห้อ “บรรหาร” โอกาสที่นายเนวินจะกลับไปคืนดีกับนายเก่า “วัวเคยขาม้าเคยขี่” ก็มีเปอร์เซ็นต์สูง
บวกกับเกมที่มังกรเตี้ยส่ง “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เดินเกมปรองดอง วาดฝันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสำรองด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การผสมพันธุ์กันของ “เพื่อไทย-ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย” สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะมันมีการปูเสื่อ ปูทาง และวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างเป็นระบบ !
หรือถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าประชาธิปัตย์เป็น “ของตาย” สำหรับนายเนวินอยู่แล้ว และที่สำคัญเกมครั้งนี้ นายบรรหารและนายเนวินน่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ “พรรคประชาธิปัตย์” มากกว่า เนื่องจากพวกเขามั่นใจว่า ภาพของนายอภิสิทธิ์น่าจะสามารถขายได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และนายอภิสิทธิ์ก็มีเงาทะมึนของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่เหตุที่จำเป็นต้องจับมือกันก็เพราะต้องการเพิ่มพลังต่อรองทางการเมืองในการขอเก้าอี้รัฐมนตรีเกรดเอเหมือนเช่นเมื่อครั้งที่ผ่านมา
ที่สำคัญ ภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ช่วยให้พวกเขาทำมาหากินได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น !!
รับประกันคุณภาพโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้มีท่าทีหนักอกหนักใจต่อการเป็นพันธมิตรของ 2 คนนี้ แถมยังพูดอย่างมั่นใจด้วยว่า “ผมคิดว่าเราได้ทำงานร่วมกันมา 2 ปี รู้จิตรู้ใจ รู้มือรู้ไม้กันพอสมควร”
เห็นอย่างนี้แล้ว จึงไม่มีคำใดจะเอ่ยได้ดั่งใจนอกจาก “วังเวงประเทศไทย” ... ?
“สุวัจน์-3 พี”
กำเนิดใหม่ “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน”
นอกจาก นายเนวิน ชิดชอบ และนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ออกมาจับมือจูบปากให้สัจจะวาจาว่าจะเดินไปบนเส้นทางการเมืองร่วมกันแล้ว นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำ "พรรครวมชาติพัฒนา" ก็ออกมาผนึกกำลังจับมือกับ "กลุ่ม 3 พี" พรรคเพื่อแผ่นดิน ประกอบด้วย กลุ่มโคราช นำโดย ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี กลุ่มวังพญานาค นำโดย นายพินิจ จารุสมบัติ พร้อมด้วย นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ แนวร่วมสำคัญ รวมไปถึง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน
ต้องบอกว่างานนี้ไม่ใช่จับมือเป็นพันธมิตรธรรมดา แต่เป็นการ “รวมพรรค” กันเลยที่เดียว! โดยสองพรรคที่มารวมกันนี้มีชื่อใหม่ว่า “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ซึ่งแน่นอนว่า การจับมือครั้งนี้ก็เพื่อสร้างราคาต่อรองทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้กลุ่ม 3 พี และกลุ่มสุวัจน์ ก็พยายามตามจีบ "เสนาะ เทียนทอง" หัวหน้าพรรคประชาราช แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะ “ป๋าเหนาะ” ดอดไปซบอกจูบปากกับ "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากความสัมพันธ์ของทั้งคู่ต้องขาดสะบั้นลงเมื่อหลายปีก่อน จนแทบไม่เผาผีกัน !
นอกจากนี้ การ “รวมพรรค” ครั้งนี้ ก็เพื่อรักษาฐานที่มั่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดสุรินทร์ โดย 2 จังหวัดนี้มีเก้าอี้ ส.ส. สูงถึง 25 ที่นั่ง ซึ่งจะต้องขับเคี่ยวกับพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดเข้มข้น ! โดยชูยุทธศาสตร์เป็นพรรคทางเลือก และลดความขัดแย้งทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของ “รวมชาติพัฒนากับเพื่อแผ่นดิน” ครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกกลุ่มการเมืองในทั้งสองพรรคไม่ได้เข้าผนึกกำลังทั้งหมด เพราะยังเหลือกลุ่มของ "ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์" รัฐมนตรีช่วยคลัง ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรครวมชาติพัฒนา ยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปจับมือกับกลุ่มไหน แต่แว่วว่าอาจจะคืนรังกลับบ้านสนามบินน้ำ ของ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" ที่ซุ่มเตรียมไปตั้งพรรคใหม่ ส่วนกลุ่ม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ตามแรงปรารถนา
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรครวมชาติพัฒนา ต่างก็ตกอยู่ในสภาพผึ้งแตกรังไม่ต่างกัน !
คงไม่ต้องบอกว่า “พรรคเพื่อแผ่นดิน” หมดสภาพความเป็นพรรคไปตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทระหว่าง “สุวิทย์ คุณกิตติ” และ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” ที่มีสาเหตุมาจากการประกาศถอนตัวออกจากรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ของสุวิทย์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น โดย ส.ส.ในกลุ่มของ พล.ต.อ.ประชา ไม่ต้องการออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
หลังจากนั้นเป็นต้นมา “พรรคเพื่อแผ่นดิน” ก็แทบเหลือแต่ซาก เนื่องจากความขัดแย้งของสารพัดกลุ่มการเมืองในพรรคไม่ว่าจะเป็น “พญานาค-โคราช-บ้านริมน้ำ-พล.ต.อ.ประชา” ก่อนที่แต่ละกลุ่มจะแยกย้ายกันไป โดย “บ้านริมน้ำ” เลือกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย “พล.ต.อ.ประชา” ย้ายไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เหลือเพียง “โคราชและพญานาค” ที่อยู่เฝ้าพรรคเอาไว้ ก่อนที่จะสลายสองกลุ่มนี้มาเป็น “กลุ่ม 3พี” ในเวลาต่อมา
สภาพพรรคแตกสาแหรกขาด ทำให้ ส.ส. ในพรรคเบื่อหน่ายและไม่มีใจจะอยู่กับพรรคต่อไป เพราะดูแล้วไม่มีอนาคต รอเพียงเวลายุบสภาเมื่อไหร่ ก็คงหันหลังให้พรรคนี้ทันที
เช่นเดียวกับ “พรรครวมชาติพัฒนา” ที่มีสภาพไม่แตกต่างกัน เพราะ ส.ส. 9 คนของพรรคที่มีอยู่ต่างรอเวลานับถอยหลังยุบสภาเช่นกัน
จากสภาพของทั้งสองพรรคที่กำลังง่อนแง่นและง่อยเปลี้ยเสียขา ขืนปล่อยไว้แบบนี้มีหวัง ส.ส. ในพรรคถูกพรรคใหญ่ดูดไปหมด นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะมีอำนาจต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคตจะมืดมนตามไปด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาแนวร่วมเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนทางการเมือง และการเลือกตั้ง โดยหลอมรวมเป็นพรรคเดียวกันในนาม “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ชู น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีพลังงาน เป็นหัวหน้าพรรค ตั้งเป้ากวาด ส.ส. 25-30 คน เพื่อเป็นตัวเลือก รอเทียบเชิญเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกพรรคการเมืองต่างก็มีเป้าหมายในการ “เข้ากุมอำนาจรัฐ” และที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างก็คือการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีพรรคการเมืองใดชนะขาดจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ดังนั้น ทุกกลุ่มการเมืองจึงมีความสำคัญต่อการชี้ขาดว่า ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ใครจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
และที่ล้ำจินตนาการไปกว่านั้น ก็คือ การผสมพันธุ์ของ “พรรคขนาดกลาง” อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อดับฝันพรรคการเมือง 2 ขั้วใหญ่ เพราะถ้ากลุ่ม “เนวิน-บรรหาร” และ “สุวัจน์-3พี” สามารถผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกันได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้น ความเป็นไปได้ที่ “นายกรัฐมนตรี” จะมาจากขั้วที่ 3 ที่เป็นขั้วของ “ตาอยู่” ก็ย่อมมีมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าอาจมีการทำสนธิสัญญาลับๆ ของพรรคระดับกลางว่า ถ้าพรรคใครได้มากกว่ากันพรรคนั้น “จัดคน”มานั่งนายกฯ !
งานนี้ เฉลิมฉลองวันปล่อยผี บ้านเลขที่ 111 เดือน พ.ค. 2555 !!!
เปิดบริสุทธิ์น้องใหม่ “ปุระชัย” รักษ์สันติ
สุดท้าย, อีกคนหนึ่งที่จะลืมไปเสียมิได้ นั่นคือ “ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” ที่วันนี้เขากลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง ด้วยการประกาศลงสมัคร ส.ส. ในนาม “พรรครักษ์สันติ” พรรคการเมืองน้องใหม่ ที่มี พล.ต.ท.ถวิล สุรเชษฐ์พงษ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 เพื่อนร่วมรุ่น นรต.25 เป็นหัวหน้าพรรค โดยวางจุดขายว่าขอเป็น “ทางเลือก” สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่เบื่อความขัดแย้ง ไม่เอาทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม การที่ ร.ต.อ.ปุระชัย ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายประกาศเข้าพรรครักษ์สันติ โดยลอยแพ “พรรคประชาสันติ” ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยพูดคุยจูบปากกันไว้ดิบดี ก็ทำเอาแกนนำผู้ก่อตั้งพรรคอย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” ถึงกับสะอึกอยู่ในอก และไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ “นายร้อยไม้บรรทัด” ผู้นี้ เพราะทำให้สังคมมองว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่เอาใคร จึงยากที่จะได้รับความไว้วางใจในการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ภาพของ ร.ต.อ.ปุระชัย ในวันนี้ยังถูกมองว่าเป็น 'นอมินี' ทางการเมือง ด้วยความสนิทสนมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยมีกระแสหนึ่งลือว่า พรรคของเขาเป็น แกนนำทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ที่ขณะนี้เดินหน้าเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว ทำให้บางคนเชื่อว่าพรรคของ ร.ต.อ.ปุระชัย เป็นเพียงพรรคอะไหล่ของทหารสายบูรพาพยัคฆ์
ขณะที่อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าพรรคของ ร.ต.อ.ปุระชัย เป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทย เพราะเขาเคยเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย และมีความสนิทสนมกับ นช.ทักษิณ และการตั้งพรรคครั้งนี้ก็เพื่อชิงคะแนนเสียงของคนเมืองที่เบื่อประชาธิปัตย์แต่ไม่เอาเพื่อไทย จึงต้องอาศัยภาพความซื่อตรง(ไหน)ของ ร.ต.อ.ปุระชัย มาเป็นจุดขายเพื่อช่วงชิงคะแนนในส่วนนี้ อีกทั้งข่าวลือยังบานปลายถึงขั้นกลายเป็นการเตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องให้ ร.ต.อ.ปุระชัย เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่ไม่สามารถหาตัวคนที่จะเป็นนายกฯได้
ส่วนเบื้องหลังเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ดูเหมือนเส้นทางทางการเมืองของ ร.ต.อ.ปุระชัย ในวันนี้จะไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากแม้ ร.ต.อ.ปุระชัย ได้รับเลือกเข้ามาในสภาก็อาจมีปัญหาการร่วมงานกับนักการเมืองคนอื่นๆ เพราะขนาดสังกัดเดิมอย่าง “เพื่อไทย” ก็ยังมีแรงต้านจากบรรดา ส.ส. ภายในพรรค ซึ่งไม่ให้การยอมรับในตัวเขา เนื่องจากที่ผ่านมานั้นเห็นได้ชัดว่า ร.ต.อ.ปุระชัยมีปัญหาในการทำงานร่วมกับคนอื่น เป็นคนที่มี “อีโก้” แรง และไม่ฟังใคร จึงไม่สามารถเข้ากับใครๆ ในพรรคได้เลย
แค่เปิดตัว น้องใหม่ ก็ไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว !
สรุปก็คือ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร การเมืองไทยก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังไม่ไปไหน เพราะตัวละครทางการเมืองก็ยังคงเป็นตัวเดิมๆ หน้าเดิมๆ และมีพฤติกรรมเดิมๆ แถมคราวนี้จะยิ่งหนักกว่าครั้งที่ผ่านมาเสียอีก
ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องสั่งสอนนักการเมืองสายพันธุ์ไดโนเสาร์เหล่านี้ ด้วยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กากบาทลงในช่อง “ไม่ประสงค์” ลงคะแนนให้ใคร ให้หลาบจำกันเสียบ้าง !
*****************************
จาก 'โนโหวต' 2 เม.ย.49 ถึง 'โหวตโน' 54 ปฏิบัติการสกัด'ยี้'เข้าสภา
นับเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งอันเชี่ยวกราก เมื่อมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่างออกเดินสายรณรงค์ 'โหวตโน' ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและต่างจังหวัด หวังสกัดนักการเมืองกังฉินที่โกงกินกันสมัยแล้วสมัยเล่าไม่ให้มีโอกาสเข้าไปในสภา ชนิดที่เรียกว่าเมื่อโกงกินกันทุกพรรค ไม่มีใครลงเลือกสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหวังเข้าไปทำงานให้แก่ประชาชน ก็ต้องโดนมาตรการ 'โหวตโน ทุกเขต ทุกพื้นที่' เมื่อไม่มีคนดีก็ไม่ต้องเลือก ทั้งนี้เพื่อสร้างมิติใหม่ให้บรรดาพรรคการเมืองรู้ว่าไม่ใช่คิดจะปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมืองนี้อย่างไรก็ได้ ไม่ใช่จะส่งโจรในเสื้อสูทลงสมัครอย่างไรคนก็ต้องยอมรับ หากนักการเมืองไม่คิดจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แสดงความจริงใจให้ประชาชนเห็นก็อาจเป็นได้แค่ 'ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง' แต่อย่างหวังจะได้คะแนนเสียงจากประชาชน
อย่างไรก็ดี แม้หลายฝ่ายเชื่อว่ากระแส 'โหวตโน' ครั้งนี้อาจจะไม่มากพอที่จะสกัดไม่ให้มีพรรคการเมืองในสภา แต่ก็อย่าปรามาสในพลังของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะพบว่าสภาแห่งนี้ก็เคยได้ประจักษ์ถึงพลังของประชาชนที่พร้อมใจกันแสดงพลัง 'โหวตโน' หรือที่บางคนเรียกว่า 'โนโหวต' ซึ่งก็คือการกากบาทในช่อง 'ไม่ประสงค์จะลงคะแนน' กันอย่างท่วมท้น จนส่งผลให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในหลายเขตเลือกตั้ง และเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่านับเป็นการแสดง 'อารยขัดขืน' ของคนไทยนับล้านที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
หลายคนคงจำได้ดีว่าการเลือกตั้ง '2 เมษาฯ 2549' นับเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้สภา เพราะผู้คนนับล้านต่างแสดงพลัง 'โนโหวต' เพื่อต่อต้านพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองใหญ่ที่ใช้เสียงข้างมากรวบอำนาจเป็นเผด็จการรัฐสภา และกำลังจะกลับมาบริหารประเทศอีกครั้งโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หลังจากที่พรรคอันดับ 2 อย่างประชาธิปัตย์ จับมือกับบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้านพากันบอยคอตไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
จากข้อมูลพบว่าผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549นั้น จำนวนผู้ที่พร้อมใจกันลงคะแนนในช่อง "ไม่ลงคะแนน" หรือ 'โนโหวต' จากทั่วประเทศ รวมสูงถึง 17,606,374 เสียง จากจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิทั่วประเทศ 44,470,665 เสียง
ทำเอาคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยจากทั่วประเทศ หายไปเกือบ 3 ล้านคะแนน จากเดิมที่การเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.พ.2548 ซึ่งไทยรักไทยได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อ 18,993.073 คะแนน การเลือกตั้ง เม.ย. 2549 ไทยรักไทยกลับได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อเพียง 16,246,368 คะแนนเท่านั้น
ขณะที่ เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีถึง 26 เขต จากทั้งหมด 36 เขต ที่คนลง 'โนโหวต' สูงลิ่วถล่มทลาย ชนิดที่จำนวน 'โนโหวต' นั้นสูงกว่าคะแนนที่ ส.ส.ไทยรักไทยได้รับอย่างมหาศาล ที่สำคัญยังมีกว่า 30 เขตที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ อันเนื่องจากผู้ลงสมัครในเขตที่มีผู้ลงสมัครคนเดียว ได้คะแนนไม่ถึง 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
และแน่นอนว่าพื้นที่มีการลง 'โนโหวต' มากที่สุดนั้นก็คือพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคใต้ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความสนใจทางการเมืองสูง ซึ่งต้องยอมรับว่าคะแนน "โนโหวต" หรือไม่ลงคะแนนที่ทะลักทลายในเขตกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 นั้นมีนัยยะสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า คนนกรุงเทพฯ 'ไม่เอาทักษิณ' นั่นเอง อีกทั้งยังปรากฎว่าคนกลุ่มใหญ่ที่ลงโนโหวตนั้นคือ 'กลุ่มพลังเงียบ'ในกรุงเทพฯ ที่ขณะนั้นพรรคไทยรักไทยมั่นใจว่าจะเทเสียงให้ไทยรักไทย เพราะรำคาญม็อบพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมยืดเยื้อ
แต่คนเหล่านี้กลับไม่ได้เทคะแนนให้ไทยรักไทยอย่างที่คาด แต่กลับเลือกที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการแสดงพลังต่อต้านนักการเมืองคอร์รัปชั่นอย่างไทยรักไทย ขณะที่กลุ่มที่ออกมารณรงค์ให้ประชาชนกาช่อง "ไม่ลงคะแนน" ในครั้งนั้นก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายนักวิชาการ อาจารย์สถาบันต่างๆ รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
นอกจากนั้น การเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ยังเกิดเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์หลายอย่าง คือนอกจากจะมีการ โนโหวต" มากเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังถือว่าเป็นการ "สาธิต" การใช้วิธีต่อต้านอย่างสันติวิธีหรือที่เรียกว่า "อารยขัดขืน" อย่างเด่นชัดที่สุด เช่นกรณีที่ 'อาจารย์ไชยยันต์ ไชยพร' แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉีกบัตรเลือกตั้งอย่างจงใจ โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 เพื่อต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมและต่อต้านระบอบทักษิณ
และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ก็นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ที่คนไทยผู้มีหัวใจรักชาติจะได้สำแดงพลังต่อต้านนักการเมืองเลว หยุด ส.ส.คอร์รัปชั่น ไม่ไห้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในสภา ไม่ให้มีโอกาสเสนอหน้าเข้าไปโกงกิน ด้วยการลงมติ 'โหวตโน' อีกครั้ง.... เพื่อการเมืองที่ดีกว่า และเพื่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของทุกคน !!