xs
xsm
sm
md
lg

ดัน”นครพนม”เป็นฐานปลูกหอมมะลิเพื่อการส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความต้องการข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดต่างประเทศมีมากขึ้น จากการร่วมนำสินค้าออกแสดงตามที่ต่างๆ
นครพนม- ดันจ.นครพนมเป็นฐานเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ รับตลาดส่งออก วางกรอบพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปรองรับตลาดส่งออก ลดการใช้สารเคมีทุกชนิด เบื้องต้นอบต.นางัว จัดโรดโชว์ที่จีนและเวียดนาม ที่ต้องการข้าวหอมมะลิสูงมาก โดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ยกย่องหอมมะลิไทยเป็น ควีนออฟไรซ์ ชี้บริษัทเอกชนติดต่อโดยตรงต้องการข้าวหอมมะลิไม่อั้น

ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ มีความต้องการบริโภคข้าวหอมมะลิคุณภาพดีในปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดใหญ่คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังขยายตัว ประชากรเกิดความต้องการบริโภคข้าวคุณภาพ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากไทย ที่ได้รับการยอมรับสูงในตลาดโลก ซึ่งนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้จังหวัดนครพนมพัฒนาเป็นฐานผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อการส่งออกอีกแห่งของประเทศ

เบื้องต้นจังหวัดนครพนมได้อนุมัติให้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่าข้าว โดยการแปรรูป สร้างเครือข่ายผ่านกลไกเกษตรกรในพื้นที่ 12 อำเภอ มีเป้าหมายให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท ในปีการผลิต 2554/2555

ศักยภาพด้านการผลิตข้าวจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ปลูกกว่า 1.3 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ปลูกข้าวหอมมะลิ 5 แสนกว่าไร่ เป็นข้าวมีคุณภาพได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ 4 ปีซ้อนคือ ปี 2540, 2541, 2542 และปี 2551 ตามลำดับ ล่าสุดเมื่อปี 2552 ยังได้รับรางวัลที่ 3 ระดับประเทศอีก ซึ่งโดยศักยภาพของวัตถุดิบข้าวหอมมะลิจากแหล่งผลิตนครพนมมีศักยภาพที่สามารถสร้างการยอมรับในตลาดโลกได้ไม่ยากนัก

ส.นวลน้อย ปทีปกานนท์ หัวหน้าสำนักงานเกษตรและสหกรณ์นครพนม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่ยังใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขณะที่แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศ ต้องการข้าวหอมมะลิที่ปลอดสารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการตลาดต่างประเทศ

จังหวัดนครพนมจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเพื่อให้เกิดความสำเร็จยั่งยืน มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดนครพนม พัฒนารูปแบบการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิให้สอดรับกับความต้องการตลาด เบื้องต้นจังหวัดนครพนมเตรียมเปลี่ยนคำขวัญของจังหวัดใหม่เป็น “นครพนมเมืองหลวงยางพารา ราชาข้าวหอมมะลิ” สร้างทางเลือกประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมามีองค์การบริหารส่วนตำบลนางัว(อบต.) อ.บ้านแพง จ.นครพนม ที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ ให้นำผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นพืชเกษตรที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดนครพนม ไปจัดแสดงในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยจัดแสดงที่ประเทศจีน และเวียดนาม

ด้านนายเกรียงไกร สุวรรณใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนางัว อ.บ้านแพง จ.นครพนม กล่าวว่า อบต.นางัวเป็น อบต.แรกในจ.นครพนมที่ได้รับคัดเลือก จากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ให้นำผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ไปจัดแสดงในงาน THE 7 CHINA ASEAN EXPO ที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 14-27 ต.ค.2553 และล่าสุดที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 16-25 ม.ค.2554 ในนามวิสาหกิจชุมชน ต.นางัว

ผลจากการไปร่วมจัดแสดงสินค้าใน 2 ประเทศดังกล่าว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางการค้า และขยายปริมาณการส่งออกผลิตผลการเกษตรของอบต.นางัว ขยายตัวสูงมาก โดยความต้องการในตลาดของผู้บริโภค 2 ประเทศนี้ ทำให้ทราบว่าในจีน-เวียดนาม นิยมสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทยสูงมาก ขณะที่ไทยก็เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจากจีนและเวียดนามเช่นกัน ผ่านช่องทางของอบต.นางัว นครพนม

“ที่ผ่านมาอบต.นางัว ได้ประสานไปยัง อบต.กว่า 700 แห่งทั่วประเทศไทยว่า อบต.นางัว เป็นจุดแสดงสินค้าของเมืองหนานหนิง ประเทศจีน และเมืองดานัง เวียดนาม หากอบต.ใดต้องการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น สามารถจัดส่งมาขายให้แก่อบต.นางัวได้ ซึ่ง อบต.หลายแห่งตอบรับทำสัญญาจัดส่งสินค้ามาให้เพื่อนำไปจัดแสดงและจำหน่ายต่อ”นายเกรียงไกร กล่าวและว่า

โอกาสและลู่ทางการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยไปต่างประเทศ มีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวจีนยกย่องข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวคุณภาพอันดับหนึ่งของโลก “QUEEN OF RICE” หรือราชินีแห่งข้าว ก่อนหน้านี้มีบริษัทจากจีนติดต่อมา 30 ราย ใน 5 บริษัทต้องการข้าวหอมมะลิรายละ 100 ตัน แจกจ่ายให้พนักงานช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อบต.นางัวยังจับคู่เจรจาการค้ากับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่อีก 36 ราย มีความต้องการข้าวหอมมะลิ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นยางพารา ขนมขบเคี้ยว มันสำปะหลังเส้นอบแห้ง เพื่อนำไปสกัดเป็นแก๊สโซฮอล์ โดยตลาดมีความต้องการสูงไม่จำกัด ถึงขั้นแสดงเจตจำนงจะมาตั้งโรงงานที่จังหวัดนครพนม หาก อบต.นางัว สามารถจัดหาวัตถุดิบรองรับในปริมาณที่เพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น