xs
xsm
sm
md
lg

โยนหิน“ชนะปาตี้ลิตส์”นั่งนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 08.30 น.วานนี้(11 เม.ย.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คณะกรรมการฯ ได้นำรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานมอบให้นายกรัฐมนตรี หลังจากปฏิบัติงานจนเสร็จภารกิจ โดยมีข้อเสนอให้มีการปรับโครงสร้างทางการเมืองใหม่ทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นได้ โดยแนะนำให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมา 1 ชุดเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง โดยนายกรัฐมนตรีจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในสัปดาห์นี้
“โครงสร้างปัจจุบันมีปัญหามาก แต่โครงสร้างใหม่นั้นอย่งแรกควรมีการแบ่งแยกอำนาจให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และ ส.ส.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังเสนอให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยตรงแทนระบบที่ใช้ในปัจจุบัน ที่ประชาชนเลือก ส.ส.และ ส.ส.มาเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการทุจริตการเลือกตั้ง เพราะส.ส.จะต้องใช้เงินมากที่จะทำให้ตัวเองได้รับเลือกตั้ง เพื่อให้ได้สิทธิเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี”นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติ กล่าวว่าระบบปัจจุบัน ที่ใช้กันอยู่ทำให้พรรคครอบงำ ส.ส.ทั้งหมด แต่ระบบใหม่ที่มีการเสนอไปนั้นให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ผ่านการเลือกตั้งในระบบส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคไหนได้รับเลือกมาในระบบบัญชีรายชื่อมากกว่าพรรคนั้นก็ได้เป็นรัฐบาล และหัวหน้าพรรค จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการจัดระบบใหม่เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องรัฐบาลมีเสียงข้างน้อยในสภา ผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะเรื่องการเสนอกฎหมาย เพราะหากกฎหมายฉบับใด ที่รัฐบาลนำสู่สภาผู้แทนราษฎร และต้องการให้ผ่านการพิจารณาเนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญ รัฐบาลก็ต้องหาเสียง ส.ส.มาสนับสนุน เหมือนระบบที่สหรัฐอเมริกากำลังใช้อยู่ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็สามารถมีส่วนร่วมโหวตสนับสนุนกฎหมายได้ทุกฉบับ โดยไม่ถูกพรรคครอบงำ และหากกฎหมายใดรัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่จำ เป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบเหมือนในอดีต แม้จะเป็นกฎหมายการเงิน เหมือนในอดีต เพราะถือว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นอิสระต่อกันอย่างชัดเจน โดย ส.ส.ร.ชุดที่จะมีการจัดตั้งขึ้นใหม่ จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและระบุเรื่องนี้ให้ชัดเจนไปเลยว่าให้ประชาชนเลือก พรรคเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองทั้งหมด
นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาพรรคการเมืองนำเงินนอกระบบมาใช้ คณะกรรมการฯ เสนอให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคผ่านระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษี เงินได้นิติบุคคล ซึ่งสามารถบริจาคได้คนละไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ โดยพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนจะได้รับเงินบริจาคในระดับร้อยล้านหรือพันล้านบาท เพื่อให้มีที่มาของเงินบริจาคให้ชัดเจน
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โดยหลักการของพรรคการเมืองการเมืองอันดับ 1 หรือพรรคได้ที่เสียงเกิน 251 เสียงจะได้จัดตั้งรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่หากพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคอันดับ 2 จึงจะมีสิทธิตั้งรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิส.ส.ในการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอให้พรรคที่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อมากสุดได้จัดตั้งรัฐบาลนั้น เหมือนกับว่าส.ส.เขตมีสิทธิน้อยกว่าส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเท่าเทียมกัน เพราะถือว่าเป็นตัวแทนจากประชาชนเหมือนกัน การที่มีข้อเสนอออกมาแบบนี้ยังมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่ ซึ่งจะอธิบายกับสังคมได้อย่างไร
ส่วนข้อเสนอที่ระบุว่า หากกฎหมายใดรัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบเหมือนในอดีต แม้จะเป็นกฎหมายการเงิน เพราะถือว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอิสระต่อกันอย่างชัดเจนนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า ระบบขณะนี้ตนเห็นว่ามีความสมดุลกันอยู่กับการต้องรับผิดชอบหากกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้วไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เพราะจะทำให้ส.ส.เข้ามามีส่วนร่วมในการไตร่ตรองกฎหมายเพื่อร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งนี้ หากกฎหมายไม่ผ่านสภาฯ แล้วไม่ต้องมีการรับผิดชอบสภาฯ ก็จะเละมากกว่านี้ เพราะอย่างน้อยส.ส.ก็จะได้มีส่วนร่วมบ้าง
นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า การที่ส.ส.เป็นรัฐมนตรีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ระบบที่แยกออกจากกัน แต่ของไทยเรายังเป็นระบบควบรวมคือส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ เพราะหากแยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันก็จะเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คนเป็นรัฐมนตรีเท้าจะไม่ติดดิน เพราะไม่ได้เป็นส.ส.ต่างคนจะต่างทำงาน ทั้งที่ส.ส.ต้องเป็นคนออกกกฎหมายให้รัฐบาล นอกจากนี้ รัฐมนตรีก็อาจจะไม่ต้องมาร่วมประชุมสภาเพื่อร่วมโหวตกฎหมาย เพราะถือว่าหน้าที่แยกออกจากกัน จะมาแต่เฉพาะตอบกระทู้หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น