xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ติงข้อเสนอให้พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์มากสุดตั้งรัฐบาล ชี้ขัดแย้งในตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม  (แฟ้มภาพ)
“ปชป.” ติง ข้อเสนอ “สมบัติ” ให้พรรคที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากสุดตั้งรัฐบาล เหตุขัดแย้งในตัวเอง รอนสิทธิ์ ส.ส.เขต ยัน แยกอำนาจฝ่ายนิติ-ฝ่ายบริหาร ไม่เหมาะ ทำ รมต.ตีนลอย ไม่ต่าง รธน.40 ชี้ สังคมไทยยังต้องการระบบควบรวม

วันนี้ (11 เม.ย.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าประชาชนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ผ่านการเลือกตั้งในระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคไหนได้รับเลือกมาในระบบบัญชีรายชื่อมากกว่า พรรคนั้นก็ได้เป็นรัฐบาล และหัวหน้าพรรคจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น โดยหลักการของพรรคการเมืองอันดับ 1 หรือพรรคได้ที่เสียงเกิน 251 เสียง จะได้จัดตั้งรัฐบาล 100% อยู่แล้ว แต่หากพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคอันดับ 2 จึงจะมีสิทธิตั้งรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการที่เสนอให้พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากสุดได้จัดตั้งรัฐบาลนั้น เหมือนกับว่า ส.ส.เขตมีสิทธิน้อยกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเท่าเทียมกัน เพราะถือว่าเป็นตัวแทนจากประชาชนเหมือนกัน การที่มีข้อเสนอออกมาแบบนี้ยังมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่ ซึ่งจะอธิบายกับสังคมได้อย่างไร

ส่วนข้อเสนอที่ระบุว่า หากกฎหมายใดรัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบเหมือนในอดีต แม้จะเป็นกฎหมายการเงิน เพราะถือว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอิสระต่อกันอย่างชัดเจนนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า ระบบขณะนี้ ตนเห็นว่า มีความสมดุลกันอยู่กับการต้องรับผิดชอบหากกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเข้าสู่การพิจารณาของสภา แล้วไม่ผ่านการพิจารณาของสภา เพราะจะทำให้ ส.ส.เข้ามามีส่วนร่วมในการไตร่ตรองกฎหมายเพื่อร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งนี้ หากกฎหมายไม่ผ่านสภา แล้วไม่ต้องมีการรับผิดชอบสภา ก็จะเละมากกว่านี้ เพราะอย่างน้อย ส.ส.ก็จะได้มีส่วนร่วมบ้าง

นพ.วรงค์ กล่าวว่า การที่ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ระบบที่แยกออกจากกัน แต่ของไทยเรายังเป็นระบบควบรวมคือส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ เพราะหากแยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันก็จะเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คนเป็นรัฐมนตรีเท้าจะไม่ติดดิน เพราะไม่ได้เป็นส.ส.ต่างคนจะต่างทำงาน ทั้งที่ ส.ส.ต้องเป็นคนออกกกฎหมายให้รัฐบาล นอกจากนี้ รัฐมนตรีก็อาจจะไม่ต้องมาร่วมประชุมสภาเพื่อร่วมโหวตกฎหมาย เพราะถือว่าหน้าที่แยกออกจากกัน จะมาแต่เฉพาะตอบกระทู้หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น

ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงถือว่ายังมีช่องว่างอยู่ และสังคมไทยยังถือว่าต้องการระบบควบรวมอยู่ ตราบใดที่การรับรู้ของประชาชนยังไม่สูงขึ้นมา และยังไม่พัฒนาไปถึงจุดๆ หนึ่ง ที่ประชาชนสามารถเสนอปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะปัจจุบันแม้ประชาชนจะมี ส.ส.เป็นผู้แทนก็ยังนำเสนอปัญหาของตัวเองได้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้ ตนคิดว่า นายกฯ คงจะนำข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าวมาเข้าที่ประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อให้ ส.ส.ได้แสดงความคิดเห็นกัน เนื่องจากเรื่องนี้มีผลกระทบที่เป็นเชิงระบบของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น