xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทิ้งน้ำเปื้อนรังสีลงทะเล ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลญี่ปุ่นต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่หลังการปล่อยน้ำเปื้อนรังสีลงทะเล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาถึงวันนี้ สถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่นเข้าขั้น “ตรีทูต” ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะยังไม่เห็นหนทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ของกัมมันตภาพรังสีได้เลยแม้แต่น้อย

แถมในแต่ละวันยังมีข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวเผยแพร่ออกมาให้ขนหัวลุกมากมายชะตาชีวิตของคนญี่ปุ่นในวันนี้จึงยังคงต้องอยู่กับความหวาดผวาต่อไปอีกไม่ใช่แค่เป็นเดือน หากแต่เป็นปีและอาจเป็นหลายปีด้วยซ้ำไปเฉกเช่นเดียวกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดที่รัสเซีย

ทั้งนี้ นอกจากปัญหาเก่าที่ยังแก้ไม่ตก โดยเฉพาะการสกัดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีซึ่งล้มเหลวมาเป็นลำดับแล้ว บริษัท โตเกียว พาวเวอร์ อิเล็กทรกหรือเทปโกยังต้องเชิญปัญหาใหม่ที่ใหญ่และรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเก่า นั่นก็คือ การตรวจพบสารไอโอดีนปนเปื้อนรังสีในน้ำทะเลสูงกว่าระดับปกติ 4,385 เท่า และการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในบ่อกัมมันตภาพรังสีของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 วัดค่าได้สูงกว่ามาตรฐานสาธารณสุขที่รัฐบาลกำหนดถึง 10,000 เท่า

โดย เทปโกตรวจพบว่า ต้นเหตุของปริมาณสารรังสีที่เพิ่มขึ้นสูงลิบลิ่วดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากรอยแยกที่บ่อซีเมนต์เก็บกักน้ำหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ภายในร่องซ่อมบำรุงของอาคารซ่อมบำรุงใกล้กับอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เป็นแนวยาว 20 เซนติเมตร ส่งผลทำให้น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีค่าประมาณ 1,000 มิลลิซีเวิร์ตภายในบ่อรั่วไหลลงทะเลโดยตรง จากนั้นจึงได้ระดมสรรพวิธีในการอุดรอยรั่ว ทั้งการนำเอาขี้เลื่อย หนังสือพิมพ์ โพลิเมอร์ และคอนกรีตผสมกัน แล้วเทลงไปทางด้านข้างของบ่อดังกล่าว ทว่าก็ไม่ได้ผล จนกระทั่งตัดสินใจเติมโซเดียมซิลิเกต หรือสารเคมีที่เรียกกันว่า “แก้วเหลว” ลงไปในรอยแตก ความสำเร็จจึงเกิดขึ้น

“พนักงานของเรายืนยันเมื่อเวลา 5.38 น. (20.38 น. GMT)ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีได้หยุดรั่วไหลแล้ว” แถลงการณ์จากเทปโกออกมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน

และที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กันก็คือ การที่เทปโกประกาศระบายน้ำที่ปนเปื้อนสารรังสีกว่า 10,000 ตันลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยอ้างว่า จำเป็นต้องเก็บพื้นที่สำรองเอาไว้ใช้สำหรับน้ำที่เปื้อนรังสีรุนแรงมากกว่าน้ำที่ปล่อยทิ้งลงทะเล โดยน้ำปนเปื้อนรังสีดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ส่วนที่เหลือมาจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และหมายเลข 6

"เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรตามมาตรการความปลอดภัย"ยูคิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาลยืนยันในการแถลงข่าว

การปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงมหาสมุทรเช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาชาวประมงในพื้นที่แถบนั้น ตลอดจนสร้างความวิตกให้แก่พวกประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นเกาหลีใต้และจีน

“อิกุฮิโระ ฮัตโตริ” ประธานสหกรณ์การประมงของญี่ปุ่นบอกว่าโทรทัศน์เอ็นเอชเคว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชาวประมงไม่สามารถให้อภัยได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม และต่อจากนี้ไป ชาวประมงจะไม่ร่วมมือหรือยอมรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์อีกต่อไปแล้ว

เช่นเดียวกับ “อิคุฮิโร่ ตัตสุยามะ รัฐบมนตรีกระทรวงการประมงของญี่ปุ่นที่เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของเทปโก้ในกรุงโตเกียวเพื่อประท้วงการตัดสินใจดังกล่าว โดยระบุว่า ชาวประมงและผู้ประกอบอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะรัฐบาลต่างชาติทั้งอินเดียวและสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป มีคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทันที หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ จีนและไต้หวันมีคำสั่งห้ามนำเข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว

ไม่นับรวมถึงความน่าสะพรึงกลัวที่ “นายโกชิ โฮโซโนะ” ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งให้คำปรึกษาด้านนิวเคลียร์แก่นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่เปิดเผยถึงแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 แท่งที่ยังสามารถปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมาและขณะนี้ยังไม่สามารถจัดการคลี่คลายได้

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าพิศวงไม่แพ้กันก็คือปริศนาการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่เทปโก 2 คนคือ นายคาสึฮิโกะ โคกุโบและนายโยชิกิ เทระชิมะที่บริเวณอาคารกังหันไอน้ำของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 ซึ่งถูกปกปิดข้อมูลเอาไว้ไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ว่า ทำไมถึงเพิ่งมีการเปิดเผยออกมาในช่วงนี้
แม้ทางเทปโกจะอ้างเหตุผลว่า เป็นเพราะต้องรอการตัดสินใจของครอบครัว แต่ก็ไม่มีใครเชื่อคำกล่าวอ้างของเทปโกแต่อย่างใด

“น.ส.นาตาเลีย มิโรโนวา” วิศวกรด้านความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนและพลังงานกล และนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ชาวรัสเซีย เชื่อว่า วิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะรุนแรงกว่าเหตุโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน ทั้งด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพ เพราะเชอร์โนบิลมีเตาปฏิกรณ์เพียง 1 เตา แต่ฟูกุชะมิเกิดปัญหากับเตาปฏิกรณ์ถึง 4 เตา

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับโศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิลนั้น เกิดขึ้นในปี 2529 ส่งผลให้พื้นที่ 199,429 ตารางกิโลเมตรในทวีปยุโรปปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 60,000 ราย
ด้าน “ดร.จอห์น ไพรซ์” อดีตสมาชิกฝ่ายนโยบายด้านความปลอดภัย ประจำหน่วยความร่วมมือพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติอังกฤษ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัญหาของน้ำที่รั่วออกมาทำให้คนงานต้องคอยเทน้ำเข้าระบบหล่อเย็น ซึ่งการรั่วไหลของน้ำก็จะเป็นเช่นนี้ไปตลอดโดยอาจใช้เวลา 50-100 ปีกว่าที่อุณหภูมิแท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะอยู่ในระดับปกติและทำการเคลื่อนย้ายซากอาคารเตาปฏิกรณ์ที่พังเสียหายได้

....ความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยไม่สามารถเข้าไปเก็บศพผู้เสียชีวิตที่คาดว่ามีประมาณ 1,000 ศพที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค.เจ้าหน้าที่ได้พบศพผู้เสียชีวิตรายหนึ่งในระยะ 5 กิโลเมตรห่างจากเขตที่รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งอพยพและศพปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าปกติจนทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายศพได้ เพราะหากมีการนำศพมาประกอบพิธีทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการเผาหรือฝังจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนทั้งในอากาศและในดิน

ที่สำคัญคือไม่มีใครรู้ว่า สารกัมมันตรังสีที่ผู้เสียชีวิตแต่ละลายนั้น เป็นสารตัวไหน ถ้าโชคดีเป็นไอโอดีน-131 ที่มีครึ่งชีวิตแค่ 8 วันก็อาจจะดีหน่อย แต่ถ้าเป็นสารที่มีครึ่งชีวิตยาว 30 ปีอย่างซีเซียม-137 หรือพลูโตเนียมที่มีครึ่งชีวิตยาวถึง 24,000 ปี ก็คงไม่ต้องนึกว่า ศพของผู้เสียชีวิตเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร

นี่ไม่นับรวมถึงฝูงปศุสัตว์ทั้งหมูและไก่ที่พื้นที่โซนอพยพรอบโรงไฟฟ้าที่ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้ “ฆ่าตัดตอน” ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่มีคนให้อาหาร และปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่อันตรายจนไม่อาจนำมาบริโภคได้

คำถามสำคัญที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือ สัตว์และพืชทั้งบนบก ใต้ดิน ในน้ำและบนอากาศเหล่านี้ถ้าหากรอดชีวิตและมีรังสีอยู่ในตัว พวกมันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ พันธุกรรมตามธรรมชาติเช่นไร และจะกลายเป็นพิบัติภัยซ้อนพิบัติภัยอันน่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่าหรือไม่

พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้คำตอบ....
เทปโกเผยภาพชั้นล่างสุดของอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ใกล้ประตูระบายน้ำ
เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะชี้ให้เห็นรอยแตกใกล้อาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2
ทสึเนฮิสะ มัตสึมาตะ ประธานเทปโก (คนที่ 2 จากซ้าย) ก้มศีรษะเพื่อเป็นการขออภัยแก่ อิคุฮิโร ฮัตโตริ หัวหน้าสหกรณ์ประมงญี่ปุ่นซึ่งเดินทางมาประท้วงการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น