เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่นสามารถยับยั้งไม่ให้น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีไหลออกสู่ทะเลได้แล้ววันนี้ (6) ขณะที่ เท็ปโก ยังกังวลเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนปริมาณมากที่สะสมอยู่ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ซึ่งอาจเกิดการระเบิดขึ้นหากสัมผัสกับออกซิเจน
วานนี้ (5) บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ได้เติมโซเดียมซิลิเกต หรือสารเคมีที่เรียกกันว่า “แก้วเหลว” ลงไปในรอยแตกบริเวณที่น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีระดับเข้มข้นรั่วออกมา และไหลลงสู่ทะเล
ตำแหน่งของรอยรั่วซึ่งมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร อยู่ใต้แนวคันคู ซึ่งตรงมายังบ่อของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 หนึ่งในเตาปฏิกรณ์ซึ่งระบบหล่อเย็นล้มเหลวจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อว้นที่ 11 มีนาคม จุดชนวนวิกฤตนิวเคลียร์ในเวลาต่อมา
“พนักงานของเรายืนยันเมื่อเวลา 05.38 น.(20.38 น.GMT) ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีได้หยุดรั่วไหลแล้ว” แถลงการณ์จากเท็ปโก ระบุวันนี้ (6)
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ดำเนินการหลากหลายรูปแบบเพื่อหยุดยั้งการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ทั้งการนำเอาขี้เลื่อย หนังสือพิมพ์ โพลิเมอร์ และคอนกรีตผสมกัน แล้วเทลงไปทางด้านข้างของบ่อดังกล่าว ทว่าก็ไม่ได้ผล
น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกจากเตาปฏิกรณ์วัดได้สูงกว่า 1,000 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง และเชื่อกันว่า นี่คือ ต้นตอของการพบกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดกว่า 4,000 เท่าในตัวอย่างน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้
ระดับกัมมันตรังสีในทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้วานนี้ (5) ญี่ปุ่นต้องประกาศมาตรการควบคุมปริมาณรังสีในอาหารทะเลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติขึ้น
แม้การหยุดรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนรังสีจะถือเป็นข่าวดีในรอบหลายวัน สำหรับปฏิบัติการยับยั้งวิกฤตที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ แต่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ เท็ปโก ยังกังวลเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนที่สะสมอยู่ในอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ซึ่งอาจเกิดระเบิดอย่างรุนแรงหากสัมผัสกับออกซิเจน
วันนี้ (6) ทางโรงไฟฟ้าจึงประกาศว่าจะเริ่มฉีดก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยที่มีอยู่มากที่สุดในอากาศ เข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวเพื่อแทนที่ออกซิเจน
“เรากำลังพิจารณาว่าจะฉีดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เนื่องจากขณะนี้เกิดก๊าซไฮโดรเจนสะสมในปริมาณมาก” เจ้าหน้าที่เท็ปโก ระบุ
สถานีโทรทัศน์ เอ็นทีวี ของญี่ปุ่นรายงานว่า ปฏิบัติการดังกล่าวอาจเริ่มขึ้นทันทีในวันนี้ (6)
เท็ปโกยังคงปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีระดับต่ำจำนวน 11,500 ตัน ลงสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหลือพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำที่ปนเปื้อนรังสีเข้มข้น ซึ่งทำให้การซ่อมแซมโรงไฟฟ้าไปอย่างลำบากอยู่ในขณะนี้
ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกสำนักความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า มีน้ำที่ถูกปล่อยออกสู่ทะเลแล้วประมาณ 10,400 ตัน
การปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีออกสู่ทะเลครั้งนี้เรียกเสียงประณามทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยวันนี้ (6) อิคุฮิโร ฮัตโตริ หัวหน้าสหกรณ์ประมงญี่ปุ่น ได้เดินทางไปประท้วงถึงสำนักงานของเท็ปโก ส่วนรัฐบาลกรุงโซล แถลงว่า วิธีดังกล่าวเป็นความกดดันสำหรับเกาหลีใต้