xs
xsm
sm
md
lg

สศก.เผยดัชนีความผาสุกปี 53 เกษตรกรไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -สศก. ชี้ ปี 53 เกษตรกรไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น จากนโยบายและการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของเกษตรกร โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกร มีค่า ร้อยละ 79.93 และค่าดัชนีด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม มีค่า ร้อยละ 68.06 98.56 58.62 91.91 และ 67.11 ตามลำดับ สูงกว่าปี 52 ทุกดัชนี

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปี 2553 เกษตรกรไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบายและการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดย สศก. ได้ดำเนินการจัดทำและวัดค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้เป็นตัวบ่งชี้วัดระดับการพัฒนาทางการเกษตร สามารถนำไปใช้เสนอแนวทางในการพัฒนาการเกษตรและความผาสุกของเกษตรกร ซึ่งดัชนีความผาสุกของเกษตรกร มีองค์ประกอบย่อย 5 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทุกองค์ประกอบจะต้องมีการดำเนินงานพัฒนาไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลและมีผลต่อความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร

จากผลการศึกษาคำนวณค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในภาพรวม ปี 2553 พบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ที่บ่งชี้ภาพรวม มีค่าร้อยละ 79.93 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ส่วนผลการศึกษาในแต่ละด้าน มีดังนี้ ดัชนีด้านเศรษฐกิจ มีค่าร้อยละ 68.06 ที่ต้องปรับปรุง คือ รายได้ของครัวเรือน การออมของครัวเรือน และสัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สินของครัวเรือน

ดัชนีด้านสุขอนามัย มีค่าร้อยละ 98.56 จัดอยู่ในระดับที่ดีมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย ส่งเสริมการให้บริการด้านความรู้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น ดัชนีด้านการศึกษา มีค่าร้อยละ 58.62 ที่ต้องปรับปรุง คือ ระดับการศึกษาของสมาชิกครัวเรือนเกษตร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ดัชนีด้านสังคม มีค่าร้อยละ 91.91 จัดอยู่ในระดับที่ดีมาก และดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม มีค่าร้อยละ 67.11 ที่ต้องปรับปรุง คือ สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินยังดำเนินการได้น้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่เสื่อมโทรมทั้งหมดของประเทศ

สำหรับแนวทางพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรมีความผาสุกมากขึ้น ควรพัฒนาดังนี้ 1) สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยพัฒนาระบบการผลิตให้สามารถใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายฐานการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรและให้เกษตรกรมีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินถูกต้องตามกฎหมาย 2) สนับสนุนการออม รณรงค์ให้ครัวเรือนเกษตรประหยัดและมีการออม สนับสนุนการให้ความรู้การจัดทำบัญชี 3) สนับสนุนให้สมาชิกครัวเรือนเกษตรมีโอกาสได้เรียนสูงกว่าภาคบังคับ ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมแก่เกษตรกรมากขึ้น ปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถ สนับสนุนการทำงานของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง และ 4) สนับสนุนการฟื้นฟูดินและปลูกป่าเพิ่ม เพื่อสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้มากขึ้น สนับสนุนการจัดการป่าชุมชน ฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างองค์ความรู้และเผยแพร่เทคโนโลยีในการฟื้นฟูบำรุงดินและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอาสาสมัคร
กำลังโหลดความคิดเห็น