xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลควัก6พันล.เยียวยาผู้ประสบภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "มาร์ค"ยอมรับน้ำท่วมใต้มีผลกระทบต่อจีดีพี แต่การส่งออกยังทำได้ ขณะที่ครม. อนุมัติงบ 6 พันล้าน เยียวยาครอบครัวละ 5 พันบาท พร้อมช่วยเหลือภาคการเกษตร ด้าน ศชอ.เตือน 3 จังหวัดยังต้องเฝ้าระวัง "นครศรีฯ-พัทลุง-สุราษฎร์" ชี้ "พุนพิน" ยังน่าเป็นห่วง เพราะเป็นจุดรับน้ำ เผย กองทัพ ให้การช่วยเหลือเต็มที่ ชี้เส้นทางคมนาคมชำรุด 80 จุด ต้องใช้เวลาปรับปรุง 4-5 วัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติเรื่องเกณฑ์การช่วยเหลือ โดยเรื่องแรก คือการช่วยเหลือเฉพาะหน้าครอบครัวละ 5 พันบาท โดยคาดว่าน่าจะใช้เงินงบประมาณประมาณ 3 พันล้านบาท ส่วนด้านการเกษตร จะใช้หลักเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งใช้เงินอีกประมาณ 3 พันล้านบาท รวมประมาณ6พันล้าน แต่เนื่องจากยังมีเงินที่เหลือจากรอบที่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้งบกลางทั้งหมด และการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์ ในเรื่องการยืดหนี้ พักหนี้ สินเชื่อที่จะช่วยเหลือ และเรื่องภาษีอากร ที่จะมีการขยายเวลาการชำระภาษีอากร การยกเว้นภาษีสำหรับคนที่จะมาบริจาคสำหรับผู้ที่รับความช่วยเหลือในเรื่องของการประกันภัย

ส่วนปัญหาน้ำท่วมจะกระทบต่อ จีดีพี ที่วางไว้หรือไม่นั้น คงต้องประเมินจากความเสียหายทางการเกษตร และการหยุดชะงักไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งมีผลกระทบบ้าง ส่วนการส่งออกที่ตั้งเป้าหมาย 12 เปอร์เซ็นต์นั้น 2 เดือนแรก ก็เป็นไปด้วยดี และยังสามารถดำเนินการได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงบ่าย (4 เม.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมอำนวยการ กำกับติดตาม การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ( คชอ. ) จะมีการประชุมในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง เพราะมีเกณฑ์การช่วยตามราชการ เรื่องบ้านมั่นคง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการนำเงินบริจาคไปสมทบกับเงินของรัฐ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปช่วยเรื่องการก่อสร้าง เรื่องการระดมกำลัง เครื่องมือ บุคลากรที่ช่วยเรื่องซ่อมแซม ที่อยู่อาศัย โดยจะมีกองทัพ กระทรวงแรงงาน อาชีวะ กรุงเทพมหานคร ไปดำเนินการ

ส่วนปัญหาเรื่องการจ่ายเงินชดเชย 5 พันบาทจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ที่ยังจ่ายไม่ครบนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า มีปัญหาในบางพื้นที่ ในเรื่องการตรวจสอบ เพราะรายชื่อที่ส่งมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พื้นที่ไหนตรวจสอบเสร็จก็สามารถเดินหน้าได้

** แจงหลักเกณ์การจ่ายเงินชดเชย

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญดังนี้

1. สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอเสนองบกลางในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้เสนอการขยายการใช้อัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการจ่ายเงิน และกรอบวงเงินการช่วยเหลือเกษตรกรตามมติ ครม.วันที่ 2 พ.ค. 53, 16 พ.ย.53, 30 พ.ย.53 และ 24 ม.ค.54 นำมาใช้กับภัยพิบัติในภาคใต้ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนกระทั่งสิ้นสุดภัย เฉพาะเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ก่อนเกิดภัยพิบัติ

2. อนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้กรอบวงเงินที่มีเหลืออยู่เมื่อวันที่ 2 พ.ย.53 และ 24 ม.ค.54 จำนวน 1,605.48 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร

3. อนุมัติงบรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อให้การช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 1,632.40 ล้านบาท

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนการอนุมัติหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือดินถล่มในภาคใต้ ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวม 10 จังหวัด ตามหลักเกณฑ์การให้ช่วยเหลือที่คณะกรรมการได้กำหนดในกรอบไม่เกิน จำนวน 579,062 ครัวเรือน รวมงบประมาณทั้งสิ้นไม่เกิน 2,895,310,000 บาท ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้น แต่จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมให้แน่ชัดก่อน และจะเป็นการจ่ายในภัยพิบัติครั้งนี้เท่านั้น และสามารถจ่ายข้ามจังหวัดได้ โดยจ่ายผ่านธนาคารออมสิน

2. เห็นชอบสำหรับหลักเกณฑ์และแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ในภาคใต้ ผู้ที่ประสบอุทกภัยในวันที่ 23 มี.ค.54 ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ถึงวันที่ 22 มิ.ย.54

สำหรับหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินนั้นแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ 1.น้ำท่วมบ้านพักอาศัย โดยฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2. บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน 3. บ้านพักอาศัยต้องได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยทั้ง 3 กรณีต้องอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศภัยพิบัติเท่านั้น

สำหรับรายละเอียดส่วนอื่น จะเป็นกฎเกณฑ์ของครัวเรือน ลักษณะของที่พักอาศัย การแสดงสิทธิ์การขอรับความช่วยเหลือ การตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และความเป็นจริงของครัวเรือน

** ธนาคารยอมงดดอกเบี้ย 3 ปี

นอกจากนี้มาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี 54 มีมาตรการด้านการเงินโดยผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารกรุงไทยจำกัด โดยมีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเหมือนปี 53 ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หากลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัย จะจำหน่ายเป็นหนี้สูญ โดยธนาคารจะรับภาระเอง กรณีที่ลูกค้าประสบภัยร้ายแรง และไม่เสียชีวิตนั้น จะงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น รวมถึง ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินอุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทตลาดลองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงไทยจำกัด มหาชน

ส่วนมาตรการภาษีได้กำหนดยกเว้นภาษีในด้านต่างๆไว้หลายกรณี เช่น ภาษีเงินได้ของบุคคลที่ประสบภัยธรรมชาติ ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เรื่องการขยายเวลา และรวมถึงการช่วยเหลือของกรมบัญชีกลางในการขยายวงเงินทดลองราชการ ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ จากจังหวัดละ50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท

พระ-เณร ขาดสบง-จีวร

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวัดและถวายเงินแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในจังหวัดชุมพร กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุงที่ถูกน้ำท่วม พบว่า ยอดวัดที่เสียหายจากน้ำท่วมจากเดิมอยู่ที่ 312 วัด เพิ่มเป็น 755 แห่ง ดังนี้ ชุมพร 11 แห่ง กระบี่ 16 แห่ง นครศรีธรรมราช 417 แห่ง พัทลุง 142 แห่ง สุราษฎร์ธานี 132 แห่ง ตรัง 31 แห่ง ยะลา 6 แห่ง

สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชเสียหายหนักสุด บางวัดน้ำท่วมมิดทั้งหวัด บางวัดน้ำพัดศาลาหายไปทั้งหลัง กระเบื้องและพื้นแตกเสียหาย บางวัดนอกจากจะเสียหายแล้ว ยังเปิดเป็นศูนย์ช่วยเหลือชาวบ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านมาอาศัยวัดเป็น 100 ชีวิต ต้องคอยดูแลชาวบ้าน ต้องเลี้ยงดู อาหาร เครื่องดื่ม ชาวบ้านทั่วไปขาดเครื่องนุ่งหุ่ม พระสงฆ์ สามเรณขาดสบง จีวร น้ำปานะ ยารักษาโรค

"ผมตั้งใจลงพื้นที่ตรวจความเสียหายทั้งหมด แต่สามารถตรวจได้แค่ 4 จังหวัดเพราะ สุราษฏร์ธานียังเข้าพื้นที่ไม่ได้ ถนนถูกตัดขาด คาดว่ายอดความเสียหายจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ เบื้องต้น ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เราให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในทาง 2 สองคือ ถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแด่พระสงฆ์ สามเณร หากพื้นที่ใหนเข้าไปไม่ถึง จะนำไปไว้ที่ศูนย์ความช่วยเหลือแล้วค่อยกระจายออกไป ส่วนการถวายเงินช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ สามเณรรูปละ 100 บาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วม หากจังหวัดไหนสถานการณ์นิ่งแล้วก็จะถวาย 20 วัน รูปละ 2,000 บาท หากจังหวัดไหนที่ท่วมอยู่ จะถวาย 30 วัน รูปละ 3,000 บาท อย่างไรก็ดี ถ้าหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายจะถวายต่อ” นายนพรัตน์ กล่าว

นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรรู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้โบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะ พระบรมธาตุไชยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ที่ขณะนี้ระดับน้ำยังเข้าท่วมสูง ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบความเสียหายโดยรวมได้ ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่พยายามลงพื้นที่เพื่อเข้าไปตรวจสอบโดยเร็วที่สุด พร้อมประเมินการบูรณะซ่อมแซมทันทีหลังจากน้ำลด เนื่องจากเกรงว่าโครงสร้างของพระธาตุ และโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์จะได้รับความเสียหาย เพราะแช่น้ำเป็นเวลานาน

น.ส. แสงจันทร์ ไตรเกษม ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะส่งเจ้าหน้าที่ของ สำนักศิลปากรที่ 14 เข้าไปสำรวจโบราณสถานในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งหมด ซึ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ พระบรมธาตุไชยา เพราะน้ำท่วมสูงมาก ส่วนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยานั้น ขณะนี้ทราบว่าเจ้าหน้าที่เริ่มทยอยขนของหนีน้ำแล้ว

สธ.เยียวยา อสม.บ้านพัง-เสียชีวิต มอบ 1 หมื่น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จนถึงวานนี้ (4 เม.ย.) มีผู้เสียชีวิต 51 ราย ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช 21 ราย สุราษฎร์ธานี 10 ราย กระบี่ 9 ราย พัทลุง 6 ราย ตรัง 2 ราย ชุมพร 2 ราย และพังงา 1 ราย และสูญหาย 1 คน ชื่อนายสิทธิพร ทองเนียม จ.กระบี่ ส่วนใหญ่จมน้ำ

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ผลการออกหน่วยแพทย์ให้บริการผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ใน 10 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 26-3 เมษายน 2554 ออกหน่วย 1,365 ครั้ง มีผู้รับบริการรวม 29,414 ราย ร้อยละ 60 เป็นไข้หวัด รองลงมาคือโรคน้ำกัดเท้า ผิวหนังผื่นคัน ดูแลสุขภาพจิตทั้งสิ้น 290 ราย พบมีความเครียด 26 ราย มีการส่งต่อผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์ รวม 17 เที่ยว จำนวน 21 ราย โดยวานนี้ส่งผู้ป่วยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 6 ราย เป็นผู้ป่วยไตวาย 1 ราย หัวใจ 3 ราย และอุบัติเหตุ 2 ราย

“สธ.ดูแลเรื่องขวัญกำลังใจของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ประสบภัย ได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งตรวจสอบอสม.ที่ได้รับผลกระทบและให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้เสียสละ โดยหากอสม.เสียชีวิตหรือบ้านพังทั้งหลังจะได้รับเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท หากเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะได้รับ 5,000 บาท และส่งเสื้อชูชีพ 400 ตัวสนับสนุนการทำงานอสม.ที่เข้าไปในจุดที่มีน้ำท่วมสูงด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่คาดว่าอาจรุนแรงขึ้นในช่วงน้ำเริ่มลด คือเรื่องสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย เพราะความเสียหายจะปรากฏชัดเจน ในวันนี้ได้เพิ่มกำลังทีมสุขภาพจิตจากส่วนกลางและพื้นที่อีก 4 ทีม จากสถาบันกัลยาราชนครินทร์ลงพื้นที่รพ.เขาพนม รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ที่ศูนย์อพยพวัดถ้ำเขาโกบ สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยาไปจ.สุราษฎร์ธานี และศูนย์จิตเวชตรังไปดูแลญาติครอบครัวผู้เสียชีวิตที่จ.ตรัง สำหรับสถานบริการสาธารณสุขในสังกัด ได้รับผลกระทบ รวม 104 แห่ง ส่วนใหญ่เปิดให้บริการได้ ยกเว้น 7 แห่งในจ.สุราษฎร์ธานียังให้บริการไม่ได้ ได้แก่ โรงพยาบาลท่าโรงช้าง น้ำยังท่วมสูง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีวิชัย อ.พุนพิน รพ.สต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี รพ.สต.พ่วงพรมคร อ.เคียนซา รพ.สต.ชลคราม อ.ดอนสัก รพ.สต.ตะเคียนทอง และรพ.สต.หัวหมากล่าง อ.กาญจนดิษฐ์ ส่วนโรงพยาบาลท่าศาลา น้ำแห้งแล้ว เปิดให้บริการได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นห้องผ่าตัดใหญ่ และห้องปฏิบัติการตรวจชันสูตร คาดว่าจะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในวันพรุ่งนี้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า จุดน้ำท่วมที่น่าห่วงขณะนี้มี 2 จุดใหญ่ คือที่ตำบลกรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนไม่อพยพจากบ้าน และอ.พุนพิน ซึ่งมีน้ำท่วมสูง ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากรพ.นครปฐม 1 ทีม เข้าไปดูแลโดยใช้เฮลิคอปเตอร์เดินทางเข้าไป และส่งหน่วยแพทย์จากรพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.สระบุรี รพ.ปทุมธานี และรพ.พระนั่งเกล้า ไปที่อ.พุนพิน 6 จุด พร้อมส่งยาชุดน้ำท่วมและยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 75,000 ชุด โดยส่งไปที่พัทลุง 15,000 ชุด นครศรีธรรมราช 50,000 ชุด ตรัง 10,000 ชุด

อาชีวะส่ง นศ.ซ่อม ร.ร.น้ำท่วมเมืองคอน 206 แห่ง

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ไปตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ ร.ร.กัลยาณีนครศรีธรรมราช และได้ตั้งศูนย์ฟิกซ์อิทเซ็นเตอร์ (Fix it Center) ขึ้น และได้จัดทำอาหารกล่องไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ สอศ.ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยสถาบันอาชีวศึกษาจะเข้าไปช่วยซ่อมแซมโรงเรียนสังกัด สพฐ.ใน จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 206 แห่งที่ได้รับความเสียหายเช่น ฝ้า เพดาน ผนังของโรงเรียน หากไม่เสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ ก็จะให้สถาบันอาชีวศึกษาใน 11 จังหวัดภาคใต้ช่วยเหลือประชาชนในการซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น