ปภ. เผยอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ สร้างความเสียหาย 3,464 หมู่บ้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 11 ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 ราย พัทลุง 1 ราย ส่วนสุราษฎร์ธานีมีผู้เสียชีวิต 3 ราย เตือนหลายพื้นที่อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ฝากติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2554 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 11 ราย ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย 1 นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิต 7 ราย คือ นายอรรถกร บุญเพชร พระพัทราภรณ์ จิระวรา พระอภิชาต คุ้มประดิษฐ์ นายธงชัย คำด้วง นายวิรัตน์ ชัยคช นางเอื้อมพร สังข์วงศ์ และเด็กชายอภิชาต รัตนสุข 2 สุราษฎร์ธานี มีผู้เสียชีวิต 3 ราย คือ นางนพ เพชรรัตน์ นายวีรศักดิ์ วิจิตร และนางสาวแจ่มนภา แซกกระโทก พัทลุง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ เด็กชายซอดีหรีน เส็นเกลี้ยง ปภ.จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือค่าจัดการศพตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยจ่ายค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต จ่ายรายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัว จ่ายเงินช่วยเหลือ อีกไม่เกิน 25,000 บาท รวมเป็น 50,000 บาท
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้มีพื้นที่ประสบภัย 8 จังหวัด 80 อำเภอ 536 ตำบล 3,464 หมู่บ้าน ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ และพังงา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 257,786 ครัวเรือน 716,110 คน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ทางน้ำไหลผ่าน และที่ลุ่มริมแม่น้ำใน 11 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา พังงา กระบี่ และภูเก็ต โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช เขตอำเภอพิปูน สิชล ลานสกา ฉวาง นบพิตำ พรหมคีรี ร่อนพิบูลย์ จ. ระนอง อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น จ. ชุมพร อำเภอเมืองชุมพร พะโต๊ะ ทุ่งตะโก สวี จ. สุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา ท่าฉาง วิภาวดี ท่าชนะ บ้านนาสาร เวียงสระ
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า จ.พัทลุง อำเภอศรีบรรพต ศรีนครินทร์กงหรา ตะโหมด จ.ตรัง อำเภอห้วยยอด นาโยง ย่านตาขาว ปะเหลียน จ. สตูล อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ควนกาหลง จ. พังงา อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง จ. สงขลา อำเภอรัตภูมิ นาทวี ต้องระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในระยะนี้ อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม จึงขอให้ติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด หากสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น น้ำในลำธารเปลี่ยนสีเป็นสีเดียวกันดินบนภูเขา สัตว์ป่าแตกตื่น มีเสียงดังอื้ออึงจากป่าต้นน้ำ เป็นต้น ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ในทันที