สุราษฎร์ธานี-ผู้ว่าสุราษฏร์ฯ สรุปค่าความเสียหายเหตุน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม น้ำป่าท่วมขังสูญหายกว่า 4 พันล้านบาท ขณะที่นากุ้งพินาศกว่า 1 พันบ่อสูญเสีย 900 ล้านบาท ขณะที่อ.พุนพินส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
วันนี้(9 เม.ย.) นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ. สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า กรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีนั้นได้รับความเสียหายทั้งหมด 19 อำเภอ 128 ตำบล 1,067 หมู่บ้าน ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 139,546 ครัวเรือน 506,228 คน ผู้เสียชีวิตจำนวน 12 ราย พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายประมาณ 377,902 ไร่ ถนน 639 สาย สะพาน/คอสะพาน 131 แห่ง ท่อระบายน้ำ 153 แห่ง โรงเรียน 153 แห่ง และโรงพยาบาล 67 แห่ง รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 4,125 ล้านบาท ในขณะที่สถานการณ์ล่าสุดเริ่มคลี่คลาย ถนนหลายสายรถเริ่มสัญจรผ่านไป - มาได้ น้ำเริ่มลดระดับลง แต่ยังคงมีท่วมขังในพื้นที่ลุ่ม โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง
ด้านนายทศพล งานไพโรจน์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม อ.พุนพิน กล่าวว่า ในเขตเทศบาลเมืองท่าข้ามระดับน้ำลดลงเริ่มกลับเข้าสู่ปกติแล้ว เหลือเพียงชุมชนฝ่ายท่า ชุมชนพุมดวง ที่น้ำยังสูง ชาวบ้านยังเข้าบ้านไม่ได้ ประมาณหลายร้อยครัวเรือน ขณะที่น้ำประปายังไม่สามารถไหลได้เนื่องจากโรงสูบน้ำแรงต่ำท่าตลิ่งชัน อ.พุนพิน ได้รับความเสียหาย และคาดว่าจะแจกจ่ายน้ำอีกครั้งกลางสัปดาห์หน้า โดยทางเทศบาล ได้จัดหาน้ำและรถบรรทุกน้ำมา แจกจ่ายน้ำบาดาลและน้ำประปาสำหรับอุปโภค - บริโภค ให้กับประชาชน
ขณะที่นายเอกพจน์ ยอกพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.สุราษฏร์ธานี นั้น นากุ้งเสียหายจากน้ำท่วมกว่า 1,000 บ่อ โดยน้ำได้พัดพากุ้งลงสู่ทะเล ประเมินความเสียหายประมาณ 900 ล้านบาท ทั้งนี้สุราษฎร์ธานีเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ โดยสัดส่วนการผลิตกุ้งอยู่ที่ประมาณ 12 %ของการผลิตทั้งประเทศ เมื่อนากุ้งที่นี่ได้รับความเสียหาย แต่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตกุ้งโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน โดยผลการผลิตกุ้งทั้งประเทศตลอดปี 2554 ตั้งเป้าการผลิตที่ตั้งไว้ประมาณ 6.7 แสน คาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 4.8-5 แสนตันอย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ปรึกษาหารือกับสมาชิกในเรื่องการขอสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นช่วงที่ให้การช่วยชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบอุทกภัยก่อน หลังจากนั้นจะมีการหารือสมาชิกเพื่อนำเสนอขอการสนับสนุนจากรัฐบาลในการฟื้นฟูนากุ้งต่อไป