xs
xsm
sm
md
lg

กก.ปฏิรูปแฉทุนนอกรุกที่ป่า ใช้นอมินีถือครองปลูกปาล์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13 ก.พ.) ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรและน้ำ ในกรรมการปฏิรูปและคณะฯ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับประชาชนถึงปัญหาไร้ที่ดินทำกิน และความเดือดร้อนจากแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมีประชาชนผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายวิชาญ เชาวลิต ข้าราชการครูเกษียณ และแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มนายทุนเข้ากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ท่าศาลา หลายพันไร่เพื่อรองรับแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งตอนนี้มีทั้งการต่อต้าน และเห็นด้วยของชาวบ้าน โดยขณะนี้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความแตกแยกจนไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ คนที่เห็นด้วยนั้นเขาได้รับข้อมูลข้างเดียว แต่สำหรับตนที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง พบว่าปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะรุนกว่าโรงไฟฟ้าถ่ายหินหลายเท่านัก
"วันนี้เกษียณอายุแล้วผมก็ไม่อยากตายผ่อนส่ง เหมือนพี่น้องแม่เมาะ เพราะตอนนี้รัฐยังไม่มีแผนการจัดการหลังการสร้างไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างชัดเจน ยิ่งตอนนี้เราเห็นความเสียหายจากโรงไฟฟ้าขนอม ที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนแล้ว เพราะโรงไฟฟ้าใช้การหล่อเย็นในทะเล ทำให้ชาวบ้านทำประมงไม่ได้ หาปลาไม่ได้ และทำให้กุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิก็ไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นหากจะมาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ชาวประมง และชาวบ้านทั่วไปจะอยู่อย่างไร โดยรัฐบอกว่าประเทศไทยต้องการพลังงาน เพราะต้องนำไฟฟ้าไปใช้สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสีน้ำเงิน แล้วอยากถามว่าคนท่าศาลา ที่กำลังจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่งรถไฟสีอะไร เราคงต้องนั่งรถไฟสายสีมะเร็งเม็ดเลือดขาว ดังนั้นผมจึงอยากให้กรรมการปฏิรูปฯ ช่วยเหลือและส่งข้อมูลให้รัฐบาลทบทวนด้วยการเอาชีวิตชาวบ้านเป็นตัวตั้งอย่าเอาการพัฒนาเป็นตัวตั้ง" นายวิชาญกล่าว
ขณะที่นางสมปอง เวียงจันทร์ กรรมการปฏิรูปและแกนนำสมัชชาคนจน กล่าวว่า ชาวบ้านแม่มูน จ.อุบลราชธานี ถูกโครงการของรัฐกระทำมากว่า 20 ปี และตอนนี้ชาวบ้านก็ยังต่อสู้อยู่ ทั้งที่ก่อนโครงการสร้างเขื่อนจะก่อสร้าง ชาวบ้านก็ลุกขึ้นมาประท้วง แต่รัฐก็ไม่เห็นหัวชาวบ้านและรัฐก็มีกระบวนการเดียวกันกับทุกโครงการการพัฒนา นั่นคือ ทำให้มวลชนแตกคอกัน
ดังนั้นอยากให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยเกาะกลุ่มกัน และสร้างการเรียนรู้อย่างอดทนเพื่อประกาศให้รัฐได้รู้ว่า ควรพัฒนาอย่างเอาวีถีชีวิตคนเป็นตัวตั้ง
ด้านนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า เราได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้ง จ.ภูเก็ต จ. สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากถูกนายทุนและรัฐกระทำจนไร้ที่ดินทำกิน และไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะพื้นที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ที่นายทุนไปเบียดเบียนเอาพื้นที่กุโบ (หลุมศพ) ของชาวประมง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสมเพชมาก และหลายคนถูกฟ้องร้องไล่ที่ ทั้งที่พวกเขาอยู่บนที่ดินบริเวณนั้นมาหลายร้อยปี ตอนนี้พวกเขาอยู่อย่างไรศักดิ์ศรี ดังนั้นกรรมการปฏิรูป จึงจะคิดหาวิธีที่จะทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่มีศักดิ์ศรีมากขึ้น
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการลงพื้นที่ อ. สันติชัยพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานีนั้น เราพบว่า ในเวลาไม่กี่ปีเราเสียพื้นที่ป่าเป็นหมื่นๆไร่ ทั้งนี้พบว่าพื้นที่ป่าสงวนกลายเป็นสวนปาล์ม และมีนายทุนที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ใช้นอมินีเข้ามาครอบครองพื้นที่ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นการฟอกเงินหรือไม่ หากเป็นทุนบริสุทธิ์เหตุใดจึงบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ต้องมีการตรวจสอบที่มาที่ไปให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ดินสปก. ที่หลักเกณฑ์การถือครองจะต้องไม่เกินครอบครัวละ 50 ไร่ แต่เหตุใดนายทุนเพียงรายเดียวกลับมีการถือครองที่ดินมากถึง 3-4 พันไร่ จึงเห็นภาพได้ชัดเจนว่าเกษตรกรตัวจริงไม่มีที่ดินทำกิน
“การปฏิรูปที่ดินจะต้องมีการตรวจสอบการถือครองสิทธิ์ของเอกชน ว่าถือครองแบบผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย ถ้ารู้ปัญหาชัดเจน รัฐก็จะแก้ไขปัญหาได้ วิธีการจะรู้อย่างนั้นต้องเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยเฉพาะนักการเมือง ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง และนายทุนใหญ่ ต้องมีการตรวจสอบที่ดินเหล่านี้ก่อนจึงจะสามารถคืนที่ดินให้กับคนจนได้ โดยผู้รัฐบาลต้องมองข้ามผลประโยชน์ของนักการเมืองและกล้าหาญที่จะทำ โดยผมมีความหวังกับคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) และนักการเมืองรุ่นใหม่ ว่าจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรค เชื่อว่าจะผ่านไปได้" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
กรรมการปฏิรูปผู้นี้ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับประสานงานจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี( สคล. )ว่า ให้กรรมการปฏิรูป ตัวแทนเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมครม. ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ โดยวันนี้ (14 ก.พ.) เวลา 13.00 น. คณะกรรมการปฏิรูป จะมีการหารือร่วมกันว่าจะมีมติส่งใครเป็นตัวแทนเข้าชี้แจงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น