xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.เลือกตั้ง”รุกหนัก หวัง “กินรวบ”ในสภาสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง ก่อนถึงเทศกาลวันสงกรานต์ เราจะได้เห็นหน้าค่าตาของ 73 สมาชิกวุฒิสภาสรรหาชุดใหม่แน่ เป็นส.ว.ชุดสองที่จะเข้ามารับไม้ต่อจาก ส.ว.สรรหาชุดแรกที่หมดวาระการทำหน้าที่ 3 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา

แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหา ส.ว.ชุดใหม่แล้วเสร็จ แต่ก่อนหน้านี้ ได้มี 67 ส.ว.ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนเข้าสมัครรับการสรรหา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหา

ส่งผลให้ขณะนี้เหลือ ส.ว.ในวุฒิสภาเพียง 83 คน แยกเป็น ส.ว.สรรหาเพียง 7 พระหน่อเท่านั้น นำโดย“ประสพสุข บุญเดช” ประวุฒิสภา และ ส.ว.จอมละเอียดอย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ”

กรณีของนายเรืองไกรนั้นน่าสนใจ เนื่องจากยังเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ด้วย โดยเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเห็นต่างกับเพื่อนอดีต ส.ว.อีก 67 คนที่ชิงลาออกไปก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าหากนายเรืองไกรได้รับการพิจารณาเข้ามาเป็น 1 ใน 73 คน ก็คงมีการยื่นตีความกันแน่

ในขณะที่ประธานวุฒิฯประสพสุข ต้องถือเป็น “ฮีโร่” ของบรรดา ส.ว.สรรหาก็ว่าได้ เพราะในความเป็นจริงตั้งใจที่จะลาออกเพื่อเข้ารับการสรรหาใหม่เช่นกัน แต่ถูกทัดทานไว้ เนื่องจากเห็นว่าหากนายประสพสุขรีบลาออกจาก ส.ว.จะทำให้เก้าอี้ประธานวุฒิสภาว่างลงทันที ซึ่งย่อมถูก “ส.ว.เลือกตั้ง” รวมหัวกันฉวยจังหวะนี้ที่กำลังสรรหา ส.ว.ชุดใหม่กันอยู่

“รวบรัดตัดตอน” ช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาสูงไปครอบครอง โดยที่ ส.ว.สรรหาชุดใหม่ไม่มีโอกาสได้ร่วมแข่งขัน หรือมีส่วนในการคัดเลือกด้วยแต่ประการใด

ว่ากันว่า ประเด็นนี้ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายประสพสุขตัดสินใจเสียสละนั่งอยู่โยงเฝ้าตำแหน่งให้เพื่อรอให้มีการสรรหา ส.ว.แล้วเสร็จ

แม้การตัดสินใจของนายประสพสุขจะทำให้สถานการณ์นิ่งลงไปบ้าง แต่ความพยายามในการเดินเกม “เลื่อยขาเก้าอี้” ยังมีอยู่เนืองๆ เพื่อให้ลงจากตำแหน่งเร็วกว่าที่กำหนด และรวบรัดจัดสรรเก้าอี้กันเองในวง ส.ว.เลือกตั้ง

ล่าสุด ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา “พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ” ส.ว.อ่างทอง ก็ขอคำมั่นกลางที่ประชุมว่า หลังจากที่ตำแหน่งประธานสภาสูงเทอมแรกเป็นโควต้าของ “สรรหา” แล้ว ดังนั้นเทอมต่อไปควรเป็นโควต้าของฝั่ง“เลือกตั้ง” บ้าง

เรียกว่าออกตัวบล๊อกเก้าอี้เอาไว้ก่อนเลย

ไม่ต่างจากที่จัดแจงส่ง “พรทิพย์ โล่ห์วีระ-จันทร์รัตนปรีดา” ส.ว.ชัยภูมิ ขึ้นเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 แทนที่ “ทัศนา บุญทอง” เจ้าของตำแหน่งเดิมที่ไขก๊อกไปเข้ารับการสรรหารอบใหม่

ไม่แปลกที่ฝั่งเลือกตั้งเริ่มเดินเกมหนักขึ้น ในขณะที่เหลือเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ดีก็จะได้ ส.ว.สรรหาชุดใหม่ ซึ่งมีการวางกำหนดการชัดเจนว่า 11 เม.ย.-ประกาศผลการสรรหา 12-14 เม.ย.-รายงานตัว 18 เม.ย.-ปฏิญานตน

และวันสำคัญ 22 เม.ย.ประชุมเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่

หากเป็นไปตามคิวก็คงเป็นอย่างที่ ส.ว.โกวิทออกตัวไว้ เพราะในความเป็นจริงเรื่องตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น ถือเป็น“สมบัติผลัดกันชม” ที่มีข้อตกลงอันเป็นที่รู้กัน เมื่อครั้งนายประสพสุขลงชิงตำแหน่งได้ให้สัญญาว่า หลังทำหน้าที่ครบ2 ปีจะให้มีการประเมินผลการทำงาน และพร้อมลุกให้ ส.ว.เลือกตั้งเข้ามานั่งประธานวุฒิฯบ้าง

แต่ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ปรากฎว่านายประสพสุขไม่ยอมลงจากตำแหน่ง โดยอ้างถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบ เกรงว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งไปด้วย ทำให้ “แคนดิเดต” ที่กดบัตรคิวรออยู่เก้อไปตามๆกัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้สายเลือกตั้งยังไม่วางใจ เพราะขนาดนายประสพสุขที่ภาพลักษณ์ซื่อๆดูไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ยัง “พลิ้ว” จนทำให้มีผู้ไม่พอใจโวยวายตีรวนเกือบเปิดประชุมไม่ได้ ท้ายที่สุดต้องมีการโหวตลับให้อยู่ในตำแหน่งกันมาแล้ว

โดยเฉพาะหาก ส.ว.สรรชุดเก่าที่มีความอาวุโสเกิดหลุดเข้ามา อาจทำให้ “เกมพลิก” ทันที เสียงของสายเลือกตั้งที่จับกลุ่มกันแบบ “แบเบอร์” อาจแตกก็เป็นได้ เพราะปัจจุบันในเวทีสภาสูงแบ่งกันเป็นหลายกลุ่ม ส.ว.บางคนยังปรากฎชื่ออยู่ใน 2-3 กลุ่มจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อาจทำให้โอกาสในการ “กินรวบ” 3 เก้าอี้บนบัลลังก์เกิดยากทันที ยิ่งเมื่อ ส.ว.สรรหาชุดใหม่เข้ามาย่อมต้องมีการต่อรองเพื่อให้แบ่งเก้นอี้รองฯคนที่ 1 ให้เช่นเดียวกับที่ ส.ว.เลือกตั้งได้รับ เมื่อครั้งเลือกประธานวุฒิฯกันครั้งแรก

งานนี้ไม่เพียงแต่ในหมู่ ส.ว.เลือกตั้งเท่านั้นที่แสดงความเป็นห่วง แต่ “ฝ่ายการเมือง” ก็ต้องลุ้นไม่แพ้กัน เนื่องจากต้องการให้ “สายเลือกตั้ง” ขึ้นครองอำนาจในสภาสูงอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะอย่างน้อย ส.ว.เลือกตั้งก็มีความผูกพันธ์ใกล้ชิดในระดับเดียวกับ ส.ส.เขต ถือเป็น “คอนเน็กชั่น” ซึ่งกันและกันได้มากกว่า ส.ว.สรรหา ที่ไม่ต้องง้อคะแนนเสียงในพื้นที่ ซึ่งเป็นฐานเสียงของ ส.ส.

ยิ่งเมื่อมีกฏหมายสำคัญๆ เวทีสภาสูงถือเป็น “กลไก” ที่สำคัญมาก หากต้องการให้มีการผลักดันเรื่องใดอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากได้คนที่คุยกันคนละภาษามานั่งกุมบังเหียน ก็อาจไม่จบง่ายๆ

สำหรับ "แคนดิเดต" ประธานวุฒิสภาที่แต่งตัวรอหนีไม่พ้น “นิคม ไวยรัชพานิช” ส.ว.ฉะเชิงเทรา ที่กินตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และประธานวิปวุฒิฯอยู่ด้วย ที่ประกาศชัดแล้วว่าลงชิงตำแหน่งแน่นอน และไม่ลาออกจากการเป็นรองประธานฯ เสียด้วย เรียกว่า “กั๊ก” ไว้ก่อนเผื่อพลาด

คะแนนเสียงที่สนับสนุนรองฯนิคม มาจากกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง ทั้งภาคกลางและอีสาน ผ่านสาย “สมชาติ พรรณพัฒน์” ส.ว.นครปฐม และ “ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์”ส.ว.ขอนแก่น และยังมีคอนเนคชั่นส่วนตัวกับ “สุชาติ ตันเจริญ” แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ จึงมีแรงหนุนจากค่ายภูมิใจไทยอีกแรงหนึ่ง

ส่วนอีกคนคาดว่าจะเป็น “ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ผู้จุดประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ที่เคยประเมินว่ามีเสียงหนุนถึงเกือบร้อยเสียง จากกลุ่มของ “ประสิทธิ โพธสุธน” ส.ว.สุพรรณบุรี และ “เกชา ศักดิ์สมบูรณ์” ส.ว.ราชบุรี ซึ่งกว้างขวางในเวทีสภาสูงไม่แพ้กัน

ว่ากันว่า 1 ใน 2 คนนี้เตรียมขึ้นนั่งเป็นรองฯคนที่ 1 หากกดดันให้ ส.ว.นิคมลาออกได้สำเร็จ ที่สำคัญ ส.ว.ดิเรกยังได้แรงหนุนห่างๆจาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” แกนนำ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อีกด้วย

ถึงแม้จะมีการวางแผนวางตัวกันเสร็จสรรพแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าเมื่อเคาะชื่อ 73 ส.ว.สรรหาเรียบร้อย จะมี “ปัจจัย” ทำให้เกมนี้ไม่ไหลลื่นอย่างที่คาดไว้แน่

อีกไม่นานคงได้รู้กันว่าปฏิบัติการ “กินรวบ” รอบนี้จะสำเร็จหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น