xs
xsm
sm
md
lg

จับตาก่อสร้างไทยเปลี่ยนโฉม รับผังเมืองกทม.ใหม่-เปิดเขตค้าเสรีอาเซี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – อนาคตวงการก่อสร้างเปลี่ยน จากผังเมืองใหม่กทม.คาดบังคับใช้ปีหน้า จับตาเพิ่มโบนัสพื้นที่ก่อสร้างในทำเลทอง แถมหนุนพัฒนาอสังหาฯตามแผนพัฒนาระบบขนส่งขนาดใหญ่ เชื่อผู้ประกอบการลุยลงทุนอาคารสูง แถมเปิดหน้าดินทำเลใหม่รอบเมือง ขณะที่เปิด AFTA เต็มรูปแบบปี 58 กดดันธุรกิจไทยเร่งปรับตัว เพิ่มศักยภาพ เทคโนโลยีก่อสร้างรับมือคู่แข่ง

นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย อาทิ การออกแบบ การก่อสร้าง และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ที่กำหนดบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เพื่อทดแทนฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุในวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 อย่างไรก็ตามหากกทม.ไม่สามารถร่างผังเมืองฉบับใหม่ได้ทันตามกำหนดก็จะเลื่อนออกไปอีกจนถึง 14 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นเลื่อนใช้ครั้งสุดท้ายตามกฎหมายกำหนด

สำหรับผังเมืองฉบับใหม่นี้ คาดการณ์ว่าจะมีรูปแบบคล้ายผังเมืองฉบับเดิม ทั้งประเภทของสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ ค่าFAR หรือ สัดส่วนที่ดินต่อพื้นที่อาคาร และ OSR สัดส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่ดิน โดยกทม.มีแนวคิดที่พิจารณาปรับเพิ่มการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตเมืองที่มีสาธารณูปโภคที่พร้อมแล้ว เช่น ทำเลที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ระบบขนส่งมวลชน โครงข่ายถนน ประปา ทำเลที่มีระบบป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ เน้นให้พัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงใกล้รถไฟฟ้า เดินทางสะดวก ประหยัดพลังงานลดโลกร้อน ตามความต้องการของผู้บริโภค

รวมไปถึงความต้องการลดบทบาทการใช้ประโยชน์ที่ดินย่านชานเมืองลง โดยไม่เปิดโอกาสให้พัฒนาในเชิงพาณิชย์กระจายออกไปนอกเมืองมากนักเพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาแบบไร้ทิศทาง และส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภคของรัฐที่พัฒนาไม่ทันและต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการลงทุน

ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือให้โบนัสแก่ผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาอาคารได้สูงขึ้น ในทำเลกลางเมืองที่มีราคาแพงเป็นการเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนตามต้นทุนที่ดิน ตามที่เอกชนได้เรียกร้องให้กทม.คำนึกถึงหลักในการลงทุน และความต้องการของประชาชนที่ต้องการอยู่ในเขตเมือง ใกล้แหล่งงาน

นอกจากนี้ การที่ผังเมืองฉบับใหม่ยึดติดกับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ที่ขยายออกไปยังทำเลนอกเมืองเพื่อรับ-ส่งคนในหลายเส้นทางจะทำให้เกิดทำเลใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า โหนด ซึ่งเป็นการเปิดหน้าดิน เกิดชุมชนขนาดใหญ่หลายจุดเป็นการเพิ่มทำเลในการพัฒนาอสังหาฯแก่ผู้ประกอบการ และเชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีกำลังเงินและความสามารถจะเร่งขยายการลงทุนก่อสร้างครั้งใหญ่ เพื่อรองรับผังเมืองฉบับใหม่ในทำเลที่เพิ่มโบนัสหรือตามโหนดต่าง

แนะก่อสร้างไทยปรับตัวรับFTA

นายทวีจิตร กล่าวต่อว่า นอกจากผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ยังเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซี่ยน หรือ FTA เต็มรูปแบบในปี 2558 ยังส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะ สถาปนิก นั้นคือ การไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้แม้จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่ก็มักจะใช้ทรัพยากรณ์บุคคลหรือบริษัทในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะงานออกแบบก่อสร้างจะจ้างสถาปนิกในประเทศของตนเองออกแบบ รวมไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีบริษัทสถาปนิกข้ามชาติเข้ามาตั้งบริษัทในไทย โดยใช้คนไทยเป็นนอมินี ทำให้เกิดการแย่งงานขึ้น รวมไปถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน โดยจะเข้ามาในรูปแบบบริษัทร่วมทุน หรือใช้วิธีจ้างคนไทยดำเนินการให้โดยที่เจ้าของอยู่ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบริษัทข้ามชาติยังมีข้อดี คือ เทคโนโลยีใหม่ๆ มาตรฐานการทำงาน ซึ่งจะทำให้ไทยเร่งปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดการใช้แรงงานลง แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสหากรรมก่อสร้าง รวมไปถึงการนำระบบการผลิตชิ้นส่วนก่อสร้างแบบสำเร็จรูป

ในส่วนของงานสถาปนิก ปัจจุบันมีการเติบโตแบบกระจุกตัวของเศรษฐกิจทำให้บางบริษัทมีงานออกแบบล้นมือ ในขณะที่บางบริษัทแทบจะไม่มีงาน นอกจากนี้ การลงทุนก่อสร้างของเอกชนยังมีการขยายตัวในบางเมืองเท่านั้น โดยพิจารณาได้จากการกระจุกตัวของสถาปนิก เช่น ภูเก็ต เป็นต้น

สำหรับงานออกแบบที่ยังมีการขยายตัวได้ดี คือ การออกแบบคอนโดมิเนียม แม้ว่าในวงการอสังหาฯจะเตือนว่าเริ่มมีการล้นของซับพลาย ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน แต่ในส่วนของงานออกแบบและงานก่อสร้างยังมีอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีงานออแบบปรับปรุงอาคารเก่า ที่มีเพิ่มมากขึ้นและกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าเจ้าของเริ่มหันมาให้ความสำคัญและหันมาใช้อาคารเก่าแทนการก่อสร้างใหม่ ส่วนงานออกแบบของราชการนั้นแม้ว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องกระจ่ายอยู่ทั่วไปทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด แต่งานส่วนใหญ่มีมูลค่างานไม่เกิน 500 ล้านบาท

ปัจจุบันไทยมีสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพประมาณ 16,000 ราย แต่มีการเคลื่อนไหวหรือทำงานออกแบบอยู่ในปัจจุบันเพียง 6,000 ราย ซึ่งสถาปนิกกลุ่มนี้ถือเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจก่อสร้างเพราะจะไปผูกพันหรือส่งงานต่อไปยังวิศวกรก่อสร้างที่มีใบประกอบวิชาชีพในปัจจุบัน 2 แสนราย ดังนั้นสถาปนิกควรปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันของต่างชาติ โดยเฉพาะมาตรฐานการออกแบบควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันการออกแบบได้พัฒนาไปถึงขั้นสามารถออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ระบบ 3 มิติ ทำให้การทำงานง่าย รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น