การเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมานั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวญี่ปุ่น จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมที่คนทั้งโลกให้ความสนใจและเอาใจช่วยแล้ว ผลกระทบของมันยังส่งแรงสั่นสะเทือนตามมาอีกไม่น้อย
เพราะการเกิดแผ่นดินไหวและสินามิในครั้งนี้ ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฟูกูชิมะ เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีขึ้น ทำให้ประชาคมโลกเกิดความหวาดหวั่นว่าเหตุการณ์การรั่วไหลในครั้งนี้ จะไปซ้ำรอยกับเหตุการณ์อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อย่างกรณีเชอร์โนบิล ในประเทศประเทศยูเครน (สหภาพโซเวียตเดิม) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนในพื้นที่มาจนถึงทุกวันนี้
และทั้งหมดนั้นทำให้คำว่า ‘สารกัมมันตรังสี’ และ ‘กัมมันตภาพรังสี’ ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลกขึ้นมาอีกครั้ง
สารกัมมันตรังสี?
แม้ว่าคำคำนี้จะขึ้นแท่นคำที่ฮิตตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็เชื่อว่ามีน้อยคน ที่จะเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว สารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสีมันคืออะไร มาจากไหน และเอาไปทำอะไรได้บ้าง เพราะมันดูเป็นเรื่องของวิทยาการที่ห่างไกลจากกระบวนการรับรู้ของคนทั่วไป
“ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายๆ กัมมันตรังสีเกิดจากในอะตอม มันมีนิวเคลียสซึ่งเป็นศูนย์กลางของอะตอม ซึ่งมันมีแรงนิวเคลียร์ยึดโยงให้มันเสถียรกันอยู่ และถ้าเกิดมันไม่เสถียรขึ้นมา นิวเคลียสก็จะสลายตัวและปล่อยพลังงานที่เป็นรังสีออกมา”
ชาญกิจ คันฉ่อง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยายามอธิบายถึงที่มาของกัมมันตภาพรังสี ในแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
“กัมมันตรังสีมีอยู่หลายแบบ มันมีเบต้า แกมมา อัลฟา ซึ่งพลังงานและประสิทธิภาพในการทะลุทะลวงที่มีนั้นมันจะแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของนิวเคลียสที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา คำถามต่อมาก็คือ แล้วรังสีพวกนี้มันกลายเป็นพลังงานได้อย่างไร คำตอบก็คือ พลังงานก็อยู่ในรังสีที่มันแผ่ออกมานั่นแหละ และรังสีพวกนี้ก็จะถ่ายทอดพลังงานให้อากาศหรือวัสดุต่างๆ ที่อยู่รอบๆ และกลายเป็นพลังงานความร้อนในที่สุด อย่างในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้น เขาจะเอาพลังงานที่ได้ไปหมุนกังหันเพื่อจะผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง”
ซึ่งแน่นอนว่า เจ้าสารกัมมันตรังสีเหล่านี้นั้น ย่อมมีผลต่อมนุษย์แน่นอน ดังนั้น ข่าวคราวการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฟูกูชิมะ จึงเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวไม่น้อย
“ถ้าจะว่าไปร่างกายของมนุษย์ก็เป็นวัสดุชนิดหนึ่งเหมือนกัน พอมีรังสีที่มีอานุภาคพลังงานสูงเข้ามาในร่างกายมันก็จะส่งผลกระทบต่างๆ กันไป อย่างแรกเลย ถ้ารับมาโดยตรง มันก็จะเกิดความร้อน มีการเผาไหม้ขึ้นมา ด้านต่อมาถ้ารังสีลงไปถึงระดับดีเอ็นเอ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การทำงานของเซลล์ก็จะผิดปกติ ทำให้มีพยาธิสภาพต่างๆ และมันก็จะส่งผลไปถึงการแตกตัวของเซลล์จนเกิดเป็นมะเร็งได้
“นอกจากนั้นนิวเคลียสที่สามารถปล่อยรังสีออกมาได้นั้น มันมีช่วงครึ่งชีวิตที่มีระยะเวลายาวนานไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ไม่กี่วินาทีจนไปถึงหมื่นๆ ปีก็มี ซึ่งระหว่างนั้น มันก็จะเปล่งรังสีออกมาเรื่อยๆ ถ้ามันอ่อน มันจะไม่ทำให้ผิวหนังไหม้หรอก แต่มันจะเข้ามาทำลายเซลล์ ทำลายดีเอ็นเอของมนุษย์แทน และทำให้เป็นหมันได้ด้วยนะ”
กัมมันตภาพรังสีในชีวิตประจำวัน
หลายคนคงยังไม่ทราบว่าในชีวิตประจำวัน มนุษย์ก็อยู่กับกัมมันตภาพรังสีตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะถ้าเอาเครื่องวัดรังสีไปวัดมันก็จะจับได้ ทว่ากัมมันตภาพรังสีเหล่านั้นมันอ่อนเกินไปที่จะทำอันตรายต่อร่างกาย หรือถ้าจะมีอันตรายมันก็น้อยมาก จนร่างกายของมนุษย์สามารถผลิตเซลล์ออกมาชดเชย หรือใช้เม็ดเลือดขาวก็กำจัดมันไปได้ นอกจากนี้ตึกรามบ้านช่องที่อาศัยอยู่ มนุษย์ก็เอาก้อนแร่ธาตุต่างๆ มาใช้เป็นวัสดุ ดังนั้นรังสีพวกนี้มันคือสิ่งอยู่รอบตัวอยู่แล้วโดยที่อาจจะไม่รู้ตัว
“การนำกัมมันตรังสีพวกนี้มาใช้ประโยชน์ นั้น เหมือนกับการใช้มีด ถ้าใช้ไม่ดีมันก็บาดมือ ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีการนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านเลยทีเดียว”
ชาญกิจ เล่าให้เราฟังต่อถึงประโยชน์ของกัมมันตภาพรังสีในชีวิตประจำวัน
“ในด้านสุขภาพนั้นจะใช้เยอะ อย่างรังสีเอ๊กซ์ มันผ่านทะลุร่างกายได้ดี แต่ทะลุของทึบแสงอย่างกระดูกได้ไม่ดีเท่า ทางการแพทย์ก็เอาคุณสมบัตินี้มาใช้ในการตรวจสอบอวัยวะภายใน คุณสมบัติต่อมา อย่างที่บอกไปแล้วว่า รังสีบางอย่างสามารถทำลายเซลล์ได้ ถ้าสามารถที่จะทำให้มันเป็นก้อนเล็กๆ และโฟกัสลงไปเฉพาะส่วนก็จะช่วยรักษามะเร็งได้เหมือนกัน โดยวิธีนี้เรียกกันว่าการทำรังสีบำบัด”
นอกจากนั้น ทางการแพทย์ยังมีสาขาวิชาที่เรียกกันว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) เกิดขึ้นมา ซึ่งว่าด้วยเรื่องของการใช้สารกัมมันตรังสีในการตรวจรักษาโรค
“ส่วนในด้านอุตสาหกรรม สามารถใช้รังสีตรวจสอบการแตกของท่อที่มีการรั่วซึม หรือปริมาตรของวัสดุที่ไม่สามารถผ่าออกมาดูได้ ใช้ตรวจสอบความหนาแน่นของสายแร่ และอีกมากมาย”
นอกจากนั้น ยังมีการนำเอารังสีบางชนิดไปใช้กับการเกษตรและอาหารอีกด้วย
“แต่ด้านที่สำคัญที่สุดนั้น ก็คือการนำเอากัมมันตภาพรังสีมาใช้ในด้านพลังงาน โดยทำให้มันกลายเป็นความร้อนเพื่อนำเอาไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าต่อไป”
กัมมันตภาพรังสีมีความเสี่ยง
จากที่ผ่านมา มนุษย์ได้ตระหนักแล้วว่า กัมมันตภาพรังสีนั้น เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา และในวันดีคืนดี ถ้าหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจจะโดนแจ็กพอตเข้าง่ายๆ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่นาย จิตรเสน จันทรสาขา ซึ่งมีอาชีพเป็นคนปั่นซาเล้งเก็บของเก่า ที่บังเอิญไปเก็บเอาแท่งประหลาด ซึ่งภายในบรรจุสารโคบอลต์-60 มาจากโกดังของบริษัท กมล สุโกศล อิเลคทริค จำกัด เพราะหวังจะนำเอาสเตนเลสไปขาย แต่นั่นก็ทำให้เขาได้รับกัมมันตภาพรังสีที่เปล่งแผ่ออกมาจากสารโคบอลต์ - 60 ไปเต็มๆ ทำให้มือทั้งสองข้างของเขาและเพื่อนซาเล้งอีกคนที่ช่วยกันแยกส่วนแท่งบรรจุสารโคบอลต์ - 60 เน่าเปื่อยอย่างไม่มีสาเหตุ และยังส่งผลให้อีกหลายชีวิตที่อยู่ใกล้กับแท่งบรรจุสารโคบอลต์ - 60 ต้องเจ็บป่วยด้วยอาการต่างๆ ไปตามๆ กัน
นั่นเป็นกรณีของผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่เป็นเหยื่อของสารกัมมันตรังสี แต่กับคนที่ต้องอยู่กับสารกัมมันตรังสีทุกวันล่ะ เขาจะรู้สึกอย่างไร
“ไม่กลัวครับ”
นั่นคือความรู้สึกของ รศ.นพ.ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์นิวเคีลยร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
“สำหรับบุคลลากรที่ทำงานทางการแพทย์ก็มีโอกาสที่ได้รับรังสี ที่เปล่งออกมาในการรักษาคนไข้ เรามีวิธีป้องกันไม่ให้รังสีที่เปล่งออกมามากเกินไป จนกระทั่งเราได้รับอันตราย คือเราจะพยายามให้ระยะเวลาที่เราจะไปอยู่ในบริเวณรังสีน้อยที่สุด และมีเครื่องกำบังร่างกายก็น่าจะปลอดภัยแล้ว”
ส่วนในมุมของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ทำการรักษาตัวด้วยวิธีการแบบรังสีบำบัดที่ต้องรับกัมมันตภาพรังสีโดยตรงเพื่อต่อสู้กับเนื้อร้ายอย่าง อัมพร ดวงศรี ซึ่งป่วยเป็น มะเร็งปากมดลูก มาตั้งแต่ปี 2552 กล่าวว่า
“เรารู้อยู่แล้วว่ามันคือการฉายกัมมันตภาพรังสีชนิดหนึ่ง ก็ไม่กลัวนะ แต่คนรอบข้างจะเป็นห่วงมากกว่า เพราะคนใช้วิธีนี้กันเยอะ คือถ้ารักษาได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร การฉายรังสีไม่มีอาการเจ็บแต่มีผลข้างเคียง คืออาเจียนมาก พอฉายรังสีครบ 25 ครั้ง คุณหมอก็จะทำการฝังแร่เพื่อให้แผลเรียบร้อย แต่ในรุ่นใหม่ใช้การเข้าแร่ โดยไม่ต้องฝัง คือการให้น้ำแร่ในช่องคลอด”
.........
เอาเข้าจริงแล้ว สารกัมมันตรังสีมันก็เหมือนทุกสิ่งในโลกที่มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ซึ่งการที่มันจะสำแดงด้านไหนออกมานั้น ก็อยู่ความรอบคอบของผู้ที่นำมันมาใช้เป็นสำคัญ ถ้าหากผู้รับผิดชอบตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท โศกนาฏกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสีที่เราได้ยินได้ฟังผ่านสื่ออยู่ทุกวันนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น
หรือถ้ามันจะเกิดก็คงไม่เลวร้ายและรุนแรงถึงขนาดนี้.
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK