xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : งานของ คชอ.หรือเป็นหน้าที่ของ มท.1

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

เมื่อวันนี้ของรัฐบาลนายกอภิสิทธ์ฯ ให้ความสำคัญการเตรียมเลือกตั้งครั้งใหม่มากกว่าความเป็นอยู่ของประชาชน จึงเป็นความโชคร้ายของคนไทยที่ไม่สามารถพึงพารัฐได้ นอกจากต้องช่วยเหลือตนเองไปก่อนในยามนี้ สมดั่งสโลแกนที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”

อุทกภัยที่เกิดขึ้นหนักใน 8 จังหวัดภาคใต้ขณะนี้ นับจากจังหวัดชุมพร เรื่อยลงไปยังสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง และสงขลา ที่ผู้คนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 80 อำเภอ ได้รับความเสียหาย ความเดือดร้อนอย่างมากมายและรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น

ก็เพราะรัฐบาลและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ไม่สนใจศึกษาหรือให้ความสำคัญน้อยในข้อมูลของศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ กรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุตุนิยมวิทยาจึงขาดการเตรียมการป้องกันภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ

ก็เพราะรัฐบาลและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ไม่ตระหนักถึงสิ่งบอกเหตุในสถานการณ์ภัยพิบัติประเทศต่างๆ รอบบ้านที่เกิดขึ้น จึงไม่มีมาตรการหรือแนวทางยับยั้งภัยพิบัติเฉพาะหน้าเมื่อต้องเผชิญเหตุ

ก็เพราะรัฐบาลถนัดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้มารับผิดชอบแก้ปัญหานั้นๆ โดยไม่พยายามใช้กลไกของรัฐที่จัดตั้งไว้แล้วและมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายเข้าปฏิบัติการ

การแก้ปัญหาอุทกภัยจึงออกไปในแนวสั่งการตามเหตุการณ์ ภาพการช่วยเหลืออุทกภัยถึงขั้นต้องใช้เรือรบของชาติ ขนถ่ายลำเลียงประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ติดค้างบนเกาะต่างๆ กลับเข้าฝั่ง ไม่รวมกับเสียงร้องเรียนในพื้นที่ประสยภัยหลายแห่งว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดูแลช่วยเหลือเลย

อุทกภัยคราวนี้ รัฐบาลแก้ปัญหาเหมือนเดิมไม่รีรอในการตั้งให้นายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการรับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาในชื่อ “คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” หรือชื่อย่อว่า “คชอ.”

โดยไม่คำนึงว่านายสาธิต มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาอุทกภัยหรือไม่

หรือเพียงเพราะเป็น ส.ส.ตรัง เป็นคนใต้และเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงมีความเหมาะสม

จึงไม่แปลกใจที่ คชอ.ทำได้เพียงประกาศแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในตอนนี้โดยให้จังหวัดที่ประสบภัยครั้งนี้ใช้เงินช่วยเหลือราษฎรในวงเงิน 50 ล้านบาท หากไม่พอให้ขอมาที่รัฐบาล รวมทั้งการให้ข่าวว่ารัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบครัวละ 5,000 บาท เบื้องต้น รัฐบาลจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรด้วยการจัดงานเพื่อขอรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้

ความคิด วิธีการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาอุทกภัยข้างต้นแสดงถึงความอ่อนด้อยและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล

รัฐบาลลืมไปว่าการแก้ไขอุทกภัยหรือภัยพิบัติของชาตินั้น แท้จริงแล้วหน่วยงานหลักสำคัญตามพ.ร.บป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 คือ “คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ” หรือ “กปภ.ช” เป็นผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ทั้งกำหนดนโยบายในการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และการบูรณาการพัฒนาระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีรมว.มท.และปลัด มท.เป็นรองประธาน แถมยังมีกรรมการที่เป็นปลัดกระทรวงจากกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผบ.ตร.แห่งชาติ ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. ผบ.ทร.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง ครม.แต่งตั้งเป็นกรรมการอีก 5 คน โดยมีอธิบดีกรม ปภ. เป็นกรรมการและเลขานุการ

นายกฯ อภิสิทธิ์ คงตกใจในอุทกภัยครั้งนี้จนลืมนึกถึง กปภ.ช ที่มีแผนการ มีแนวทาง มาตรการ และงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีแนวทางและวิธีการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและระยะยาวเมื่อเกิดภัย รวมทั้งการอพยพประชาชน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย การดูแลเกี่ยวกับการสาธารณสุข การสื่อสารและการสาธารณูปโภค และยังมีแนวทางในการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และจัดระบบการปฏิบัติการในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การฝึกบุคลากรและประชาชน การซ่อมแซม บูรณะ ฟื้นฟู และให้ความช่วยเหลือประชาชนภายหลังที่สาธารณภัยสิ้นสุด

หมายความว่าเรามีทั้งองค์กร หน่วยงาน ที่มีทั้งอำนาจและหน้าที่ในการแก้ปัญหาอุทกภัยพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่ใช้เอง

จึงไม่มีความจำเป็นในการตั้งนายสาธิต วงศ์หนองเตย หรือ “คชอ.” ขึ้นมาให้ซ้ำซ้อนกับ “กปภ.ช.” แต่อย่างใด

ที่ถูกต้อง ตัวนายกฯ อภิสิทธิ์เองต่างหากที่ควรจะโดดเข้ามาบัญชาการและขับเคลื่อน “กปภ.ช.” เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ด้วยตนเองในฐานะประธานตามกฎหมาย หรืออย่างน้อยไม่ถนัดก็ควรมอบรองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่แทน

และต้องเข้าใจด้วยว่า “กปภ.ช.” ได้กำหนดบทบาทของ มท.1 “ให้เป็นผู้บัญชาการ” มีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และให้มีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการเจ้าพนักงาน และอาสาสมัครได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมี ปลัด มท.ทำหน้าที่รองผู้บัญชาการ

เมื่อประชาธิปัตย์ให้ภูมิใจไทยกำกับมหาดไทยแล้ว ยามนี้ควรส่งให้ มท. 1 และปลัด มท.แสดงบทบาทฝีมือในการแก้ปัญหาอุทกภัยในคราวนี้

อย่างน้อย มท.1 จะได้ออกดูพื้นที่ลิ้มรสความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่จริงด้วยตาตนเอง

อย่างน้อย ปลัด มท.จะได้หยุดคิดแต่ในเรื่องหาตำแหน่งใหม่ให้อธิบดีกรมการปกครอง ให้มาดูชาวบ้านบ้าง

อย่างน้อย อธิบดีกรม ปภ.จะได้ละจากงานสอบสวนคดีทุจริตคอมพิวเตอร์ให้มาทำงานหลักในหน้าที่ตน

อย่างน้อย ที่ปรึกษาฯ จะได้ชะงักการเคาะกะลาหาประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในตอนนี้

ที่สำคัญนายกฯ อภิสิทธิ์จะพ้นจากการเป็นลูกไล่ภูมิใจไทย เพราะงานนี้ไม่ใช่ของ “คอช.” แต่เป็นหน้าที่โดยตรงของ มท.1 ที่จะรับไปเต็มๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น