xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชาธิปัตย์เคลื่อนทัพเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ตามประสาพรรคใหญ่ ขยับตัวแต่ละครั้ง ก็ต้องถูกโฟกัสมากเป็นพิเศษ ยิ่งตัวเลขกลมๆ ที่แกนนำพรรคอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศออกมาว่า ประชาธิปัตย์เชื่อว่าจะได้ที่นั่งเข้ามาเกิน 250 เสียง ก็ยิ่งน่าสนใจ ชวนติดตาม...

การเตรียมการของประชาธิปัตย์ แม้ดูว่าจะขยับไม่มาก แต่ถือว่าออกตัวก่อนพรรคอื่นไปหลายก้าว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบพรรคคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทย

แน่นอนว่า ประชาธิปัตย์มีความได้เปรียบเรื่องตัวผู้นำพรรคคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่เพื่อไทย ยังคงสาละวนอยู่กับปัญหา ไม่มีผู้นำพรรคตัวจริง ไร้การยืนยันความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะมาแข่งรัศมีกับ อภิสิทธิ์

รวมถึงการอ้างผลงานของรัฐบาลในรอบสองปีที่ผ่านมา และการประกาศขอโอกาสเข้าไปบริหารงานต่ออีกครั้งผ่านป้ายโฆษณาหาเสียง เพื่อเข้าไปผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ประกาศไว้ให้เป็นผลสำเร็จ

ป้ายหาเสียงของประชาธิปัตย์ที่ติดไว้กลางใจเมืองกรุงเทพมหานคร ภายใต้โรดแมป การหาเสียงคือ "เดินหน้าต่อไปด้วยนโยบายประชาชน" จึงเป็นป้ายหาเสียงแรกๆ ที่คนได้เห็น และได้รับรู้ถึงบรรยากาศของการเตรียมเข้าสู่การยุบสภา และมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้

ถือว่าเป็นการติดเครื่องออกตัวก่อนพรรคการเมืองอื่นๆ ของประชาธิปัตย์

ล่าสุด มีข่าวว่าสัปดาห์แรกหลังสงกรานต์ ประชาธิปัตย์ น่าจะลุยหนักแล้ว เพื่อเตรียมการให้พร้อม ทั้งการประกาศตัวผู้ลงสมัคร ส.ส.เขตทั่วประเทศ -การเคาะบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน
 

โดยมีข่าวออกมาว่า หลายพื้นที่เลือกตั้งในระบบเขต รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของปชป. ก็ยังไม่ลงตัว แกว่งไปมาตลอด เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่หลายเขตซึ่งไม่มีส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็พบว่ามีการวิ่งกันฝุ่นตลบของคนในพรรคหลายกลุ่ม ที่จะเอาคนของตัวเองลงเลือกตั้ง

บางเขตเลือกตั้งมีเจ้าของพื้นที่อยู่แล้ว ก็มีความพยายามจะเอาส.ส.เขตไปขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้เปิดพื้นที่ว่างจะได้เอาคนของตัวเองไปลงเลือกตั้งแทน จึงไม่แปลกที่ทำไมมีข่าวว่า พื้นที่กทม.ดูแล้วหลายพื้นที่เลือกตั้งยังมีปัญหาจัดกันไม่ลงตัว

ไม่ต่างกับบางจังหวัดในภาคใต้ ที่พอจะมีการเอาส.ส.อาวุโสขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ ก็มีการแย่งกันขอลงเลือกตั้งกันฝุ่นตลบ เพราะใครได้ลงส.ส.ใต้ ปชป. ก็แทบไม่ต้องหาเสียงกันเลย ทำให้หลายพื้นที่ในภาคใต้ ก็มีปัญหาเรื่องการจัดตัวคนลงเลือกตั้งไม่ลงตัวเช่นกัน

ทำให้มีข่าวว่า 8 เม.ย.นี้ มีการขีดเส้นตายไว้รอบแรกว่า จะให้แต่ละภาคต้องส่งรายชื่อผู้สมัครส.ส.โผแรกไปให้ที่ประชุมคณะอำนวยการการเลือกตั้งของพรรค ที่ สุเทพกุมบังเหียนอยู่ ให้ได้พิจารณาตรวจทานก่อน

หากสุเทพเอาด้วย ก็จะนำชื่อทั้งหมดที่อาจมีการแก้ไขได้ และเชื่อว่าน่าจะมีแน่นอนหากสุเทพดูแล้วไม่พอใจ หรือคิดว่าน่าจะมีตัวเลือกที่ดีกว่า ก็อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง

จากนั้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธานเพื่อให้กรรมการชุดนี้เห็นชอบรายชื่อ ก่อนที่สุดท้ายจะส่งชื่อทั้งหมดให้ อภิสิทธิ์จรดปากกาลงลายเซ็น เพื่อให้ผู้สมัครนำไปยื่นสมัครรับเลือกตั้งต่อ กกต.

นอกจากนี้ หลังสงกรานต์ ก็จะมีการหารือและวางแผนเลือกตั้งกันอีกหลายส่วน เช่น การกำหนดคณะทำงานเตรียมการเลือกตั้งทั้งระดับประเทศ และระดับภาครวมถึงระดับโซนจังหวัด -การตั้งคณะทำงาน ช่วยกำหนดและวางยุทธศาสตร์การหาเสียงในรูปแบบต่างๆ เพื่อไปช่วยงาน กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เช่น ทีมงานเรื่องวานแผนโฆษณาหาเสียง-ทีมงานเรื่องวางแผนด้านการใช้สื่อ -ทีมงานกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงบนเวทีปราศรัย และผ่านสื่อต่างๆ เช่น พวกโซเชี่ยลมีเดียทั้งหลายอย่างเฟซบุ๊คหรือทวิสเตอร์ เป็นต้น

รวมถึงจะมีการนัดหมายหารือกันในเรื่องสำคัญและต้องปิดลับที่สุด ที่ต้องคุยกันใน “ห้องลับ” คือ เรื่องทุนที่จะใช้ในการเลือกตั้ง จะเอาจากไหน กระเป๋าใคร ใครจ่ายเท่าไหร่ ใครควักเท่าไหร่ และจะมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนหลังเลือกตั้งอย่างไร

ของแบบนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวว่า สุเทพได้ไปคุยกับพวกแกนนำพรรคสายนายทุน และกลุ่มทุนที่หนุนหลังประชาชนธิปัตย์ ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยไว้เกือบหมดแล้ว แต่ข่าวบอกว่าการหารือยังไม่จริงจังมาก แต่หลังสงกรานต์ทุกอย่างจะชัด เพื่อจะได้คุยกันให้จบไปเลยว่าจะเอาอย่างไร

เพราะลำพังจะใช้เงินกองกลางที่พรรคได้จากการจัดงานระดมทุนพรรคที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ไปไม่ต่ำกว่า 750 ล้านบาท คงไม่พอแน่นอน หากคิดจะกุมชัยชนะในการเลือกตั้ง 375 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ และหวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ มาเป็นอันดับ 1

แน่นอนว่า หน้าที่จัดหา-จัดเตรียมเรื่องแบบนี้ อภิสิทธิ์ ที่เล่นบท “เทพลิงขาว” คงไม่มายุ่ง และคงปล่อยให้ “มารลิงดำ-สุเทพ” รับหน้าเสื่อไป

ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ ขอบอกว่า หากการระดมทุนช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง ทำไปโดยชอบ ไม่มีอะไรหวือหวา ก็คงไม่เป็นไร แต่หากมีอะไรไม่ชอบธรรม มีการต่อรอง หรือตกปากรับคำอะไรกันไว้ระหว่างคนการเมือง กับพวกนายทุนทั้งหลาย เรื่องทำนองนี้ขอเตือนไว้เลยว่า หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง ที่คุยกันไว้สองต่อสองในห้องลับๆ อาจหลุดรอดออกมาให้ได้ยินได้รู้กันในแวดวงการเมืองแน่นอน

นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ ก็มีการเร่งรณรงค์หาเสียงกันไปแล้วรอบใหญ่ โดยเฉพาะที่น่าสนใจคือ การที่สุเทพ สั่งกำชับสาขาพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศระหว่างการจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 เพื่อรับรองงบการเงิน และการดำเนินกิจการของพรรคในปี 2553 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้สั่งการให้สาขาของพรรคดำเนินการเร่งเพิ่มสมาชิกพรรค และสาขาพรรคในปีนี้ให้ได้ 4 แสนคน ซึ่งมันก็คือการเร่งหาคะแนนเสียงในรูปแบบระบบพรรคดีๆ นี่เอง

สำคัญก็แต่ว่า การหาคนมาเป็นสมาชิกพรรค 4 แสนคนในเวลาอันสั้นๆ ก่อนการเลือกตั้ง จะทำอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายพรรคการเมือง เรื่องแบบนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ควรต้องสอดส่องดูแลด้วย ไม่ใช่วันๆ คิดแต่จะขู่ลาออก-ไขก๊อก กันท่าเดียว !

นอกไปจากเรื่องการกำชับให้สาขาพรรค เร่งหาสมาชิกพรรคเพื่อสร้างฐานเสียงเป็นการเร่งด่วนก่อนเลือกตั้งแล้ว ยังพบว่า ก่อนจะถึงช่วงหลังสงกรานต์ที่บอกไว้ว่า พรรคจะมีการวางแผนเลือกตั้งครั้งใหญ่ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

ก็พบว่าเวลานี้ ก็มีหลายแผนได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว เช่น การจะให้ส.ส.รุ่นใหญ่ ที่มีฐานเสียงแน่นในพื้นที่ และมีอาวุโสพอประเภทเป็นส.ส.เขต มากกว่า 3 สมัย ซึ่งพรรควางตัวไว้แล้วว่าจะให้ไปลงส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ได้เข้ามาช่วยการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว ด้วยการมอบหน้าที่ให้ลงไปคุมพื้นที่ภาพรวมแบบรายจังหวัดแบ่งโซนเรียงตามภาคแบ่งหน้าที่ตามความรับผิดชอบภายใต้สูตรคือ ให้หนึ่งคน ดูแลพื้นที่เลือกตั้ง 2 จังหวัด

แต่ที่เน้นมากเป็นพิเศษและแบ่งงานกันออกมาก่อนเลย จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งงานดูแลพื้นที่เลือกตั้งในภาคที่ประชาธิปัตย์ เจาะได้ลำบาก และเป็นปัญหาของพรรคมาโดยตลอด ซึ่งก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นฐานใหญ่ของ ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย

ในพื้นที่อีสานและเหนือประชาธิปัตย์เป็นรองอยู่หลายขุม ซึ่งเป็นตัวเลือกอันดับรองๆ ลงมาไม่ใช่เบอร์สองอีกต่างหาก เพราะฐานเสียง และความนิยมยังสู้พวกพรรคขนาดกลาง-เล็ก อย่างภูมิใจไทย เพื่อแผ่นดิน รวมชาติพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่รอบนี้ ประชาธิปัตย์ จะเน้นหนักหน่อยเพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ

เช่นภาคอีสานก็ให้รุ่นใหญ่อย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่พรรคจะขอให้ขึ้นจากภาคใต้มาช่วย วิฑูรย์ นามบุตร รองหัวน้าพรรคมือขวา สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำพื้นที่ภาคอีสาน
ขณะที่สุทัศน์ เงินหมื่น ที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งในภาคอีสานให้ประชาธิปัตย์ แต่ตอนนี้เป็นรองวิฑูรย์ นามบุตร ไปแล้ว รอบนี้ก็จะให้ดูแลพื้นที่ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และ อุดรธานี ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีแดงทั้งสิ้น

ส่วนพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย ส.ส. สัดส่วน จะรับผิดชอบพื้นที่ตัวเองเป็นหลักคือ ชัยภูมิ และให้ พ.อ.วินัย สมพงษ์ มาทำงานเดิมคือ ดูแลนครราชสีมาให้กับพรรคเหมือนเลือกตั้งปี 50 แต่รอบนี้คงหนักหน่อยเพราะสู้กับทั้ง เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-เพื่อแผ่นดิน และกลุ่มสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แต่ประชาธิปัตย์คงไม่หวังส.ส.เขตโคราชอยู่แล้ว ที่หวังจะได้ก็เป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ มากกว่า

ขณะที่ภาคเหนือ พบว่าเบื้องต้นเคาะกันไว้คือ จะให้คนคุมทีมตัวหลักคือ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์-ไพฑูรย์ แก้วทอง และ นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ ช่วยดูแลภาพรวมของภาคเหนือ

ขณะที่ตัวเสริมคือ พล.อ.วิชาญเมธ ม่วงมณี อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 จะดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบนคือ เชียงใหม่ และเชียงราย ส่วนหลานบุญชู ตรีทอง อดีตนักการเมืองใหญ่ลำปาง คือ สุรสิทธิ์ ตรีทอง จะดูแลพื้นที่แม่อ่องสอน ลำปาง และลำพูน

ทั้งหมดคือความเป็นไปของประชาธิปัตย์สำหรับการเตรียมเลือกตั้ง ที่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายนจะยิ่งคึกคักมากขึ้นแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น