xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มชาติอาหรับ : “เดินหน้าสู่การปฏิวัติ!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

เป็นกรณีที่แทบไม่น่าเชื่อว่า “เหตุการณ์ลุกฮือ” ของประชาชนหลายประเทศในกลุ่มอาหรับตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ที่วันดีคืนดีต่างทยอยออกมาประท้วงขับไล่ผู้นำที่ต่างยึดครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

เพียงช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น ที่เริ่มต้นและขยายผลบานปลาย จนประเทศสำคัญอย่างตูนิเซีย และอียิปต์ ผู้นำของทั้งสองประเทศต้องลงจากตำแหน่งภายในไม่เกิน 3 สัปดาห์

ประเทศตูนิเซีย ที่ประธานาธิบดี เบน อาลี ยึดครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 23 ปี ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ ด้วยวัย 82 ปี ยึดครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี ถูกประชาชนที่ยากจน แต่การศึกษาดีขับไล่ให้ออกจากตำแหน่ง ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า จะไปได้อย่างรวดเร็วปานนั้น

สถานการณ์ได้ก่อให้เกิดลุกลามเสมือน “ไฟลามทุ่ง” ที่มีทั้งประเทศบาห์เรน จอร์แดน แอลจีเรีย ซีเรีย อิหร่าน โมร็อคโค อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และล่าสุดคือ ประเทศลิเบีย ที่ทำเอา พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ยึดครองอยู่ในตำแหน่งผู้นำลิเบียมาอย่างยาวนานถึง 42 ปี ซึ่งกำลังสู้รบกับฝูงประชาชนที่ประท้วงขับไล่ จนเลยเถิดไปถึง “สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” เปิดฉากถล่ม

กัดดาฟี ถูกอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา ขนานนามว่า “มหาจิ้งจอกแห่งตะวันออกกลาง” เนื่องด้วย “ความเข้มข้นและเขี้ยวยาว” ของกัดดาฟีเป็นบุคคลหวงและปกครองลิเบียแบบ “ประชาชนอยู่ในอุ้งมือ” เลยทีเดียว ซึ่งต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับ “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายกับประชาชนของเขาได้ และแล้วในที่สุดเกิด “การลุกฮือ” ของประชาชนและกับกลุ่มประเทศเหล่านี้

เท่าที่ติดตามสถานการณ์ในกลุ่มประเทศอาหรับตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่ไม่มีแนวโน้มเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ จนประชาชนต่างลุกฮือประท้วงผู้นำของเขา ชนิดไล่ออกนอกประเทศ จนเกิดเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายนับหลายพันคนทีเดียว โดยเฉพาะที่ลิเบีย ที่ประชาชนถูกปลิดชีพไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 กว่าคน

“ความเคียดแค้น” ของประชาชนเกิดจากสถานะความยากจนข้นแค้น มีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาแต่ไร้งานทำ หรือถ้ามีงานทำรายได้จะต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น “คนเราเมื่อมีอำนาจมากและยาวนาน ก็มักจะทุจริตคอร์รัปชันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกัน”

จากสังคมที่เป็นสังคมสมัยใหม่ “สังคมสารสนเทศ” ทั้งๆ ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ เป็นทั้งสังคมนิยม สังคมกึ่งเผด็จการ และกึ่งประชาธิปไตย แต่การเข้ามามีบทบาทสำคัญกับ “การเชื่อมโยง” และ “แลกเปลี่ยนข่าวสาร” ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีแต่ไร้งานทำแถมยากจน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงความลำบากยากเข็ญและการทุจริตของบรรดาผู้นำที่มีชีวิตสุขสบาย จึงก่อให้เกิดการรวมตัวลุกขึ้นมาประท้วงผู้นำของเขา

ประเด็นสำคัญของ “การเปลี่ยนแปลง” ครั้งนี้ นับว่าเป็น “ครั้งแรก” น่าจะเป็นได้ของประวัติศาสตร์ชาติอาหรับ ไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีระเบียบวินัยที่สุด สามารถรวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง เรียกว่า นับแสนนับล้านคน ออกมาขับไล่ผู้นำอย่างบ้าระห่ำเช่นนี้ ต้องเรียกว่า “ไม่ธรรมดา” อย่างแน่นอน

การลุกลามเหตุการณ์บานปลายใหญ่โตจนแทบจะถือว่าเป็น “การพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน” กันเลยทีเดียว ของสถานการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งน่าเชื่อว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทาง “โครงสร้างและระบบ” การเมืองการปกครองกันเลยทีเดียว และดีไม่ดี อาจจะเลยเถิดไปจนถึง “สังคมเชิงศาสนา” กันอย่างน่าจะเป็นไปได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับกลุ่มประเทศอาหรับตะวันออกกลาง ในเชิงทุนนิยมด้านเศรษฐกิจ ด้วยภาพรวมของการเปลี่ยนแปลง น่าเชื่อว่า ทั้งโครงสร้างและระบบที่จะส่งผลอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี สำหรับกรณีทั้ง สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

“ความไม่เป็นธรรม”
บวกกับ “ความเหลื่อมล้ำในสังคม” น่าเชื่อว่าเป็น “บ่อเหตุ” ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศต่างๆ เหล่านี้ โดยความเป็นจริงแล้วประเทศตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบีย น่าจะมีความชัดเจนมากที่สุด

สถานการณ์ครั้งสำคัญนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้นำในหลากหลายประเทศทั่วโลก พึงระวังไว้ว่า “ความเป็นธรรม” จะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่า ประเทศใดจะมีลักษณะ ระบอบการปกครองในรูปแบบใด กรณีนี้ไม่สำคัญเท่ากับว่า ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างพอเพียง ไม่ยากจนแร้นแค้น แถมถูกกดขี่อีกต่างหาก

เมื่อนั้น ความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าพลิกดินก็จะเกิด และครั้งนี้เป็นครั้งแรกของกลุ่มประเทศอาหรับตะวันออกกลาง ที่ผู้ปกครองยึดครองอำนาจจนสืบทายาทและส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร! กับโลกใบนี้

เพราะฉะนั้น “หลักธรรมาภิบาล” จึงเป็นก้าวสำคัญของสังคมยุคใหม่ ที่ต้องการ “สะพาน” เชื่อมโยงสู่ “ความรู้-ความเข้าใจ” ตลอดจน “การตื่นตัว” เรียกร้อง “ธรรมาภิบาล” ที่จำต้องเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นี้

ทั้งนี้ น่าเชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” ครั้งสำคัญนี้ อาจจะส่งผลเลยเถิดไปจนถึง “การปฏิวัติ” ก็น่าจะเป็นไปได้ ที่สังคมชาวอาหรับนั้นได้ถูกกดดันมาอย่างยาวนานประมาณ 30 กว่าปีขึ้นไป จนในที่สุดแล้ว “การปฏิวัติ” จึงต้องเกิดขึ้น

และค่อนข้างเข้าใจได้ว่า นับต่อแต่นี้ไป คงจะไม่มีใครยึดมั่น “อำนาจปกครอง” ชาติบ้านเมืองได้เกิน 8 ปี อย่างแน่นอน ดังนั้น ชาติอาหรับและอาจเลยสู่ชาติอื่นๆ ในโลกที่น่าจะสอดคล้องเช่นเดียวกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น