xs
xsm
sm
md
lg

โลกอาหรับ : การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ใครจะคิดได้บ้างว่า วันดีคืนดี “สถานการณ์ลุกฮือ” ของ “การเมืองภาคประชาชน” ในกลุ่มประเทศอาหรับตะวันออกกลางจะออกมาขับไล่รัฐบาลที่ต่างปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ต้องมี 25-30 ปีขึ้นไป

ประเทศแรกที่ประชาชนต่างลุกฮือออกมาขับไล่รัฐบาลตนเอง คือ ประธานาธิบดี เบน อาลี แห่งประเทศตูนิเซีย ที่ยึดครองอำนาจอย่างยาวนาน จนในที่สุด “ภาคประชาชน” ก็สามารถขับไล่อดีตประธานาธิบดีตูนิเซียออกไปได้ เพียงแต่ใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน และประชาชนไม่ได้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ตามติดมาด้วยประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค อายุอานาม 82 ปี ยึดครองอำนาจในตำแหน่งมายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนานเกือบหนึ่งเดือน มีประชาชนจำนวนนับล้านคนออกมาขับไล่อดีตประธานาธิบดี มูบารัค ที่ต้องเรียกว่า “แกร่งสุด!” ในการนั่งบัญชาการตำแหน่งประธานาธิบดี มาจน “อำนาจติดก้น!” ไปแล้ว หรือพูดภาษาชาวบ้าน “ชินชาอำนาจ” จนคิดว่าไม่มีใครจะโค่นล้มอำนาจตนเองได้

ปัญหาได้ลามใหญ่โตสู่ประเทศบาห์เรน จอร์แดน ลิเบีย อิหร่าน โมร็อคโค อัลจีเรีย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แถวตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ที่ขอฟันธงได้เลยว่า “เกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน!” ในกรณีของการเรียกร้องการยึดครองอำนาจอันยาวนานของผู้ปกครอง

ที่ประเทศลิเบียนั้น ประธานาธิบดี พ.อ.กัดดาฟี ยึดครองลิเบียมายาวนานถึงเกือบ 42 ปี จนสร้างลูกชายเป็นทายาททางการเมืองต่อไป ซึ่งแน่นอนแทบทุกประเทศในกลุ่มประเทศที่ประชาชนลุกฮือประท้วงนั้น ล้วน “ญาติกาธิปไตย” ทั้งสิ้น ที่มีการสร้างลูกเป็นทายาทสืบทอดอำนาจต่อทั้งหมด!

การปราบปรามประชาชนขั้นเด็ดขาดที่ทุกประเทศนั้น ล้วนเป็น “ศาสนาอิสลาม” ทั้งสิ้น โดยเราต้องเข้าใจว่า “ชาวมุสลิม” ยึดมั่นศาสนาอิสลามเป็นสรณะและเคร่งครัดอย่างมาก อย่างน้อยต้องทำละหมาดวันละประมาณ 4-5 ครั้ง และทุกปีจะมี “พิธีรอมฎอน” และ/หรือ “ถือศีลอด” ตลอดจนต้องเพียรพยายามเดินทางสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ณ นครเมกกะ

แต่การที่ชาวมุสลิมลุกฮือประท้วง “ผู้ปกครอง” ของเขานั้น ย่อมส่งสัญญาณชัดเจนถึงความไม่พอใจในระบอบการปกครอง ที่มีทั้ง “เผด็จการ-กึ่งเผด็จการ-กึ่งประชาธิปไตย” โดยยึดมั่นในหลักคำสอนของ “อัลเลาะห์” จึงจำยอมลำบากยากเข็ญนานนับหลายสิบปี ประกอบกับ “ความยากจน” ที่ประชาชนทนต่อไปไม่ได้ จนต้องลุกฮือในที่สุด

แม้แต่ประเทศจอร์แดน ที่มีระบบกษัตริย์ ประชาชนยังเรียกร้องให้ “ลดพระราชอำนาจ” ลงและเพิ่ม “ความเป็นประชาธิปไตย” ให้มากขึ้น ตลอดจนเรียกร้อง “ความเป็นธรรม” ในสังคม
ประเด็นสำคัญ คือ การเรียกร้องความเป็นธรรมบวกกับความเสมอภาคและเสรีประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ตลอดจน “การสืบทอดอำนาจ” ที่ยาวนานของบรรดาผู้ปกครองที่ยึดติดกับเก้าอี้มาอย่างยาวนานนับหลายสิบปี ซึ่งแน่นอน ก่อให้เกิด “การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง” จนประชาชนยากจนข้นแค้น

ขอย้ำอีกครั้งว่า “กลุ่มชาติอาหรับ” ล้วนนับถือ “ศาสนาอิสลาม” มาก ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า “สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง” จนผู้คนที่มีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นเกิดการตื่นตัวและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ประกอบกับ สภาพความเป็นอยู่ที่เหลืออดกับการไม่มีงานทำจนยากจน แต่กลับได้รับข้อมูลข่าวสารถึงการอยู่ดีกินดีของผู้ปกครองที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน ด้วยการติดต่อเชื่อมโยงทางเว็บไซต์จนแพร่ระบาดไปทั่วทุกองคาพยพของ “ประชาชนรุ่นใหม่!” และการลุกฮือจึงเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงหลักคำสอนของศาสนาอิสลามกันเหมือนในอดีต

การเปลี่ยนแปลงของสังคมบริบทยุคใหม่ ขอคาดการณ์ได้เลยว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป จนถึงปี 2555 และอาจเลยเถิดไปจนถึงปี 2556 น่าเชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” น่าจะส่งผลกระทบที่ใหญ่โต ชนิดอาจจะพลิกฟ้าพลิกดินก็น่าจะเป็นไปได้ เนื่องด้วย “สังคมสารสนเทศ” ที่ทุกผู้ทุกนามสามารถบริโภคได้อย่างเสรีนั่นหนึ่งล่ะ

ประการที่สอง ที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน “วิกฤตอาหารโลก” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ที่ทำให้ผลผลิตด้านเกษตรกรรมขาดแคลน ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และสาม การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ที่จะส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอ

เท่านั้นยังไม่พอ ปัญหาของการประท้วงและเปลี่ยนแปลงสู่ “ความเสมอภาค” และ “ประชาธิปไตย” น่าจะลามออกนอกพื้นที่แถบตะวันออกกลางแล้ว เท่าที่ติดตามขณะนี้ ได้เกิดการเรียกร้องในประเทศจีนที่กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้กันแล้ว โดยใช้คำว่า “จัสมิน” หรือ “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์

กรณีที่จีนนี้ น่าจะส่งผลกระทบที่อาจใหญ่โตกว่าครั้งก่อนโน้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ “เทียนอันเหมิน สแควร์” ก็อาจเป็นได้ โดยรัฐบาลจีนต้องรีบป้องกันเสียก่อน ที่จะแก้ไขไม่ทันการณ์

จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ขอเรียนตามตรงว่า “อาการน่าเป็นห่วง” เพราะว่า จะส่งผลกระทบกับ “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา-ด้อยพัฒนา” จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกกันเลยทีเดียว ที่ “ปัญหาสามเส้า” กล่าวคือ “การปกครองที่เป็นธรรม-วิกฤตอาหารโลก-ความยากจน” ที่ต้องใช้เวลาในการเคลียร์ปัญหาไม่น่าต่ำกว่า 3-5 ปีด้วยซ้ำ

ปัญหาการจัดการบริหารประเทศชาติที่เกิดกับ “สังคมบริบทยุคใหม่” ที่ “กลุ่มประชาชนรุ่นอายุ 20 กว่า” ที่เป็นกลุ่มประชาชนยุคดิจิตอลเรียกร้อง “ความเป็นธรรม-ความเสมอภาค” และที่สำคัญคือ เป็นกลุ่มปัญญาชนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ แต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยมากหรือไม่มีงานทำเลย!

ประเด็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างมากกับสถานการณ์โลกในครั้งนี้ ฟังดูคล้ายๆ คำทำนายของหลากหลาย “ปรมาจารย์-โหรดูดวง” ว่า ปี 2555-2556 น่าจะเป็น 2 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกกันเลยทีเดียว!
กำลังโหลดความคิดเห็น