xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐอุ้มราคาน้ำมันบิดเบือนตลาดแนะขึ้นแบบขั้นบันไดเอื้อธุรกิจปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - TMB Analytics ชี้รัฐตรึงราคาน้ำมันยาว ทำไทยขาดประสิทธิภาพทางพลังงาน บั่นทอนโอกาสพลังงานทางเลือก แนะใช้วิธีปรับราคาแบบขั้นบันไดให้ภาคธุรกิจ-ประชาชนค่อยๆปรับตัว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (TMB Analytics)ประเมินผลกระทบจากมาตรการอุ้มราคาน้ำมัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันขาดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และเป็นปัจจัยบั่นทอนโอกาสพลังงานทางเลือก เนื่องจากทุกครั้งที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น นโยบายตรึงราคาจะถูกนำมาใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นต้องปรับตัว ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะเป็นเศรษฐกิจที่ครบถ้วนไปด้วยทรัพยากรและพืชพลังงานหลากหลายชนิด แต่ความต้องการพลังงานทางเลือกที่มีไม่เพียงพอ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนภาคเอกชนขาดโอกาสที่จะเติบโตและลงหลักปักฐานอย่างแข็งแกร่งได้

"การตรึงราคาพลังงานในเฉพาะบางกลุ่มสินค้าบิดเบือนกลไกตลาดและเป็นการอุดหนุนผู้ประกอบการและผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยผลักภาระไปสู่ผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งจากปัจจุบันมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลอย่างเข้มงวดไว้ที่ 30 บาท/ลิตร ผ่านการแทรกแซงของกองทุนน้ำมันโดยปรับอัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2553 แล้วรวม 9 ครั้งหรือเป็นเม็ดเงินถึงกว่า 12,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินเทียบเท่ากับการสร้างรถไฟฟ้า BTS จากสถานีสยามถึงหมอชิต"

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของ TMB Analytics พบว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ โดยวัดจากปริมาณการใช้น้ำมัน (จำนวนบาร์เรล) เพื่อการผลิตผลผลิต 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ตัวเลขนี้จะมีแนวโน้มพัฒนาดีขึ้นแต่ก็อยู่ในอัตราที่ช้าว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะหลังปี 2543 ที่ประเทศอื่นพัฒนาประสิทธิภาพไปอย่างรวดเร็วแต่ไทยกลับทำได้ช้ากว่ามาก ล่าสุด ณ ปี 2552 เศรษฐกิจไทยใช้น้ำมัน 1.3 บาร์เรลต่อผลผลิต 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ สูงกว่าจีนถึง 2.1 เท่า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ากองทุนน้ำมันเริ่มมีบทบาทอย่างมากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป

ดังนั้น การอุดหนุนราคาน้ำมันควรจะอยู่บนบรรทัดฐานที่ให้เวลาในการปรับตัวแต่ก็ไม่สร้างความคาดหวังว่าราคาจะคงที่ ซึ่งระบบ Crawling Peg เป็นทางเลือกที่น่านำมาประยุกต์ใช้ ถึงแม้ภาระที่เพิ่มขึ้นกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แต่การสร้างความคาดหวังว่าราคาจะคงที่ไปเรื่อยๆก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง โดยหนึ่งในแนวทางที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงคือการนำระบบการบริหารจัดการค่าเงินมาดูแลความผันผวนของราคาน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งทางเลือกมีหลากหลายแล้วแต่ความจำเป็นและความเข้มงวดที่ต้องการ

ทั้งนี้ มองว่าระบบ Crawling Peg ที่เคยใช้ในการจัดการค่าเงินในประเทศเม็กซิโกและฮังการีเป็นระบบที่มีน่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการเข้ามาบริหารจัดการแนวโน้มราคาน้ำมัน โดยระบบดังกล่าวสามารถตรึงราคาน้ำมันได้ในระยะสั้นแต่มีการประกาศอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มและระยะเวลาเป้าหมายการปรับขึ้นอย่างช้าๆตามตลาดโลก ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากจะให้เวลาปรับตัวกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคแล้ว ยังไม่เป็นการผูกพันความคาดหวังบนนโยบายตรึงราคาให้เท่าเดิมในอนาคต จึงเป็นหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจในการตอบสนองปัญหาราคาพลังงานของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น