xs
xsm
sm
md
lg

4 ทศวรรษที่มืดมน

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใครที่ไม่สนับสนุนการเลือกตั้งจะถูกมองว่า มีความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลก่อน 14 ตุลาคม 2516 เป็นรัฐบาลทหารครองอำนาจติดต่อกันอย่างยาวนานตั้งแต่ 16 กันยายน 2500 มีรัฐบาลนายพจน์ สารสิน แทรกอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วก็เป็นรัฐบาลถนอมยึดอำนาจกัน อีกทีก็เป็นสฤษดิ์ เมื่อสฤษดิ์ตายจึงเป็นถนอม/ประภาส

การอยู่ภายใต้เผด็จการยาวนานทำให้เราอยากจะได้ระบอบประชาธิปไตย อยากเลือกตั้งเราก็ได้รัฐธรรมนูญ ได้เลือกตั้งสมความตั้งใจ จะสะดุดบ้างก็ช่วง 6 ตุลาคม 2519 เกิดรัฐประหารล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ล้มรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ และ 19 กันยายน 2549 ล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่เราก็กลับเข้าสู่เส้นทางการเลือกตั้งในเวลาไม่นานตลอดมา

ถึงวันนี้เริ่มตั้งคำถาม เริ่มสงสัยกันแล้วว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกจริงๆ หรือ มีทางใดดีกว่าการเลือกตั้งบ้างไหม หากเลี่ยงไม่ได้ก็ใช้วิธีโนโหวตดีไหม?

คำถามหรือความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนสามัคคีกันโค่นเผด็จการทหารลงได้ ทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นไปจากเผด็จการทหารแม้จะไม่เด็ดขาดเสียทีเดียว แต่การปฏิวัติรัฐประหารก็ทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง จะอยู่เป็น 5 ปี 10 ปีอย่างที่สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ทำมาแล้วในอดีตไม่ได้อีก แต่ปรากฏว่า เราหนีเผด็จการทหารมาสู่นักเลือกตั้งในคราบประชาธิปไตย

เกือบ 4 ทศวรรษบ้านเมืองของเราตกอยู่ในมือของนักเลือกตั้งที่อาศัยกฎ กติกา อาศัยรัฐธรรมนูญก้าวเข้าสู่อำนาจ พวกเขาเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎร เกาะกลุ่มกันให้ได้ 10 คน 20 คน ก็มีโอกาสร่วมรัฐบาล ก็ได้โควตารัฐมนตรี ได้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี (ซึ่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยเรียกว่า ตำแหน่งเทกระโถน) เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยฯ จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการฯ

มีโอกาสกำกับดูแลกระทรวงทบวงที่ได้โควตามา มีโอกาสแต่งตั้งข้าราชการ แม้ในกฎหมายจะให้อำนาจแต่งตั้งได้แค่ปลัดกระทรวงแต่ก็สามารถล้วงลึกไปได้ เพราะถ้าหากปลัดกระทรวงไม่ตามใจก็ย้ายปลัดกระทรวงเสียให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ หากปลัดกระทรวงคนใหม่ที่พร้อมจะสนองนโยบาย (และไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่าจะไม่มีข้าราชการมารับใช้ มีข้าราชการแย่งกันที่จะรับใช้ แย่งกันเสนอตัว แถมบางกระทรวงมีเงินทองมาประเคนให้อีกต่างหาก) มีโอกาสดูแลงบประมาณของกระทรวง มีโอกาสแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้าง มีโอกาสแสวงหาประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ของกระทรวงที่ตัวกำกับดูแลอยู่

ช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นฐานะอันมั่นคงมั่งคั่งของนักเลือกตั้งกันทั่วหน้า เมื่อมีการแจกแจงบัญชีทรัพย์สินเราจึงได้เห็นพวกเขามีทรัพย์สินเงินทองเป็นร้อยล้านบาทพันล้านบาท

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีน่าจะถึงแสนล้านบาท

ในขณะที่ประชาชนยากจน ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีปัญหา แม้ทุกวันนี้ก็ต้องกู้เงินมาเป็นงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง

และนักการเมืองก็โกงเงินที่กู้เขามานี่แหละ

ถามว่าประชาชนรู้เรื่องเหล่านี้ไหม?

รู้ จึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบให้อำนาจคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดูแลการเลือกตั้งให้สะอาดบริสุทธิ์ไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ให้นักการเมืองถือครองหุ้น ฯลฯ สารพัดจะทำก็ยากที่จะเอาชนะนักเลือกตั้งได้

พวกเขาเอารัฐธรรมนูญมากางดู ศึกษากรอบกติกา แล้วก็ปฏิบัติตามกรอบกติกา ส่วนที่ผิดไปจากกรอบกติกา เขาก็ใช้อำนาจรัฐบ้าง ใช้เงินบ้าง

เพราะนี่คือเกมที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เมื่อได้แล้วก็อำนาจ มีอำนาจแล้วผลที่ตามมาก็คือ มีอิทธิพล มีเงินเพื่อที่จะเอาชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ได้อำนาจรัฐต่อไป ถ้าหากหมดโอกาสในกรณีใดกรณีหนึ่ง เป็นต้น พรรคถูกยุบ ตัวเองถูกตัดสิทธิทางการเมือง ก็ให้ผัว ให้เมีย ให้ลูก ให้หลานหรือให้พ่อรับตำแหน่งทางการเมืองแทน ส่วนตัวเองก็อยู่เบื้องหลัง

นี่คือการเมืองที่เป็นไปและเป็นมาของประเทศไทยใน 4 ทศวรรษ ซึ่งเป็นการเมืองที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยบอกว่า เป็นการเมืองที่ล้มเหลว เป็นการเมืองที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่าจะต้องยุติการเมืองที่ล้มเหลวนี้ให้ได้ จนกระทั่งมีผู้คนไม่น้อยหลงชื่นชมความตั้งอกตั้งใจอันดีของนายอภิสิทธิ์นี้

แต่ที่ไหนได้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นเองแหละที่กาวเข้าสู่การเมืองที่ล้มเหลวตั้งแต่วันแรกที่นายเนวิน ชิดชอบ โอบหลังโอบไหล่เป็นเชิงบอกให้ผู้คนรู้ว่าสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ

นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำให้การเมืองที่ล้มเหลวยุติลงได้เลย นอกจากไม่ยุติแล้วยังเสริมส่งให้เจริญงอกงามต่อไปอีก

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ยุบสภา ไม่พรรคประชาธิปัตย์ก็พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นต้น พรรคของนายเนวิน พรรคของนายบรรหาร พรรคของนายสุวัจน์ ฯลฯ เข้าร่วมรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์ชนะ นายอภิสิทธิ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีรายล้อมจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ เหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 แล้วก็แสวงหาประโยชน์กันอีก นายอภิสิทธิ์ก็ยืนเกาะโพเดียมอยู่อย่างเดิม ลอกนโยบายคนอื่นเขามาอย่างเดิม กู้เงินมาผลาญกันอีกตามเดิม

ถ้าหากเพื่อไทยชนะ ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ชายหรือหญิง หรือไม่ชาย ไม่หญิงก็ยังไม่รู้ แต่ที่แน่นอนก็คือ รับใช้ทักษิณ ช่วยทักษิณเพื่อให้พ้นคุก พ้นคดี

รู้และเห็นอย่างนี้จะไปเลือกตั้งทำไม?

กาโนโหวต บางที่อาจจะเป็นได้ที่ทำให้เกิดการปฏิรูป เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นอีกครั้งในบ้านในเมือง แม้ว่าช่วงแรกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยที่ชนะโนโหวต จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ พวกเขาก็อาจจะได้คิดว่าจะแสวงหาประโยชน์ จะตักตวงอย่างเดิมๆ ไม่ได้แล้ว

สำหรับประชาชนก็เป็นหนทางหนึ่งที่เราจะได้ช่วยกันใคร่ครวญแสวงหาทางออกให้ประเทศชาติ เราจะได้ช่วยกันปลุกสำนึกของผู้คนในสังคมให้พ้นจากความมืดมน และขัดแย้งนี้เสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น