ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่แน่ชัดในระดับหนึ่งแล้วว่า รัฐบาล จะมีวาระยุบสภาในช่วงต้นเดือนพ.ค. ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีกำหนดวันอย่างชัดเจน ระหว่างคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ตามที หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมาเสียก่อน เพราะหากจับท่าทีของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ได้เริ่มเดินเกมจัดกระดานชิงอำนาจ ก็จะเห็นสัญญาณของบรรยากาศการเลือกตั้งเข้าไปทุกที
อาทิ การจับมือเป็นพันธมิตรการเมืองระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา ของ“เนวิน ชิดชอบ-บรรหาร ศิลปอาชา” หรือจะเป็นพรรคเพื่อแผ่นดินและพรรครวมชาติพัฒนา ก็เริ่มควบรวมระหว่าง "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" กับแก๊ง3พี ประกอบด้วย พินิจ จารุสมบัติ ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ
นอกเหนือไปจากการผสมพันธุ์ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ แล้ว ยังเกิดพรรคการเมืองใหม่ยี่ห้อ “ประชาสันติ” ที่ได้วางตัว ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค
อีกทั้งหลังเสร็จศึกไม่ไว้วางใจมาหมาดๆ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังได้เป่านกหวีดถึงลูกพรรคเสียงดังฟังชัด ชนิดลุยเต็มที่ ผิดกับมุมพรรคเพื่อไทย หลังเสร็จศึกซักฟอกก็เกิดอาการระส่ำภายในพรรคอย่างหนักชนิดเละเป็นโจ๊ก จากการประกาศลาออกของเฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.ของพรรค แถมยังไม่พ้นต้องมาเจอปัญหาเดิมๆ คือการหาหัวหน้าพรรคมานำธงในศึกเลือกตั้งที่จะมาถึง
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญยิ่งระหว่าง 2 ขั้วการเมืองใหญ่ คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย(พท.) เพราะรัฐบาลเองก็จำเป็นต้องรักษาตำแหน่งในการเป็นรัฐบาลเอาไว้ให้ได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยหากไม่สามารถได้ผลเลือกตั้งตามที่มุ่งหวังไว้ อนาคตทางการเมืองของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะค่อยๆ หมดลงไปเช่นกัน ที่สำคัญผลการเลือกตั้งจะสามารถบ่งบอกสภาพการเมืองไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
ข้าวยากหมากแพง-พระวิหาร
จุดตายประชาธิปัตย์
หากกล่าวถึงจุดสลบในการทำหน้าที่บริหารประเทศของ ปชป. ในฐานะแกนนำรัฐบาล หนีไม่พ้นผลงานชิ้นโบว์ดำ ที่ได้ฝากไว้ให้กับประชาชน กับปัญหาข้าวยากหมากแพง อาทิ ทำให้น้ำมันปาล์มขาดตลาด สินค้าต่างๆ พาเหรดกันขึ้นราคา ล่าสุดยังทำให้ไข่ไก่ ที่ถือว่าเป็นสินค้าที่ประชาชนบริโภคกันอย่างกว้างขวาง เกิดภาวะขาดตลาดอีกด้วยซ้ำ จุดนี้เองจึงเป็นจุดตายโดยแท้ที่ส่งผลให้คะแนนนิยมลดฮวบฮาบ
ปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นประเด็นลากพิษติดหางของ ปชป.ไปจนถึงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องข้าวยากหมากแพง และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีโพลหลายสำนักที่สะท้อนได้เป็นอย่างดี อาทิ ผลสำรวจสูงสุดของกรุงเทพโพล เห็นว่า ประเด็นที่ยังค้างคาใจคือประเด็นการชี้แจงเรื่องน้ำมันปาล์มขาดแคลน เรื่องราคาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น ต่อด้วยคำถามว่า "1 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลประชาชนอยากได้อะไร" ของเอแบคโพล ร้อยละ 61.7 ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าวแกงประจำวัน ไม่พ้นกระทั่งหาดใหญ่โพลในพื้นที่ของ ปชป.แท้ๆ ร้อยละ 53.5 เห็นว่ารัฐบาลสอบตกเรื่องแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง 54.4 เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น
'ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต' รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า สิ่งที่จะทำให้ ปชป.คะแนนลดลง เนื่องจากปัญหาคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล และในการอภิปรายไว้วางใจที่ผ่านมาก็ยังตอบไม่ชัดเจนเท่าใดนักกับปัญหาคอรัปชั่น อีกส่วนหนึ่งก็คือการการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ได้ออกมาเปิดโปงเรื่องปัญหาชายแดนพระวิหารในช่วง 1-2 เดือน ก็เป็นปัจจัยให้คะแนนนิยมลดลงอย่างมากเช่นกัน จากนี้ก่อนการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์คงจะประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเองมากขึ้น ก็หนีไม่พ้นนโยบายประชานิยมที่ได้โปรยไปก่อนแล้ว รวมไปถึงการปรามพรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้ทำอะไรอื้อฉาวอีก ซึ่งจะส่งผลให้คะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งให้ลดลงกว่าเดิม
ว่ากันว่า นายกรูปหล่อ ที่ชื่ออภิสิทธิ์ที่ถือเป็นจุดขายของ ปชป.มาตลอด ก็อาจต้องกลับไปทบทวนกันใหม่เสียแล้ว เนื่องจากล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ พบว่า ไม่ให้ความสนใจ 66.0% เหตุผลสำคัญๆ ได้แก่ ไม่มีเวลาติดตาม ไม่ชอบการเมือง และไม่ชอบรัฐบาล เรียกได้ว่าสวนกับความเป็นจริงที่บรรดาลิ่วล้อของพรรคได้ออกมาปั่นกระแสว่าคะแนนนิยมของปชป. และนายอภิสิทธิ์ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งแน่นอนว่าโพลต่างๆเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ รับประกันโดยเสียงของประชาชนที่ปฏิเสธมิได้อีกด้วย
วิเคราะห์แล้ว ปชป.ก็น่าจะได้ฐานเสียงเดิม ก็คือกรุงเทพฯ และภาคใต้ ช่วยอุ้มชูเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ประกาศชัดมานานแล้วว่าหลังการเลือกตั้งจะกวาดคะแนนตกเป็นตัวเลข ส.ส.250 คน นั้นจึงอาจเป็นเพียงภาพจินตนาการอันเลิศหรู เมื่อดูจากภาพความเป็นจริงที่ปรากฏแล้วต้องบอกได้คำเดียวว่ายาก เนื่องจากยังมีตราบาปในปัญหาข้าวยากหมากแพงตามหลอกหลอนและการบริหารประเทศที่โดยรวมทุกเรื่องแล้วสอบตก จึงเป็นการบ้านอันหนักหนาสาหัสยิ่งสำหรับ ปชป.ในการกลับมาเถลิงอำนาจเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
พรรคขนาดกลาง-เล็ก นอนมา
รอจับขั้วเป็นรัฐบาล
เริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัวสำหรับ พรรคภูมิใจไทย เมื่อล่าสุดนายเนวิน ได้สั่งทุบหม้อข้าวก่อนออกรบด้วยการประเมิน ผลโพลคะแนนผู้สมัครในแต่ละเขต ก่อนจะลงสู่สนามเลือกตั้ง โดยเป้าหมายของนายเนวิน ที่หวังไว้ประมาณ 50 เสียง แต่ก็เป็นงานหนักเพราะคู่ต่อสู้คือพรรคเพื่อไทย ที่คุมฐานเสียงในภาคอีสานส่วนใหญ่ และยังมีความน่ากลัวมาให้เห็นเรื่อยๆ ในการออกมาชุมนุมแต่ละครั้งของมวลชนเสื้อแดง ที่ยังคงมีความจงรักภักดีต่อทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภูมิใจไทยก็เป็นแน่นอนแล้วว่า ได้ร่วมจับมือกับชาติไทยพัฒนา ไม่ต่างอะไรกับการันตีล่วงหน้าได้ว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องมีชื่อของสองพรรคนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน
โดยเป้าหมายหลักภูมิใจไทยจะต้องรักษาฐานเสียงเดิมพื้นที่อีสานใต้ อาทิจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และหากเจาะพื้นที่ของเพื่อไทยไม่แตก แต่ก็ต้องพยายามรักษาฐานเสียงเดิมให้ได้ และรวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ต้องรักษาฐานเสียงภาคกลางที่เคยมีเอาไว้ให้ได้เช่นกัน โดยหวังไว้ประมาณ 20 เสียง เพื่อกลับมาเข้าขั้วกับ ปชป.เหมือนเดิม เพราะประเมินดูแล้วว่า คงหากินได้ราบรื่นกว่าถ้ามีหัวหน้ารัฐบาลชื่อนายอภิสิทธิ์
ส่วนพรรคเกิดใหม่ อย่างประชาสันติ ที่มี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยเป้าหมายที่วางไว้คือการหวังจะเป็นตัวเลือกใหม่ระหว่างประชาชนที่อาจเกิดความเบื่อหน่ายระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ และหวังลึกๆว่าจะได้พื้นที่รัฐมนตรี 1 ตำแหน่งในรัฐบาล เมื่อดูตามโครงสร้างพรรคที่ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ที่เป็นขั้วเดียวกับนายเนวินแล้ว น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายว่า เป้าหมายทางเลือกใหม่ของพรรคนี้ก็ต้องการอุดจุดอ่อนของพรรคภูมิใจไทย ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยหวังจะอาศัยบุญเก่าที่ประชาชนในเมืองยังคุ้นหู ร.ต.อ.ปุระชัยเป็นจุดขายให้คนกรุงเทพฯ
สำหรับพรรคเพื่อแผ่นดิน ดูแล้วยังคงหาจุดลงตัวไม่ได้ ประกอบกับ ส.ส.ยังแตกกันเป็นหลายก๊ก แต่หากจับอาการคำพูดของนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรค ที่กล่าวว่า “หากสองขั้วยังปะทะกันอย่างรุนแรง และพรรคเพื่อแผ่นดินสามารถเป็นทางเลือกโดยไม่ยึดกับขั้วใด เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมผสานกลุ่มการเมืองต่างๆ ” ก็คงชัดเจนในแนวทางเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ในส่วนของแก๊ง3พี ประกอบด้วย พินิจ จารุสมบัติ ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ก็ได้ควบรวมกับ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ขาใหญ่พรรครวมชาติพัฒนา แนวทางคือเพื่อรักษาฐานเสียงโคราชและจังหวัดบริวารให้เหนียวแน่นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มี ส.ส.รองมาเป็นอันดับสองต่อจากกรุงเทพฯ ถ้ากล่าวถึงการจับขั้วแล้ว ทาง 3พี น่าจะไปซบทางเพื่อไทยมากกว่า เนื่องจากเคยหักหน้า เนวิน ชิดชอบ ตั้งแต่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อน ที่บรรดา 3 พี ได้สั่งให้ส.ส.ในสังกัดยกมือโหวตสวนไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีสังกัดภูมิใจไทย จึงทำให้เนวิน ส่งสัญญาณให้อภิสิทธิ์ เขี่ยเพื่อแผ่นดินออกจากรัฐบาลทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ที่ต้องออกหัวหรือก้อย ไม่พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้พรรคขนาดกลางและเล็ก จึงเป็นตัวแปรอันมีค่ายิ่งในการจัดตั้งรัฐบาล และสุดท้ายไม่ว่าการเลือกตั้งจะออกฝั่งไหน พรรคตัวแปรทั้งหลายก็นอนมาเพื่อรอจับขั้วเพื่อเป็นรัฐบาล
เพื่อไทยยังแข็งภาคอีสาน
ได้เวลาเคาะหัวหน้าพรรค
เตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งทันที สำหรับพรรคเพื่อไทย โดยได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ ความเชื่อมั่นฝ่ายค้านและรัฐบาลต่อการบริหารประเทศหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่น่าสนใจก็คือพบว่าฐานเสียงในภาคอีสานของเพื่อไทยยังสูงถึง 82% ถือเป็นการตอกย้ำถึงฐานเสียงที่ยังหนาแน่นในพื้นที่อีสานและรวมไปถึงภาคเหนือที่ยังคงหนาแน่นไปด้วยมวลชนเสื้อแดง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเพื่อไทยตลอดมา
แต่ปัญหาของเพื่อไทยยังวนเวียนอยู่กับการชิงนำภายในพรรคเช่นเดิม ซึ่งดูเหมือนว่าความร้าวลึกยังไม่มีท่าทีสิ้นสุด สดๆร้อนๆ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.เพื่อไทย ประกาศลาออกจากจากการเป็น ส.ส. แต่ก็ยังกั๊กไม่ยอมลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้นตอแห่งปัญหาก็มาจากการที่นช.ทักษิณยังคงถือหางนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ แสดงให้เห็นการช่วงชิงการนำของฝ่ายต่างๆ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น ซึ่งทั้งหมดก็คาบเกี่ยวการวางตัวผู้นำสูงสุดของพรรคเพื่อไทย และหากถามว่าทำไม นช.ทักษิณ ต้องการที่จะดำรงสภาพไร้หัวเอาไว้ ก็เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือถ่วงดุล และคานอำนาจในพรรค โดยที่ นช.ทักษิณสามารถดำรงความสำคัญสูงสุดในพรรคต่อไป
และอย่าได้แปลกใจกับปรากฏการณ์ล่าสุด ที่มีข่าวออกมาว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เตรียมขึ้นนั่งแท่นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยความน่าจะเป็นของเรื่องนี้มีสูงเข้าไปอีก เมื่อ"สุพล ฟองงาม"เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกเป็นนัยว่า เจ๊ปูจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า โดยจองเป็นผู้สมัครหมายเลข 1 ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตามไม่นานนับจากนี้คงจะได้เห็นหัวหน้าตัวจริงเสียงจริงเนื่องจากเงื่อนไขของการเลือกตั้งก็ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ซึ่งการหาเสียงในการชูผู้นำพรรคก็ต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และคำตอบสุดท้ายสุดท้ายก็คงอยู่ที่ นช.ทักษิณเพียงคนเดียว