เลขาฯ การเมืองใหม่ ชี้ข่าวยุบสภา มิ.ย.เพราะลากอำนาจอยู่ยาวไม่ได้ หวั่นถูกเปิดแผลโกงเพิ่ม แถมกลัวรัฐประหารซ้ำ เชื่อน้ำมันปาล์มขาดตลาดเพราะนายทุนเก็งกำไร จี้ดีเอสไอสอบ แต่ห่วงเป็นเครื่องมือนักการเมือง ถาม ปชป.ยุบแล้วแก้เสียดินแดนได้ไหม ซัดม็อบแดงบีบศาลทำไม่เหมาะ ส่อบัตรเชิญรัฐประหาร ไล่เพื่อไทยไปแฉโกงดีกว่าเล่นประเด็นสัญชาตินายกฯ
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่พรรคการเมืองใหม่ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการยุบสภาในเดือน มิ.ย.54 ว่า เหตุที่แกนนำรัฐบาลออกมายืนยันนั้นเป็นเพราะประเมินแล้วว่าไม่สามารถดื้อดึงลากยาวอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เนื่องจากมีแรงกดดันจากการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งกรณีของพันธมิตรฯ ได้ปรับขบวนเป็นกลุ่มรวมพลังปกป้องแผ่นดิน โดยประกาศจะชุมนุมยืดเยื้อแม้ยุบสภาก็ไม่เลิก หากไม่บรรลุใน 3 ข้อเรียกร้องที่ว่ายกเลิก MOU 2543 ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก รวมทั้งผลักดันชุมชนและทหารกัมพูชาออกจากดินแดนไทย
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า หากทอดเวลาออกไปรัฐบาลก็เกรงว่าจะถูกเปิดแผลเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเรื่องใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ตัวเองเสียคะแนนนิยม อาทิ กรณีน้ำมันปาล์มขาดตลาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนของพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่การบริหารจัดการที่ผิดพลาด แต่เกิดจากการกักตุนเก็งกำไร จนไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้เอง รวมถึงปริมาณการนำเข้าของไทยต้องประสบปัญหาขาดแคลนขนาดนี้หมายถึงมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำเป็นต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วนำผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มทุนการเมือง รวมทั้งประการสำคัญที่รัฐบาลยังต้องมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปกติ เหนือความคาดหมาย หากเหตุการณ์รุนแรงขึ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐประหารหรือรัฐบาลพิเศษ ที่นักเลือกตั้งทั้งหลายหวาดกลัวมาก เพราะหากเกิดขึ้นจริง นักการเมืองและนักเลือกตั้งก็จะถูกคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากพวกตนเล่นงาน
เลขาฯ พรรคการเมืองใหม่ กล่าวด้วยว่า การยุบสภาที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลได้ประเมินแล้วว่ากลุ่มก้อนของตัวเองจะมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง จากที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคประชาธิปัตย์ ถึงขนาดออกมาโยนหินถามทางว่ามีความเป็นไปได้พรรคที่ชนะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ควรจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์หมกมุ่นอยู่กับเกมอำนาจ และตอกย้ำว่าการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นสูตรการเลือกตั้ง 375+125 ที่แท้ก็เพื่อตัวเอง พวกพ้อง และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
“แม้จะเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญของหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือนายกฯ ที่สามารถยุบสภาได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องตอบสังคมก็คือการยุบสภาแก้ปัญหาการสูญเสียอธิปไตย และดินแดนได้หรือไม่ เพราะการยุบสภาเป็นแค่การแก้ปัญหาทางการเมืองของนักการเมือง แต่ปัญหาของชาติบ้านเมืองไม่ควรเอาไปผูกอยู่กับหีบบัตรเลือกตั้งไปเสียทุกเรื่อง” นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใสยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงว่า มีความพยายามพุ่งเป้าไปที่การกดดันอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการบีบให้ศาลปล่อยตัวแกนนำ นปช.ที่คุมขังอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะการใช้มวลชนมาเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดี เพราะต่อไปใครไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ก็จะสามารถก่อม็อบประท้วงคำพิพากษาของศาลได้ หรือใช้วิธีข่มขู่คุกคามตัวผู้พิพากษาและองค์คณะตุลาการ
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า วิธีการเคลื่อนไหวแบบนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความไร้ระเบียบในบ้านเมืองอีกครั้ง และอาจเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดการรัฐประหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน่าแปลกใจที่ นปช.ประกาศมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่การเคลื่อนไหวในขณะนี้กำลังจะเปิดประตูให้กับการรัฐประหารอีกรอบ
“แกนนำ นปช.พูดเสมอว่าเป็นนักประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร แต่วันนี้กำลังทำลายอำนาจตุลาการที่เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งกำลังสร้างเงื่อนไขให้เกิดอำนาจนอกระบบหรือการรัฐประหารอีกรอบ” นายสุริยะใสกล่าว
เลขาฯ พรรคการเมืองใหม่ ยังได้กล่าวถึงการเปิดประเด็นการถือครองสัญชาติอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า เรื่องนี้ไม่ควรเป็นประเด็นที่ นปช.จะหยิบมาเคลื่อนไหว เพราะจะทำให้สังคมสับสน ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่มุมมองที่แตกต่างกันในเชิงเทคนิคเท่านั้น นปช.และพรรคเพื่อไทยควรเปิดโปงและตีแผ่การทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีหลายโครงการที่พบความไม่โปร่งใส อย่างเช่น ล่าสุดการประมูลโครงการ 3G หรือกรณีน้ำมันปาล์ม ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่าความพยายามเอาเรื่องส่วนตัวมาทำลายกัน ซึ่งประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ทั้งยังเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งและไม่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคม หวังทำลายล้างกันทางการเมืองมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสอบสวนกรณีความไม่ชอบพากลเรื่องน้ำมันปาล์มของดีเอสไอเป็น การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ นายสุริยะใสกล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องนโยบายปาล์มโดยตรง มอบหมายให้ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยหลักการไม่มีปัญหา แต่ตนอดห่วงไม่ได้ว่าจะใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง จึงฝากถึงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในการยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน อย่างกรณีที่อายัดน้ำมันปาล์มที่ส่อไปในเชิงกักตุนของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง นั้น ต้องมีการขยายผลว่าเข้าข่ายกระทำผิดต่อกฎหมายและมีรายอื่นๆด้วยหรือไม่
“การทำงานของดีเอสไอต้องไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู เป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล ต้องตรวจสอบให้ได้ว่ามีฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มทุนทางการเมืองเข้ามาหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่” เลขาฯ พรรคการเมืองใหม่ กล่าว