xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเอกสาร “เบื้องหลัง” ที่มาของ MOU 2543!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้เคยพยายามอธิบายว่าบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 นั้นมีความสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น ยังคงจำกัดอยู่ในการเจรจาระดับทวิภาคี หรือการเจรจาจะจำกัดอยู่เพียงแค่ 2 ประเทศ ราวกับว่าถ้าไม่มี MOU 2543 แล้ว ประเทศไทยและกัมพูชาไม่สามารถที่จะเจรจากันสองประเทศได้

ซึ่งคำพูดลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องจริง

เพราะความจริงแล้วไทย-กัมพูชาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นกลไกการเจรจาทวิภาคีกันได้ก่อนจะมี MOU 2543 เสียอีก

ก่อนมี MOU 2543 นั้นปรากฏว่าประเทศไทยกับกัมพูชาสามารถเจรจาและพูดคุยกันในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชากันได้ โดยมีหลักฐานคือ:

“หนังสือด่วนที่สุด จากกระทรวงการต่างประเทศลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี หนังสือเลขที่ กต. 063/1574 ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543 เรื่อง “ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ครั้งที่ 2”

จากเอกสารชิ้นดังกล่าวทำให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมในที่มาของ MOU 2543 ว่าไม่ได้ถูกออกแบบและจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัยชุดที่ 2 เท่านั้น แต่ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัยชุดที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2537

เอกสารดังกล่าวได้ระบุที่ไปที่มาว่า นายชวน หลีกภัย ในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้ไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12-14 มกราคม พ.ศ. 2537 ปรากฏว่าได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมฉบับลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2537 ระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ขึ้นภายในระยะเวลาอันสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดน อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชายังไม่มีความพร้อมเพราะมีปัญหาเขมรแดงและความขัดแย้งทางการเมือง

ไม่มีใครได้ทราบรายละเอียดหลังจากนั้นว่า ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ตั้งแต่เมื่อใด มาเห็นอีกครั้งหนึ่งก็ปรากฏตามเอกสารของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการต่างประเทศที่ทำถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ว่าได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 2 ครั้งไปแล้ว โดยปรากฏข้อความในการเกริ่นนำว่า

“ตามที่รัฐบาลกัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Commission on Demarcation for Land Boundary หรือ Joint Boundary Commission :JBC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2543 นั้น กระทรวงการต่างประเทศใคร่ขอกราบเรียนรายงานผลการประชุมโดยสรุปดังนี้....”

โปรดสังเกตว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 นั้น ไทยกับกัมพูชาลงนามกันวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543 แต่ก่อนหน้านั้น ไทยและกัมพูชาได้มีการพูดคุยผ่านกลไกทวิภาคีของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ถึง 2 ครั้งมาแล้ว

แปลว่า JBC ไทย-กัมพูชา เกิดขึ้นมาก่อน แต่ MOU 2543 เกิดขึ้นมาในภายหลัง

หมายความว่าแม้ถ้าไม่มี MOU 2543 ไทยกับกัมพูชาก็มีกลไกการเจรจากัน 2 ประเทศอยู่แล้ว และถ้าสมมติว่าจะยกเลิก MOU 2543 ไทย-กัมพูชาจะยังสามารถเจรจากันอีกภายใต้การเจรจาของ JBC (ยกเว้นว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อยากเจรจาแล้ว)

หนังสือของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ทำถึงนายชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2543 นั้น ยังมีสิ่งที่ส่งมาด้วยคือ “สำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2” ด้วย

ข้อความนี้ย่อมแสดงว่าไทยและกัมพูชาต่างมีบันทึกการประชุมครั้งนี้เป็นหลักฐานอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่จะใช้สำหรับเป็นข้ออ้างได้ว่ามีการตกลงกันอย่างไรในการประชุม

อีกทั้งในหนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้ในเรื่องต่างๆ ในเรื่อง MOU 2543 จนถึงขั้นสามารถ “ลงนามย่อ (ad referendum)” บันทึกความเข้าใจฯ (ภาคผนวก 6 ของสิ่งที่ส่งมาด้วย) ซึ่งมีสาระสรุปสำคัญดังนี้

“พื้นฐานทางกฎหมาย การสำรวจและจัดทำ (ปัก) หลักเขตแดนทางบก จะดำเนินการโดย ใช้บรรดาเอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ (application) อนุสัญญาและสนธิสัญญาดังกล่าว”

ถ้าบันทึกการประชุม JBC ระหว่างไทย-กัมพูชาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ปรากฏข้อความเช่นนี้ ก็แปลว่ากัมพูชาก็ต้องมีบันทึกผลการประชุมเช่นเดียวกับไทยที่ระบุสาระสำคัญ 2 ประการเป็นเอกสารประกอบที่มาของ MOU 2543 ว่า

1. ไทยยอมรับเป็นครั้งแรกว่าแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน โดยไม่มีการระบุว่ายกเว้นระวางใด ทั้งๆ ที่แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 นั้นฝ่ายสยามไม่เคยลงนามยอมรับแผนที่ดังกล่าวในทุกระวาง และฝ่ายไทยยังได้ต่อสู้ในคดีปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 มาตลอดว่าแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในระวางดงรักนั้นฝ่ายสยามไม่เคยลงนามยอมรับ และถือว่าเป็นผลงานของฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังปรากฏความตอนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ความตอนหนึ่งว่า:

“ในระยะนี้ศาลกล่าวถึงเฉพาะข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยในประการแรกก่อน ข้อต่อสู้นี้อาศัยเหตุผลซึ่งศาลพิจารณาเห็นว่า ถูกต้อง ที่ว่าแผนที่ฉบับนี้ไม่เคยได้รับการรับรองเป็นทางการจากคณะกรรมการผสมชุดแรก เพราะเหตุว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้หยุดปฏิบัติงานไปเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะจัดทำแผนที่ขึ้น เอกสารหลักฐานมิได้แสดงว่าแผนที่และเส้นเขตแดนนั้นได้กระทำขึ้นโดยอาศัยคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้ให้ไว้แก่คณะเจ้าหน้าที่สำรวจ ในขณะที่คณะกรรมการยังคงปฏิบัติงานอยู่...ศาลจำต้องลงความเห็นว่าในระยะแรกเริ่มและขณะที่จัดทำแผนที่ขึ้นนั้น แผนที่ฉบับนี้ ไม่มีลักษณะผูกพันใดๆ”

2. ไทยยอมรับเป็นครั้งแรกว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ว่าเป็นเอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยกับกัมพูชา โดยไม่มีการยกเว้นในระวางใดทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ไม่เคยพิพากษาสถานภาพของแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ในระวางดงรัก ในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอแต่ประการใด ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศท้ายสุดที่ได้สรุปในเรื่องขอบเขตของคำพิพากษาเกี่ยวกับแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ความตอนหนึ่งว่า:

“คำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000) และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผลและมิใช่ข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา”

จึงถือว่าผลการประชุม JBC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2543 นั้น มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐอย่างชัดเจน

ในตอนท้ายของหนังสือฉบับนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ทำเสนอไปยัง นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบและพิจารณาเพื่อขออนุมัติเรื่องการลงนามใน MOU 2543 ความว่า: “จึงกราบเรียนมาเพื่อกรุณาทราบและพิจารณา

1. อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่กรุงพนมเปญ ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน ศกนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับภาษาไทย เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในโอกาสต่อไป”

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงถือว่าเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่มาทำเป็นรับผิดชอบการพยายามจะให้เทศกิจมารื้อส้วมผู้ชุมนุมที่กำลังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความผิดพลาดทั้งปวงเกี่ยวกับ MOU 2543

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2543 นายวรากรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือกราบเรียน นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมา และลงท้ายด้วยข้อเสนอของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า:

“เห็นควรอนุมัติข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ และนำเรื่องเสนอเข้า ครม. เพื่อทราบต่อไป”

นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ลงนามเซ็นเอาไว้ในวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ด้วยข้อความสั้นๆ ว่า “อนุมัติ”

ที่ไม่น่าเชื่อก็ตรงที่ว่าเรื่องที่มีความสำคัญขนาดนี้ และมีความเสี่ยงที่บทจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจรัฐขนาดนี้ กลับไม่ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่กลับแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการไม่ถือปฏิบัติในอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534!!?

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายไทย จึงได้ไปลงนาม กับนายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนกัมพูชา ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 จนเป็นที่มาของความวุ่นวาย และจุดเริ่มต้นของการรุกรานแผ่นดินไทยโดยกัมพูชาจนถึงทุกวันนี้

ในขณะที่ลงนามใน MOU 2543 ประเทศไทยได้มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 224 ว่า:

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา”

ในความเห็นของผมแล้วเมื่อ MOU 2543 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และปราศจากพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องถือว่า MOU 2543 นั้นขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และเป็นโมฆะมาตั้งแต่ตอนต้น

แต่ถ้ายึดตาม MOU 2543 อย่างเคร่งครัด ก็ต้องถือว่าฝ่ายกัมพูชาได้เป็นฝ่ายละเมิด MOU 2543 จำนวนมากจนกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ทำหนังสือประท้วงกัมพูชานับร้อยกว่าฉบับแล้ว และสามารถนำมาใช้หลักฐานเพื่อยกเป็นเหตุอ้างในการยกเลิก MOU 2543 ที่มีความชอบธรรมทางการเมืองและถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และถือโอกาสลบล้างความเสียเปรียบและความผิดพลาดทั้งปวงจาก MOU 2543 และเริ่มการเจรจากันใหม่ในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)

ก่อนการเจรจากันใหม่ไทยไม่ควรเสียค่าโง่ใดๆ อีก และควรผลักดันกัมพูชาที่ทั้งละเมิดอธิปไตยไทย และกระทำความผิดตาม MOU 2543 ออกไปจากแผ่นดินไทย!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น