ในสมัยก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่าในเอกสารตำนานของลาวเรียกบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ละโว้โยธิยา และในพงศาวดารล้านช้างกล่าวว่า ขุนบูลมส่งลูกเจ็ดคนไปสร้างบ้านแปงเมืองต่างๆ ในครั้งนั้นเจ้างั่วอินทร์เดินทางไปเมืองชาวใต้อโธยา หรือ ละโว้โยธิยา เป็นการย้ำให้เห็นว่า เมืองอโยธยานั้นเป็นเมืองมาก่อน เมืองอยุธยา ที่พระเจ้าอู่ทอง (รามาธิบดีที่ 1) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1893
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับกรุงเก่า (หลวงประเสริฐอักษรนิติ) กล่าวว่า พระพุทธรูปพนัญเชิงสร้างก่อนอยุธยาถึง 26 ปี อันแสดงถึงน่าจะมีชุมชนขนาดใหญ่อาศัยอยู่มาก่อน และในพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองอโยธยา มีเจ้าชายสายน้ำผึ้งผู้ปกครองนครติดต่อสัมพันธไมตรีกับจีน และจีนได้พระราชทานเจ้าหญิงสร้อยดอกหมากให้มาอภิเษกกับเจ้าชายสายน้ำผึ้ง จนเกิดเรื่องราวของเรื่องฝังพระศพของเจ้าหญิงสร้อยดอกหมากที่วัดพนัญเชิง
เมืองละโว้เป็นรัฐลาวที่เข้มแข็งที่สุด เห็นจากหลักฐานในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ว่าได้ส่งทูตไปเมืองจีน ซึ่งจีนเรียกว่า รัฐหลอหู จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาได้ส่งทูตไปเมืองจีน จีนยังคงเรียกอยุธยาว่า รัฐหลอหู (ละโว้) อยู่เช่นเดิม
จีนมองละโว้และอยุธยาเป็นรัฐเดียวกัน และในเอกสารของล้านนา เช่น ตำนานพระนางจามเทวี หรือ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างลาวล้านนากับเมืองลวะปุระมีความใกล้ชิดสนิทสนม เรียกได้ว่าเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน โดยที่ตระกูลของพระนางจามเทวีเป็นลาวมาสร้างบ้านแปงเมืองที่ลวะปุระ จนถึงศตวรรษที่ 12 พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นไปครองเมืองลำพูนตามคำเชิญของพระฤาษีจากล้านนา แต่หลังพุทธศตวรรษที่ 15 ทัพเขมรจากกรุงยโสธรปุระเข้ามายึดเมืองลวะปุระ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นละโว้ หรือละโว้ปุระ จากนั้นเผ่าพันธุ์ลาวในลวะปุระได้ผสมผสานกับชาวเขมรในยโสธรปุระเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ใหม่เอกสารไทยเรียกว่า ชาวขอม
ในพงศาวดารโยนกอธิบายว่า ที่ลาวเรียกว่า ชาวขอม เพราะว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองรู้จักสร้างบ้านเมืองโดยมีการสร้างกำแพงศิลาหนาแน่น จึงเรียกว่า ขอม คือ ล้อม หรือ กล๋อม ซึ่งอธิบายว่าเป็นชาวลาวที่มีพื้นฐานจากสังคมเกษตรมาก่อน เป็นสังคมลาวที่อยู่กันง่ายๆ มาก่อน แต่เมื่อใดรับอิทธิพลเขมร จึงได้ยกทัพและรุกรานขึ้นไปทางล้านนา ซึ่งในเอกสารล้านนากล่าวถึงการรบพุ่งระหว่างชาวลาวกับชาวขอมผู้บุกรุก
สิงหนวัติกุมารกล่าวถึง การรบพุ่งระหว่างลาวล้านนากับขอมจากลวะปุระ และยึดเมืองลาวได้หลายเมือง จากเรื่องพระเจ้าพรหมเห็นได้ว่า กลุ่มลาวสู้กับขอมไม่ได้ เพราะขอมมีอาวุธที่ทำมาจากเหล็กมีความแข็งแกร่งกว่าอาวุธของลาวที่ทำมาจากทองแดงเป็นส่วนผสม เมื่อพรหมกุมารพยายามนำเหล็กมาหลอมเป็นอาวุธได้สำเร็จ และมีชัยชนะเหนือขอม ทำให้ทัพขอมต้องถอยร่นกลับสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนั้นกลุ่มสิงหนวัติกุมาร อพยพมาสร้างบ้านแปงเมืองที่เมืองกำแพงเพชรและเมืองแปบ จมสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและล่วงไปยังเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นต้นมา
แม้กลุ่มลาวจะเห็นว่าผู้คนในเมืองลวะปุระหรือละโว้เป็นพวกลาวผสมกับเขมรชาวขอม แต่ผู้นำลาวก็ยังยกย่องเมืองละโว้เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่สูงส่งซึ่งยังคงนับถือ และยกย่องเหมือนในสมัยพระนางจามเทวีที่นำวัฒนธรรมไปสู่ล้านนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ในพงศาวดารเหนือกล่าวถึงพระโอรสของผู้นำรัฐลาวไทย ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เขาสมอคอน เมืองละโว้ เช่น พระรามคำแหง พระมังราย และพระงำเมือง ภายหลังทั้งสามพระองค์ได้ขึ้นครองเมืองในรัฐสุโขทัย รัฐล้านนาและรัฐพะเยา ซึ่งเห็นได้ว่าเมืองละโว้ยังมีความสำคัญต่อลาวไทย โดยเฉพาะในแง่ผู้นำทางวัฒนธรรมที่กลุ่มลาวนำมาใช้เป็นอักษรขอมและวัฒนธรรมด้านอื่นๆของขอม จะเห็นว่าพวกลาวไทยไว้ใจในพวกขอมมากกว่าเขมร โดยที่จริงแล้วเป็นวัฒนธรรมของเขมรแต่ถ่ายทอดต่อให้ขอมและกลุ่มลาวไทยรับมาจากขอมนำมาใช้อีกทอดหนึ่ง
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่พระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดี 1) ได้สถาปนาพระธิดาของเมืองละโว้ เป็นเอกอัครมเหสี และพระราชโอรสจึงมีสิทธิในการขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา การที่ผู้นำรัฐลาวไทยเลือกพระธิดาเมืองละโว้เพราะว่าเมืองละโว้ในขณะนั้น มีอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมเห็นเหมาะสมที่สุด เพราะละโว้ก็เป็นรัฐลาว แต่อย่างไรก็ทำให้รัฐอื่นๆ ของลาวไม่ไว้วางใจอยุธยาอีกต่อไป โดยหาว่าฝักใฝ่ต่อขอมซึ่งมีเขมรหนุนหลัง
ดังนั้น หลังจากที่พระเจ้าอู่ทองเสด็จสวรรคต รัฐสุพรรณบุรีและรัฐสุโขทัย รวมถึงรัฐลาวไทยอื่นๆ วางแผนในการเข้ามายึดราชสำนักอยุธยาและทำได้สำเร็จ เพราะขุนหลวงพะงั่วจากเมืองสุพรรณบุรีเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แม้ราชวงศ์อู่ทองพยายามเข้ามามีบทบาทอีกในราชสำนัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและนั่นคือ ความล่มสลายของกลุ่มละโว้โยธิยาอย่างแท้จริง