“ขนมไทย” มีความสัมพันธ์กับคนไทยอย่างแยกไม่ออก และเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อต่างๆ มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย การทำขนมไทยนั้นมีขั้นตอนหลากหลาย และยังต้องอาศัยฝีมือ ความประณีต ประดิษฐ์ประดอยสวยงาม ด้วยจุดเริ่มต้นจากการทำถวายในวัง ออกมาสู่ชาวบ้าน เป็นการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
สำหรับนิทรรศการ “ย้อนรอย...ขนมไทย” ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมความเป็นมาของขนมไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้ถึงเส้นทางการพัฒนาของขนมไทย ผ่านกาลเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากขนมในวังสู่ชาวบ้าน ไปจนถึงความสัมพันธ์ของขนมไทยกับขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์ขนมไทยสืบต่อไป
ตามรอย…ขนมไทย
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างขนมไทยกับคนไทย ก็คือวรรณคดีมรดกสุโขทัย เรื่องไตรภูมิพระร่วง ซึ่งกล่าวถึงขนมต้ม ที่เป็นขนมไทยชนิดหนึ่งไว้ โดยขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฎข้อความในหนังสือ “คำให้การขุนหลวงวัดป่าประดู่ทรงธรรม” กล่าวว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีที่แห่งหนึ่งภายในกำแพงเมืองเรียกกันว่า “ย่านป่าขนม” หมายถึง เป็นตลาดขายขนมโดยเฉพาะ แต่กล่าวชื่อขนมไว้เพียง ขนมชะมด ขนมกงเกวียน ขนมภิรมถั่ว และขนมสำปะนี
จากหลักฐานยังระบุว่า “ขนมไทย” เฟื่องฟูมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวโปรตุเกสนามว่า “ท้าวทองกีบม้า” หรือ ดอญ่า มารี กีมาร์ (Dona Marie Guimar) ภรรยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (นามเดิม คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีก) ผู้เป็นต้นเครื่องขนมในวัง ได้สอนให้สาวชาววัง ทำของหวานต่างๆ โดยเฉพาะการนำไข่ขาว และไข่แดง มาเป็นส่วนผสมสำคัญ และขนมเหล่านั้นยังได้กลายมาเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน อาทิ ขนมทองหยิบ, ขนมทองหยอด, ฝอยทอง, ขนมผิง, ขนมทองพลุ เป็นต้น
สำหรับคำว่า “ขนมไทย” ได้มีการสันนิษฐานว่า เพี้ยนมาจากคำว่า “เข้าหนม” คำว่า “หนม” แปลว่าหวาน เข้าหนม แปลว่า เข้าหวาน นอกจากนี้ ในภาษาถิ่น จ.นครพนม และลาว มีคำว่า “หนม” เป็นคำกริยา แปลว่า “นวด” เช่น การนวดแป้ง ก็จะเรียกว่า หนมแป้ง และในพงศาวดารเมืองน่าน (ปาระชุมพงศาวดาร ภาค 10 ) และชาวไทลื้อ ก็ปรากฏคำว่า “เข้าหนม” เช่นกัน และอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือ คำว่า “เข้า” เป็นการเขียนแบบโบราณ ในปัจจุบันเขียนว่า “ข้าว” ดังนั้น ข้าวหนม ก็คือ ข้าวที่นำมานวด หรือบดเป็นของหวานนั่นเอง
ภูมิปัญญา....จากวัสดุธรรมชาติ
สร้างสีสัน - ปรุงกลิ่นหอม
ขนมไทย ไม่ใช่แค่ของหวานธรรมดาทั่วไป แต่ยังแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญามากมาย ทั้งเรื่องของสีสันที่ดึงดูดสายตาที่ได้จากการนำวัสดุธรรมชาติรอบตัว เช่น สีเขียว จากใบเตย สีน้ำเงินและสีม่วง จากดอกอัญชัน สีเหลืองจากขมิ้น สีแดง จากกลีบหุ้มผลกระเจี๊ยบ และสีดำ จากกาบมะพร้าวนำไปเผาแล้วนำมาโขลกผสมกับน้ำ จากนั้นนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางหลายๆชั้น
นอกจากสีสันที่สวยงามโดดเด่น และรสสัมผัสที่หวานหอมของขนมไทยแล้ว“กลิ่น” ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทยที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ที่ชื่นชอบรสขนมไทยได้มากขึ้น ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติรอบๆ ตัว อาทิ กลิ่นน้ำลอยดอกมะลิ, กลิ่นดอกกระดังงา, กลิ่นเทียนอบ, กลิ่นใบเตย เป็นต้น
เมื่อเยาวชนอัมพวา ขอสานต่อ “ขนมไทย” พื้นบ้าน
จากกระแสการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก และรสชาติที่ค่อนข้างหวานสำหรับผู้ที่ไม่รับประทานหวาน ทำให้การบริโภคอาจลดลง แต่ความนิยมขนมไทยกับคนไทย ก็ไม่จางหาย เมื่อเยาวชนอัมพวา ขอสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองจากขนมพื้นบ้าน ในโครงการแนวทางการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ขนมพื้นบ้านของนักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนวัดช้างเผือก ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) โดยมีครูกล้วยไม้ คูณขาวเจริญ อดีตอาจารย์โรงเรียนวัดช้างเผือก เป็นหัวหน้าโครงการฯ
ทั้งนี้จากหลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้เด็กจะต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจคือ เด็กส่วนใหญ่ เลือกที่จะเรียนรู้ถึงการทำขนมไทยพื้นบ้าน จากนั้นเด็กต้องเป็นผู้ไปหา “ครูภูมิปัญญาขนมพื้นบ้านท้องถิ่น” เพื่อมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ โดยใช้เวลาในช่วงวันหยุดปิดเทอมหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมากว่า 2 ปี ใช้ศูนย์สาธิตการเกษตร หมู่ 1 ต.บางช้าง อ.อัมพวา เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ โรงเรียนในชุมชน และผู้ปกครอง เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน เพราะเห็นประโยชน์ชัดว่าการถ่ายทอดการทำขนมไทยของชุมชนให้แก่เด็ก จะนำไปสู่การต่อยอดและขยายผลต่อไปในอนาคตได้ดีกว่า เป็นการส่งต่อองค์ความรู้จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ให้เกิดการอนุรักษ์และยังคงอยู่สืบสานต่อไป
ประการสำคัญ โครงการนี้ยังทำให้เด็กได้เปิดใจ และกล้าแสดงออก ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน รู้จักสังเกต ตั้งคำถาม รู้จักคิดวิเคราะห์ และได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ รวมถึงมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักการเอื้ออารีย์ต่อกัน เป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างมาก นอกจากได้ทักษะ และลงมือทำด้วยตนเองแล้ว ยังได้ประสบการณ์จากผู้รู้ คือ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้นำองค์ความรู้และเทคนิคมาสอนมาถ่ายทอดให้อย่างไม่ปิดบัง
ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น...ที่ไม่อมภูมิ
การทำขนมไทยส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัวหรือเครือญาติ เป็นสิ่งที่สั่งสมมายาวนาน เพื่อไม่ให้องค์ความรู้การทำขนมไทยขาดหายไป จึงเกิดการส่งต่อไปยังคนกลุ่มอื่นนอกเครือญาติ ด้วยจิตอาสายินดีสละเวลามาถ่ายทอดการทำขนมไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในฐานะผู้รู้ แม้ไม่ใช่ครู ... แต่คนในชุมชนต่างเรียกว่า “ครูภูมิปัญญาขนมพื้นบ้าน” เช่น ครูวีระ ทับทิมทอง และครูจุฬาลักษ์ สุวรรณโณ
“แม้อาชีพหลักจะเป็นเพียงชาวสวน แต่ไม่อยากให้ความรู้การทำขนมไทยที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นแม่ต้องสูญหายหรือหยุดลงที่ตน จึงยินดีเข้าร่วมโครงการฯ เพราะเกรงว่าในอนาคตขนมไทยจะเริ่มได้รับความสนใจน้อยลง ประกอบกับวัตถุดิบหลักในการผลิตที่ปัจจุบันมีราคาแพงขึ้น และค่านิยมในการบริโภคขนมไทยที่เริ่มลดน้อยลง ทำให้ต่อไปอาจจะไม่เห็นการทำขนมไทยอีก จึงต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจโดยไม่มีการปิดบังสูตรหรืออมภูมิ พร้อมเผยเคล็ดลับการทำขนมไทยจากรุ่นแม่ เพื่อให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมการทำขนมไทยให้คงอยู่สืบต่อไปให้มากที่สุด” ครูวีระ กล่าวฝากทิ้งท้าย
ดังนั้นวิธีการที่ง่ายที่สุด ที่เราทุกคนสามารถร่วมกันอนุรักษ์ขนมไทยไว้ไม่ให้สูญหายก็คือ การหันมา “บริโภคขนมไทย” เพราะเมื่อเราบริโภคมากขึ้น แม่ค้าขนมไทยก็จะมีกำลังใจในการผลิต และยังคงสืบสานขนมไทยไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา