xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังแก้วิกฤติราคายางพาราตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ราคายางพาราที่ผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งเริ่มจากปลายปีที่ผ่านมาที่ราคายางทะยานขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม และทะลุ 150 บาทจนกระทั่งไปสร้างสถิติที่ 170 บาทต่อกิโลกรัมอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางมีฐานะดีขึ้นในชั่วข้ามคืน สร้างปรากฎการณ์รถยนต์ป้ายแดงถูกจองหมดจังหวัด แต่ขณะที่เกษตรกรเพลิดเพลินกับราคายางที่ถีบตัวขึ้นสูงอยู่นั้น ในวันที่ 14 มีนาคม ราคายางที่ทะยอยปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ แต่ไม่มากนัก ก็ตกฮวบลงมาเหลือเพียง 89 บาทต่อกิโลกรัม สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว มีการเทขายยางที่เก็บไว้ เพราะเกรงว่าราคาจะตกลงไปมากกว่านี้ รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา แต่เพียงแค่ 4 วัน ราคายางพาราก็ได้ดีดกลับไปที่ 130 บาทต่อกิโลกรัมอย่างมหัศจรรย์ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแก้วิกฤตินี้ คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องยางพารานั่นเอง

ปรากฏการณ์ 14 มีนาที่ช๊อกชาวสาวนยางพาราทั้งประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่มีเหตุปัจจัยมาจากราคายางพาราที่ทยอยปรับตัวขึ้นมาตลอด ทำให้จีนที่เป็นตลาดรับซื้อยางพาราขนาดใหญ่ เริ่มไม่พอใจกับราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก จึงได้พยายามทุบราคาให้ลงมา และได้จังหวะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางมีความวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง จึงมีการเก็งกันว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย ส่งผลทำให้ผู้เก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า เทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคายางพาราลดลงอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการจากจีนก็เริ่มชะลอการรับมอบยาง เพราะเชื่อว่า ราคาที่กำลังดิ่งลง จะบีบให้ผู้ส่งออกของไทยลดราคายางลงมาด้วย

นอกจากนี้ เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายางพาราผันผวน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จากไทย เมื่อบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นประกาศหยุดดำเนินการชั่วคราวจากผลกระทบสีนามิ ทำให้คาดการณ์ว่าความต้องการยางพาราจะลดลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองได้ส่งผลกับตลาดอย่างรุนแรงในรอบสัปดาห์ดังกล่าว

แต่ในขณะที่ราคาถดถอยลงอย่างผิดปกติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ก็ได้ตัดสินใจเรียกผู้ส่งออกยางพารามาประชุมนอกรอบที่ทำเนียบรัฐบาล ในเย็นวันที่ 14 มีนาคม ที่ราคาตกต่ำอย่างเป็นประวัติการณ์ทันที และมีการประกาศแนวทางแก้ปัญหาไว้ว่า ให้ผู้ส่งออกชะลอการส่งออกยางพาราชั่วคราว จนกว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้น โดยประกาศว่า ราคาที่เหมาะสมควรจะไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัม และที่สำคัญ คือ ได้มีการต่อสายตรงกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้แจ้งกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ว่าให้สนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ส่งออกเพื่อให้สามารถเก็บสต๊อกยางไว้ได้ โดยหัวใจของการต่อสู้กับตลาดยางพาราโลกในครั้งนั้น คือการไม่กำหนดวงเงินในการให้กู้ หรือเท่ากับประกาศเป็นนัยว่ารัฐบาลไทยพร้อมจะสู้แบบไม่อั้นเพื่อไม่ให้ถูกกดราคาลงได้ และไม้ตายที่ทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างจีนต้องยอมแพ้ คือ มีการทำหนังสือถึงประธานาธิบดีอินโดนิเซียและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในนามของรองนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ทั้ง 2 ประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ช่วยเก็บสต๊อกไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และไม่ขายยางพาราในราคาที่ต่ำกว่า 4 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม

เหตุปัจจัยทั้ง 2 อย่าง คือ การออกมาประกาศจุดยืนว่าราคายางพารา ไม่ควรจะต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัมและการพร้อมสนับสนุนเงินกู้โดยสถาบันการเงินโดยไม่จำกัดวงเงินในเย็นวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม ซึ่งได้รับการถ่ายทอดออกไปทั่วโลกโดยสำนักข่าวต่างประเทศ ประกอบกับการได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศอินโดนิเซียและมาเลเซียในการไม่ขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ ทำให้ราคายางพาราที่ตกลงมาเหลือเพียง 89 บาทในวันนั้น ก้าวกระโดดกลับมาที่ 130 บาทต่อกิโลกรัมในชั่วเวลาเพียง 4 วัน ช่วยให้ชาวสวนยางรอดพ้นจากหายนะได้ชั่วข้ามคืน

แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงราคายางพาราตกต่ำและเป็นจุดที่ต้องรีบแก้ไข คือ เกษตรกรผู้ปลูกยางไม่ยอมเก็บสต๊อกสู้ราคา ซึ่งมีผลจากเหตุทางจิตวิทยาที่เกรงว่าราคายางจะตกไปกว่านี้ ทำให้พลังในการต่อรองอาจจะลดต่ำลงไปบ้าง ซึ่งในวิกฤติที่อาจจะต้องเผชิญอีกในครั้งต่อไป การประสานความร่วมมือกับเกษตรกรหรือการสนับสนุนในรูปของกองทุนจะทำให้ช่วยแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น