xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตนิวเคลียร์ยังไม่กระเติ้อง นานาชาติเร่งขนคนออกจากญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ / เอเอฟพี / ซีเอ็นเอ็น – ญี่ปุ่น ส่งเฮลิคอปเตอร์ทหารและรถดับเพลิง ระดมทิ้งและฉีดน้ำหลายสิบตันลงใส่เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ เมื่อวานนี้ (17) อันเป็นความพยายามล่าสุดในการลดอุณหภูมิความร้อนของแกนปฏิกรณ์และแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการหลอมละลาย ขณะที่สหรัฐฯ แสดงความหวาดวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และชาติต่างๆ พากันแนะนำให้พลเมืองของตนหนีห่างจากกรุงโตเกียว ด้านไต้หวันและเกาหลีใต้แจ้งว่าตรวจพบสารกัมมันตรังสีติดมากับผู้โดยสารที่เดินทางออกมาจากญี่ปุ่น ส่วนยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายจากธรณีพิบัติและสึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 1 ศตวรรษของแดนอาทิตย์อุทัยคราวนี้พุ่งสูงเกิน 15,000 รายแล้ว
โทชิมิ กิตาซาวะ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นแถลงวานนี้ (17) ว่า รัฐบาลได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงชนิด 2 ใบพัด “ชีนุก ซีเอช-47” ของกองกำลังป้องกันตนเอง (เอสดีเอฟ) จำนวน 4 ลำ ซึ่งแต่ละลำขนน้ำทะเลปริมาณ 7.5 ตัน บินไปโปรยน้ำลงบนเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของแกนปฏิกรณ์ โดยเฉพาะแกนปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งร้อนจัดและเสี่ยงต่อการหลอมละลาย หรือ เมลต์ดาวน์ มากที่สุด
นอกจากการทิ้งน้ำจากบนอากาศแล้ว กิตาซาวะ ยังกล่าวเสริมว่า รถฉีดน้ำความแรงสูงแบบใช้ปราบจลาจลจำนวน 11 คัน ก็จะเข้าไปฉีดน้ำในเขตโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วย โดยโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า ในช่วงเย็นวานนี้ รถดับเพลิงของกองทัพได้เข้าไปฉีดน้ำรอบอาคารปฏิกรณ์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถฉีดน้ำซึ่งส่งมาโดยสำนักงานตำรวจยังไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติภารกิจใกล้กับพื้นที่โรงงานไฟฟ้าได้ เนื่องจากระดับรังสีที่สูงเกินไป
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและหัวหน้าโฆษกรัฐบาล ยูกิโอะ เอดาโนะ แถลงว่า เวลานี้ยังไม่อาจสรุปผลความคืบหน้าอย่างชัดเจนได้ เนื่องจากอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าปฏิบัติการที่ทำไปนั้นได้ผลหรือไม่
“ตามที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำเรานั้น มันสำคัญมากที่จะต้องให้น้ำภายในบ่อบรรจุแท่งเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่กำหนดไว้เสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถเห็นผลลัพธ์ที่ตามมาในทิศทางบวกได้” เอดาโนะ บอกกับผู้สื่อข่าว
ขณะเดียวกัน บรรดานักวิศวกรต่างก็กำลังเร่งหาทางที่จะกู้พลังงานไฟฟ้ากลับคืนสู่ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้ระบบดังกล่าวสามารถทำงานได้อีกครั้งหลังหยุดทำงานจากผลกระทบธรณีพิโรธขนาด 9.0 และคลื่นยักษ์สึนามิความสูง 10 เมตรจนแกนปฏิกรณ์และแท่งเชื้อเพลิงอุณหภูมิสูงขึ้น
ในช่วงระหว่างที่เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกำลังหาทางหยุดยั้งเหตุเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น อีกด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของหน่วยงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ก็ออกมาเตือนว่า ปริมาณน้ำในบ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วในอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 4 กำลังจะเหือดแห้งลง และก็มีการแผ่กัมมันตภาพรังสีออกมาแล้ว
เกรกอรี แจกซ์โก ประธานกรรมการกำกับด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Regulatory Commission หรือ NRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลวอชิงตัน กล่าวในรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีรอบๆ บ่อหล่อเย็นดังกล่าวอยู่ในขั้นสูงถึงขีดสุด ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตสำหรับคนงานที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจอยู่ในนั้น
“นี่จะเป็นการยากมากๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินที่จะเข้าไปใกล้ตัวเตาปฏิกรณ์ ปริมาณรังสีที่พวกเขาจะได้รับอาจมากถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้นมาก” แจกซ์โก ส่งคำเตือนมาจากกรุงวอชิงตัน
เช่นเดียวกับเอเอสเอ็น หน่วยงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสที่ออกมากล่าวไว้ตั้งแต่วันพุธ (16) ว่า บ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วบนอาคารปฏิกรณ์ 4 อยู่ในภาวะวิกฤตที่น่าวิตกกังวลมากที่สุด
ทั้งนี้บ่อพักแท่งเชี้อเพลิงใช้แล้วซึ่งมีความลึกประมาณ 14 เมตร บรรจุแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วจากเตาปฏิกรณ์ซึ่งอยู่ถัดลงไปชั้นล่าง ทว่าแท่งเชื้อเพลิงเหล่านี้ในบ่อพักคงสามารถแผ่กัมมันตภาพรังสีออกมา หากอุณหภูมิสูงขึ้น
ขณะที่หน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูของญี่ปุ่น ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถยืนยันได้ว่าระดับน้ำในบ่อพักดังกล่าวจะท่วมมิดแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ในวันพุธ (16) โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) บริษัทผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ จะออกมากล่าวว่า บ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วในโรงปฏิกรณ์หมายเลข 4 น่าจะยังมีน้ำหล่อเย็นเพียงพอ
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระบุว่า อุณหภูมิของน้ำที่แช่แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วนั้นโดยปกติจะรักษาให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ด้วยการอาศัยระบบหล่อเย็นภายในซึ่งก็ทำงานโดยแหล่งพลังงานที่มาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทว่าระบบที่มีอยู่ 2 ระบบเกิดหยุดการทำงานลงจากความเสียหายของอาคารปฏิกรณ์หลังเหตุแผ่นดินไหว
ไอเออีเอ ระบุว่า ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมานี้ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระดับอุณหภูมิของน้ำที่แช่แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วในอาคารปฏิกรณ์ 4 หลังจากที่ในวันอังคาร (15) มีรายงานเข้ามาว่าวัดได้สูงถึง 84 องศาเซลเซียส ขณะที่ระดับอุณหภูมิของน้ำในบ่อพักแท่งเชื้อเพลิงของอาคารปฏิกรณ์ 5 และ 6 ได้พุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับ 62.7 องศาเซลเซียส และ 60 องศาเซลเซียส ตามลำดับ จากอุณหภูมิที่วัดได้ในวันอังคารที่ระดับ 60.4 องศาเซลเซียส และ 58.5 องศาเซลเซียส ตามลำดับ
รอเบิร์ต อัลวาเรซ นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบันนโยบายศึกษา และอดีตเจ้าหน้าที่ในกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ กล่าวว่า หากแท่งเชื้อเพลิงซึ่งมีส่วนผสมของวัสดุนิวเคลียร์อย่างยูเรเนียมที่ผนึกอยู่ภายในแท่งโลหะทำจากเซอร์โคเมียมนี้ เกิดร้อนขึ้นมาจากการทำปฏิกิริยากับน้ำที่อุณหภูมิสูง หรือสัมผัสกับอากาศภายนอกเมื่อระดับน้ำหล่อเย็นลดต่ำลง มันจะผลิตก๊าซไฮโดรเจนปริมาณมากออกมา ซึ่งถ้าหากก๊าซดังกล่าวติดไฟ จะส่งผลให้สถานการณ์เข้าขั้น “เลวร้ายอย่างมากๆ”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหวาดผวาเกี่ยวกับปริมาณสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากเตาปฏิกรณ์ 4 แห่งในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ทว่าผลการตรวจวัดระดับสารกัมมันตรังสีในเมืองฟุกุชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว 80 กิโลเมตร พบกัมมันตภาพรังสีปริมาณเพียง 12.5 ไมโครซีเวิร์ตต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งค่าดังกล่าวแม้จะสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่ 0.04 แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับค่ารังสีที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มาก
ด้านความหวาดวิตกของนานาชาติ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินเหมาลำจำนวนมากเพื่อไปอพยพพลเมืองอเมริกันกลับประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้จะมีเจ้าหน้าที่สถานทูตพร้อมครอบครัวของพวกเขาด้วย ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตอเมริกาในกรุงโตเกียวก็ประกาศเตือนให้พลเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 50 ไมล์ (80 กิโลเมตร) รอบโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ให้รีบอพยพหรืออยู่แต่ภายในที่พำนัก
ส่วนทางการสวิตเซอร์แลนด์ก็ให้คำมั่นแก่พลเมืองของตนว่าจะส่งเครื่องบินเหมาลำไปรับพวกเขาทันที หากเครื่องบินพาณิชย์ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางด้านรัสเซียก็มีกำหนดจะเริ่มอพยพนักการทูตและนักธุรกิจของตนออกจากกรุงโตเกียวในวันนี้ (18)
ขณะที่รัฐบาลจีนก็ได้ประสานกับสถานทูตและสถานกงสุลของตนในการเคลื่อนย้ายคนจีนจำนวนหลายพันคนจากหลายเมืองหลายจังหวัดของญี่ปุ่นไปยังกรุงโตเกียวแล้วเพื่อเตรียมอพยพพวกเขาออกจากญี่ปุ่นต่อไป
เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ต่างก็แนะนำให้พลเมืองตนในญี่ปุ่นรีบอพยพออกจากกรุงโตเกียว หรือระงับแผนการเดินทางไปยังตอนเหนือของญี่ปุ่นซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (11)
ส่วนอังกฤษก็แนะนำให้พลเมืองพิจารณาเดินทางออกจากโตเกียวและภาคเหนือของญี่ปุ่น แม้ว่าเจ้าหน้าที่อังกฤษหลายคนระบุก่อนหน้านี้ว่า ระดับกัมมันตภาพรังสียังไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์จนต้องวิตกกังวลกันก็ตาม
ในไต้หวัน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแจ้งว่า พวกเขาได้ตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าปกติเล็กน้อยจากผู้โดยสาร 25 คนที่เดินทางด้วยเครื่องบินจากเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของเกาหลีใต้ก็รายงานว่า พบรังสีสูงผิดปกติในตัวผู้โดยสาร 3 คนที่มาจากญี่ปุ่นเช่นกัน ทว่าระดับรังสีที่พบไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน จึงจะปล่อยตัวพวกเขากลับบ้าน
ด้านความเคลื่อนไหวของสายการบินทั่วโลกเมื่อวานนี้ คาเธย์ แปซิฟิก ได้ลดราคาตั๋วเครื่องบินเที่ยวพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางออกจากแดนอาทิตย์อุทัยมายังฮ่องกง ขณะที่เวียดนาม แอร์ไลนส์ ก็ประกาศว่า พวกเขาจะนำเครื่องบินโดยสารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาให้บริการสำหรับเที่ยวบินระหว่างโตเกียว-ฮานอย โดยที่มีการลดราคาตั๋วแบบกระหน่ำสำหรับชาวเวียดนามที่จะเดินทางกลับประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า สายการบินหลายแห่งก็ได้ประกาศระงับเที่ยวบินไปยังโตเกียวและเมืองอื่นๆ หรือเปลี่ยนเส้นทางการบินเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกัมมันตภาพรังสี
สำหรับตัวเลขยอดผู้เสียชิวิตล่าสุดอย่างเป็นทางการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่า พบศพของเหยื่อเคราะห์ร้ายแล้ว 5,692 ศพ และมีผู้ที่สูญหายไม่ทราบชะตากรรมอีก 9,522 ราย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอาจพุ่งสูงเกิน 15,000 ราย
ขณะที่เกียวโด นิวส์ รายงานโดยอ้างข้อมูลของนายกเทศมนตรีเมืองอิชิโนมากิในจังหวัดมิยางิ เมื่อวันพุธ (16) ระบุว่า จำนวนผู้สูญหายอาจพุ่งถึง 10,000 ราย โดยก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (12) โทรทัศน์เอ็นเอชเค รายงานว่า เฉพาะที่เมืองท่ามินามิซังริกุในจังหวัดมิยางิเพียงแห่งเดียว มีผู้สูญหายถึงประมาณ 10,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น