xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดอีก “คัง” รับญี่ปุ่นอ่วมสุดตั้งแต่ WW2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างการแถลงข่าว วันนี้ (13)
บีบีซี/ซีเอ็นเอ็น/เอเจนซี - ญี่ปุ่นยังคงเผชิญวิกฤตจากผลกระทบของสึนามิและธรณีพิบัติครั้ง ซึ่งถูกบันทึกว่ารุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกคราวนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยังอาจต้องประสบหายนะด้านนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปี เมื่อเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 2 ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหว มีแนวโน้มจะระเบิดตามปฏิกรณ์เครื่องแรก หลังระบบหล่อเย็นภายในแกนล้มเหลว จนอาจทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายและแผ่สารกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงออกมามาก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากธรณีพิโรธครั้งนี้ คาดว่า น่าจะพุ่งสูงเกินหมื่นราย โดยที่นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ออกมายอมรับว่าเป็นช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางด้านกระแสธารน้ำใจจากทั่วสารทิศก็ได้หลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสาย

สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ซึ่งรายงานสดเกาะติดสถานการณ์นับตั้งแต่ที่คลื่นยักษ์สึนามิระลอกแรกถาโถมเข้าใส่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ระบุโดยอ้างตัวเลขการประมาณการของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากมหันตภัยแผ่นดินไหวขนาด 8.9 คราวนี้เฉพาะที่จังหวัดมิยางิเพียงแห่งเดียวอาจจะพุ่งสูงเกิน 10,000 ราย ท่ามกลางปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตที่ยังคงดำเนินไปอย่างไม่ลดละตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (11) ขณะที่ยังมีรายงานการอุบัติของอาฟเตอร์ช็อกขนาดรุนแรงระดับ 7 ขึ้นไปอย่างต่อเนื่องจนสามารถรับรู้ได้ทั่วเกาะฮอนชู

สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ประกาศยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจนถึงช่วงเช้าวันนี้ (13) อยู่ที่ 688 ราย โดยมีผู้สูญหาย 642 คน บาดเจ็บอีก 1,570 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมศพผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 400-500 ศพ ที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยหาดทางตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกเหนือจากวิกฤตด้านผู้เสียชีวิตแล้ว อีกด้านหนึ่ง บรรดาเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นก็ยังต้องเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าไดอิจิในจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว เกิดการหลอมละลายจากความร้อนที่สูงเกินไป โดยนักวิศวกรหลายคนได้หันไปใช้วิธีการสูบน้ำจากทะเลมาช่วยลดอุณหภูมิความร้อนภายในเครื่องปฏิกรณ์ หลังเกิดเหตุการณ์ที่ระบบหล่อเย็นฉุกเฉินของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ภายในโรงไฟฟ้าดังกล่าวเกิดล้มเหลววันนี้ (13) จนรัฐบาลแถลงเตือนว่า อาคารซึ่งสร้างครอบเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะระเบิดตามอาคารของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่บึ้มไปก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (12)

ส่วนประชาชนหลายแสนคนยังคงอพยพและถูกสั่งไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงรัศมีกว้าง 20 ตารางกิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าไดอิจิซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว 240 กิโลเมตร เนื่องจากมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีในระดับที่สูง รวมทั้งยังสั่งให้ชาวบ้านอยู่พ้นจากรัศมี 10 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าวในจังหวัดฟูกูชิมะด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะคลายความหวาดวิตกของประชาชน ด้วยการประกาศว่าจะไม่เกิดเหตุระเบิดซ้ำร้อยดังเช่นที่เกิดขึ้นในวันเสาร์ “มันต่างจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ครั้งนี้เราได้ทำการลดแรงดันและฉีดน้ำเข้าไปลดอุณหภูมิตั้งแต่เนิ่นๆ” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยูกิโอะ เอดาโน กล่าวในการแถลงข่าว

และเมื่อถูกผู้สื่อข่าวยิงคำถามว่า แท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 มีการบางส่วนได้หลอมละลายไปหรือไม่ เอดาโนตอบว่า “มันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเช่นนั้น แต่เราก็ไม่สามารถยืนยันอะไรได้เนื่องจากมันอยู่ในเตาปฏิกรณ์ ทว่าเราก็พยายามแก้ไขมันด้วยข้อสมมติฐานดังกล่าว” เขายังกล่าวด้วยว่าแท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 อาจมีบางส่วนที่ผิดแผกจากรูปเดิมไป ทว่าการหลอมละลายยังไม่น่าที่จะเกิดขึ้น

แต่กระนั้นเอดาโน เตือนว่า “มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดของอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลขที่ 3 นี้ ทว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวแกนปฏิกรณ์”

ขณะที่บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ผู้ได้รับสัมปทานดำเนินการจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกูชิมะ ระบุว่า ระดับสารกัมมันตภาพรังสีรอบๆ โรงไฟฟ้าไดอิจิได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าขีดความปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอันตรายเฉียบพลันต่อร่างกายของมนุษย์

กระนั้นก็ดี เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นรายหนึ่ง ระบุว่า มีประชาชนจำนวน 190 คนที่อยู่ภายในเขตรัศมี 10 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อตอนที่ระดับสารกัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกสู่ชั้นบรรยากาศอยู่ในระดับที่สูง และจนถึงขณะนี้ก็มีผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าปนเปื้อนรังสีแล้ว 22 ราย

ทั้งนี้ อุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าในฟูกูชิมะคราวนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986

วิกฤตด้านพลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังต้องออกมาแถลงว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าครั้งมโหฬาร หลังประชาชนหลายล้านครัวเรือนยังคงไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงร้องขอให้ชาวญี่ปุ่นร่วมกันประหยัดพลังงาน นอกจากนี้คังยังระบุด้วยว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 65 ปีนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า ขณะนี้ประชาชน 5.5 ล้านคนยังคงไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ขณะที่ตึกอาคารรวม 20,800 แห่งพังพินาศ และรถไฟ 4 ขบวนถูกคลื่นซัดหายไป

สำหรับสภาพความเสียหายในพื้นที่รอบๆ เมืองเซนไดที่ระดับน้ำจากสึนามิเริ่มลดลงหรือที่เหือดแห้งไปแล้วนั้น ภาพถ่ายมุมสูงจากเฮลิคอปเตอร์เผยให้เห็นตึกรามบ้านช่อง, รถไฟ หรือแม้แต่เครื่องบินขนาดเล็กที่ล้มระเนระนาดราวกับของเล่น ขณะที่รถยนต์นับร้อยคันถูกกำแพงคลื่นซัดมากองพะเนินกันจนมีสภาพชวนให้คิดว่าเป็นสุสานรถเก่า

ที่เมืองริกุเซนทากะตะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งและเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดแห่งหนึ่ง มีรายงานว่า ยังคงจมอยู่ใต้บาดาล โดยที่ประชาชนกว่า 1,000 คนซึ่งรอคอยความช่วยเหลืออยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งบนเนินเขาก็ได้รับการอพยพแล้ว

ด้านความช่วยเหลือของนานาชาติในรูปของเงินทอง, วัตถุปัจจัย รวมถึงการจัดส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย, แพทย์และพยาบาล ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่วันนี้ (13) โดยกระทรวงการต่างประเทศแดนอาทิตย์อุทัยแถลงว่า จนถึงบัดนี้มี 69 ประเทศและดินแดน และองค์การความช่วยเหลือนานาชาติ 5 แห่งได้เสนอหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่น โดยที่หนึ่งในนั้น ก็คือ นิวซีแลนด์ ประเทศซึ่งเพิ่งประสบแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเมืองไครซ์เชิร์ชเมื่อเดือนที่แล้ว

ในช่วงเช้าวานนี้ เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ ได้เดินทางถึงชายฝั่งญี่ปุ่น เพื่อปฏิบัติภารกิจอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่หน่วยทหารบรรเทาทุกข์ของญี่ปุ่น อาทิ การช่วยเติมเชื้อเพลิงแก่เฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการช่วยขนส่งลำเลียงทหารเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ยังเผยว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยรวม 144 ชีวิตจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ยูเอสเอไอดี) พร้อมสุนัขดมกลิ่น 12 ตัว และอุปกรณ์กู้ภัยอีกรวมน้ำหนัก 150 ตัน จะเดินทางมาถึงเมืองมิซาวาในช่วงบ่ายของวันนี้ (13) เพื่อร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือบนภาคพื้นดิน

นอกจากนี้ กระทรวงดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าของจีน พร้อมด้วยรัฐมนตรีการต่างประเทศหยาง เจี๋ยฉือ ได้ส่งสาล์นแสดงความเสียใจมาให้แก่รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัย รวมทั้งส่งทีมกู้ภัยประสบการณ์สูงรวม 15 คนมาช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิต โดยที่ทีมดังกล่าวได้เดินทางถึงญี่ปุ่นในช่วงเที่ยงวานนี้ ส่วนองค์กรกาชาดจีนก็แถลงว่าจะมอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ญี่ปุ่น 1,000,000 หยวนอีกด้วย

ขณะที่ เควิน รัดด์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าววานนี้ว่า ได้ส่งหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่พร้อมทีมพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและร่วมค้นหาร่างผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์เข้าไปประเมินความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายด้วย

ส่วน อังกฤษ, เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ ก็เตรียมส่งหน่วยกู้ภัยและสุนัขดมกลิ่นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่นเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น