xs
xsm
sm
md
lg

เตาปฏิกรณ์บึ้มรังสีรั่ว ญี่ปุ่นวิกฤตไม่เลิก! ยอดตายพุ่ง1.2หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี/ซีเอ็นเอ็น - สภาพวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นยังคงสาหัสสากรรจ์หลังจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 ในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิ เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก ระดับสารกัมมันตรังสีเพิ่มสูงขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง จนต้องสั่งอพยพคนงานออกจากโรงงาน ขณะที่นานาชาติออกประกาศเตือนให้พลเมืองของตนรีบเดินทางออกจากญี่ปุ่น ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงถึง 12,000 ราย

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ ระบุวานนี้ (16) รัฐบาลญี่ปุ่นได้แจ้งว่า เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่ตัวอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 อีกครั้ง โดยพบเห็นเขม่าควันลอยขึ้นมาเป็นเวลานาน 30 นาทีตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่วานนี้เวลา 5.45 น.(16) ตามเวลาท้องถิ่น (3.45 น. ตามเวลาเมืองไทย) อุบัติเหตุครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นเพียง 2 ชั่วโมงหลังจากที่มีการออกมาแถลงยืนยันว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งแรกในอาคารเตาปฏิกรณ์ 4 จากสาเหตุก๊าซไฮโดรเจนสะสมจนติดไฟก่อนหน้านี้ได้ถูกดับจนมอดแล้วเมื่อตอนเวลา 23.00 น.ของคืนวันอังคาร (15) ตามเวลาที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามภาพสัญญาณจากโทรทัศน์ยังเห็นกลุ่มควันและไอน้ำลอยขึ้นมา ขณะที่บรรดาคนงานกำลังพยายามที่จะใช้เครื่องจักรกรุยทางเข้าไปยังบริเวณอาคารเตาปฏิกรณ์ 4 เพื่อให้รถดับเพลิงผ่านเข้าไปได้

นอกจากเหตุเพลิงไหม้ซ้ำสองในอาคารปฏิกรณ์ 4 แล้ว ยังพบควันขาวลอยโขมงขึ้นมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ในช่วงเช้าวานนี้อีกด้วย โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ยูกิโอะ เอดาโนะ แถลงว่า โครงสร้างตัวครอบเหล็กและคอนกรีตของ “โอ่งบรรจุชั้นแรก” (Primary Containment Vessel)รอบแกนปฏิกรณ์ อาจได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนเมื่อวันจันทร์ (14) ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ทำให้ไอน้ำซึ่งเห็นเป็นควันขาวนั้นลอยออกมาจากรอยแตกของตัว “โอ่ง” ดังกล่าว

ภาพสัญญาณสดช่วงหนึ่งที่ถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์เอ็นเอชเค เมื่อบ่ายวานนี้ เผยให้เห็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงทหารแบบ 2 ใบพัดลำหนึ่ง พยายามจะบินไปยังอาคารเตาปฏิกรณ์ 3 ซึ่งเพดานโหว่เสียหายจากแรงระเบิด เพื่อเทน้ำลงไปลดอุณหภูมิความร้อนของแกนปฏิกรณ์ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า แผนดังกล่าวมีอันต้องพับไปเนื่องจากอาจเป็นเพราะระดับกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้าไดอิจิที่สูงเกินไป

ขณะที่แกนปฏิกรณ์หมายเลข 5 ซึ่งพบปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยนั้น ทางโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) บริษัทผู้ดำเนินงานเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ก็ได้ระบุว่า พวกเขากำลังวางแผนที่จะนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลมาช่วยในการสูบน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว หลังจากระดับน้ำที่แช่แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเริ่มระเหยออกไปตั้งแต่วันอังคาร (15) ถึงแม้ว่าระดับน้ำจะยังคงอยู่เหนือแท่งเชื้อเพลิงก็ตาม โดยไอเออีเอซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเวียนนาระบุว่า ระดับน้ำที่ว่านี้ได้ลดลง 40 เซนติเมตรภายในเวลาเพียงแค่ 5 ชั่วโมง (วัดจนถึงเวลา 21.00 น. ของวันอังคาร) จนเหลือท่วมเหนือระดับปลายบนสุดของแท่งเชื้อเพลิง 201 เซนติเมตร

เท็ปโก ระบุว่า จนถึงขณะนี้เตาปฏิกรณ์ 3 อยู่ในขั้นอาการน่าเป็นห่วงที่สุดและต้องเร่งแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก ส่วนสถานการณ์ของอาคารเตาปฏิกรณ์ 4 ซึ่งเพิ่งเกิดเพลิงไหม้ซ้ำสองไปนั้นก็ยังไม่สู้ดี ขณะที่หลายฝ่ายยังคงหวาดวิตกเกี่ยวกับสุขภาพของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ด้วย หลังจากที่มันระเบิดเมื่อวันอังคารจนสร้างความเสียหายแก่บ่อลดแรงดันไอน้ำและอุณหภูมิความร้อน (Suppression pool) ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่ช่วยในการหล่อเย็นและดูดจับธาตุสำคัญอย่างซีเซียม, ไอโอดีน และสทรอนเทียม

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวเกียวโด ก็รายงานว่า แท่งเชื้อเพลิงภายในแกนปฏิกรณ์หมายเลข 1 ได้รับความเสียหายแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 ก็เสียหาย 33 เปอร์เซ็นต์

ท่ามกลางความหวาดวิตกเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาปริมาณสูงรอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิ หลังอาคารเตาปฏิกรณ์ 4 จากทั้งหมด 6 แห่งเกิดการระเบิด โดยเฉพาะล่าสุดที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำสองกับอาคารปฏิกรณ์ 3 และ 4 เมื่อเช้าวานนี้ ก็ทำให้มีการสั่งเร่งอพยพคนงานและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่โรงงานดังกล่าวอย่างเร่งด่วนตั้งแต่เวลาราว 10.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น (8.40 น. เวลาเมืองไทย) อย่างไรก็ตาม คนงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 50 คนได้กลับเข้าไปทำงานตามเดิมแล้ว หลังระดับรังสีลดลง

บรรดานักวิศวกรต่างกำลังเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อหาทางยับยั้งไม่ให้เตาปฏิกรณ์ซึ่งระบบหล่อเย็นเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวและสีนามิจนแท่งเชื้อเพลิงภายในแกนปฏิกรณ์ร้อนจัดนั้น เกิดภาวะหลอมละลาย หรือ เมลต์ดาวน์ (Meltdown) อันเป็นภาวะเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะส่งให้กัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลแพร่กระจายออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์และผู้สันทัดกรณีหลายคนชี้ว่า ตอนนี้ทางเลือกในการแก้ปัญหาของญี่ปุ่นเริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ และกำลังอยู่ในขั้นความพยายามเฮือกสุดท้ายแล้วในการที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการเมลต์ดาวน์

“นี่เป็นฝันร้ายที่คืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ” ดร. โธมัส เนฟฟ์ นักวิจัยแห่งศูนย์วิชาการนานาชาติของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) กล่าว

ด้านความหวาดผวาของนานาชาติ ทางการฝรั่งเศสได้ออกมาเตือนให้พลเมืองของตนในญี่ปุ่นรีบเดินทางออกนอกประเทศ หรือไม่ก็เดินทางลงใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกกัมมันตภาพรังสีที่ถูกกระแสลมพัดมาจากตอนเหนือของเกาะฮอนชู นอกจากนี้รัฐบาลน้ำหอมยังขอให้ทางบริษัทสายการบินแอร์ฟรานซ์ จัดสรรเครื่องบินโดยสารเพื่อไปอพยพพลเมืองออกจากพื้นที่ประสบภัยด้วย โดยที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงโตเกียว ระบุว่า ตอนนี้เครื่องบิน 2 ลำ กำลังลัดฟ้ามุ่งหน้ามายังเมืองหลวงของแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว

ก่อนหน้านี้เอเอสเอ็น หน่วยงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของแดนน้ำหอมชี้ว่า วิกฤติโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิครั้งนี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับที่ 6 จากทั้งหมด 7 ระดับ โดยเป็นรองเพียงแค่เหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนเมื่อปี 1986 ซึ่งครั้งนั้นถูกยกระดับว่ารุนแรงสูงสุด

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษก็ออกมาแนะนำไม่ให้พลเมืองเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงนี้หากไม่จำเป็นจริงๆ เช่นเดียวกับออสเตรเลียและตุรกี

ทางด้านสายการบินชั้นนำทั่วโลกหลายแห่งต่างทยอยกันออกมาประกาศลดหรือระงับเที่ยวบินไปยังกรุงโตเกียว รวมถึงเมืองที่ประสบภัยตั้งแต่วานนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสายการบินที่ระบุจะเลี่ยงเส้นทางการบินผ่านโตเกียวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล โอเลียรี ผู้แทนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุวานนี้ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นไปยังประเทศต่างๆ แล้ว พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนตั้งอยู่ในความสงบ และหยุดการเผยแพร่ข่าวลือต่างๆ นานาที่จะทำให้เกิดการเสียขวัญ

สำหรับปฏิกิริยาตลาดทุนแดนปลาดิบเมื่อวานนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเริ่มกระเตื้องขึ้นหลังจากร่วงระนาวกว่าพันจุด พร้อมเงินทุนที่ไหลทะลักออกจากตลาดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 620,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงการซื้อขายในวันจันทร์ (14) และวันอังคาร (15) โดยวานนี้มีแรงซื้อกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากจนส่งดัชนีนิกเกอิรีบาวน์กลับขึ้น 488.57 จุด ไปปิดที่ระดับ 9,093.72 จุด คิดเป็น 5.68 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหุ้นโตโยตา มอเตอร์ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.14 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับโซนี่ ที่ทะยานขึ้น 8.78 เปอร์เซ็นต์ ทว่าหุ้นเท็ปโก ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับยังคงอาการร่อแร่ตามเดิม หลังดิ่งลงอีก 24.57 เปอร์เซ็นต์เมื่อวานนี้ จากที่ร่วงระนาว 25 เปอร์เซ็นต์ในการซื้อขายทั้งสองวันก่อนหน้า

ด้านมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมหันตภัยธรณีพิโรธและสึนามิครั้งรุนแรงสุดในรอบ 140 ปีของญี่ปุ่นคราวนี้ซึ่งกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน, ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนกิจกรรมการบริโภคของประเทศนั้น นักเศรษฐศาสตร์ประมาณการคร่าวๆ ว่า ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 10 - 16 ล้านล้านเยน (125,000 - 200,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งนับว่าเสียหายกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบในปี 1995 ถึง 1.5 เท่าเลยทีเดียว

ความเสียหายใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับฐานการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานในญี่ปุ่น ยังจะกระทบกระเทือนต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสินค้าเทคโนโลยีและรถยนต์

ส่วนตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตจนถึงตอนนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า พบศพเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายแล้ว 4,277 ศพ โดยที่อีก 8,194 คนยังคงสูญหายไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ปฏิบัติการกู้ภัยและงานกู้ศพโดยเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ญี่ปุ่นและนานาชาติ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ.
เร่งดับไฟรง.นิวเคลียร์ ตะลึง!พบกัมมันตรังสี โผล่ไต้หวัน-โสมขาว
รอยเตอร์ / เอเอฟพี / ซีเอ็นเอ็น – ญี่ปุ่น ส่งเฮลิคอปเตอร์ทหารและรถดับเพลิง ระดมทิ้งและฉีดน้ำหลายสิบตันลงใส่เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ เมื่อวานนี้ (17) อันเป็นความพยายามล่าสุดในการลดอุณหภูมิความร้อนของแกนปฏิกรณ์และแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการหลอมละลาย ขณะที่สหรัฐฯ แสดงความหวาดวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และชาติต่างๆ พากันแนะนำให้พลเมืองของตนหนีห่างจากกรุงโตเกียว ส่วนยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายจากธรณีพิบัติและสึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 1 ศตวรรษของแดนอาทิตย์อุทัยคราวนี้พุ่งสูงเกิน 15,000 รายแล้ว ขณะที่ไต้หวัน-โสมขาวพบกัมมันตรังสีบนเสื้อผ้าผู้ที่มาจากญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น