xs
xsm
sm
md
lg

รื้อแผนรง.นิวเคลียร์ไทย 6พันคนงานไทยไร้ร่องรอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กระทรวงพลังงานสั่งทบทวนแผนผลิตไฟฟ้า(พีดีพี)ใหม่ เบื้องต้นIAEA ระบุไทยยังไม่มีความพร้อม ล่าสุดชาวจ.อุบลราชธานีรุกคัดค้านใช้พื้นที่จังหวัดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ ก.ต่างประเทศลั่นพร้อมนำคนไทยกลับหมด ด้านทอ.ส่งซี130 สามลำส่งของพร้อมรับคนกลับ

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ไปพิจารณาปรับแผนดีพีพี 2010 (ปี 2553-2573)เพื่อหาแผนรองรับกรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ว่าจะสามารถกระจายเชื้อเพลิงไปสู่ชนิดใด ซึ่งไทยเองก็ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบรายงานจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) และยังขาดความพร้อมหลายด้าน โดยแผนดังกล่าวอาจจะเลื่อนออกไป1-2ปี

ด้านนายณอคุณ กล่าวว่า การรีวิวแผนคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ซึ่งขณะนี้ยังคงตอบไม่ได้ว่านิวเคลียร์จะยกเลิกจากแผนทั้งหมดหรือจะยังคงมีอยู่ไว้บ้าง

สำหรับการดำเนินงานล่าสุด การส่งรายงานความพร้อมการก่อสร้างของไทยอาจต้องล่าช้าออกไปจากเดิมที่คาดว่า IAEA จะส่งกลับมาเพื่อให้มีการปรับแผนภายในวันที่ 31 มี.ค. นี้ เนื่องจาก IAEAอยู่ระหว่างเข้าไปช่วยเหลือญี่ปุ่น แต่การหารือเบื้องต้นทาง IAEA แจ้งว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยยังต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ 2.ข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องมีการเซ็นสัญญาร่วมกันไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถซื้อเทคโนโลยีได้และ 3.การยอมรับของประชาชน

**คนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

น.ส.สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงาน เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า คนอุบลไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้ในพื้นที่อื่นของไทยด้วย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนดังกล่าว

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือรัฐบาลไม่ฟังใคร กรณีญี่ปุ่นน่าจะเป็นบทเรียนให้รัฐได้ทบทวนพีดีพี 2010และโครงการพลังงานนิวเคลียร์และหันมาสนับสนุนและพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีมากมายในไทย รวมทั้งหันมาเน้นนโยบายประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง

รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี ยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 3 ขอให้ทบทวนแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จ.อุบลราชธานี ถึงนายกรัฐมนตรี และยื่น ขอให้ตรวจสอบแผนพีดีพี 2010และแผนการก่อสร้างดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทย ต่อประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ด้วย

**บัวแก้วเผยเตรียมแผนอพยพคนไทย

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ทางสถานทูต ประจำกรุงโตเกียว และสถานกงสุลใหญ่ ประจำโอซาก้า ได้เตรียมแผนอพยพคนไทยไว้แล้ว ทั้งการเคลื่อนย้ายโดยเครื่องบินและเรือมาที่เกาหลี จีนและไต้หวัน ก่อนต่อเครื่องกลับไทย ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย อพยพเฉพาะครอบครัวออกจากกรุงโตเกียวแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ทั้งหมดยังคงปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยต่อไป

**ชวนนท์บินญี่ปุ่น ประสานช่วยคนไทย

วันเดียวกันนี้ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงกรุงโตเกียวแล้ว เพื่อมอบของช่วยเหลือให้คนไทย และชาวญี่ปุ่น และต่อจากนี้จะเดินทางไปเมืองฟุกุชิมะเพื่อรับคนไทย 20 คน มาโตเกียว ทั้งนี้จะเดินทางด้วยสายการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 421 เดินทางถึงสนามบินนาริตะ เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้น เดินทางไปวัดปากน้ำญี่ปุ่น ทันที เพื่อนำอาหาร 200 กิโลกรัม เสื้อกันหนาว และผ้าห่ม 10 ลัง ไปมอบให้วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่พักพิงของคนไทยที่ประสบปัญหาจากเหตุแผ่นดินไหว

**ทอ.ส่งซี130ไปรับคนไทยที่ญี่ปุ่น

น.อ.นิวัติ อินทรวิเชียร ฝ่ายอำนวยการ กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ(ทอ.) กล่าวว่า กองทัพอากาศ จะส่งเครื่องบินซี 130 จำนวน 3 ลำ ไปรับคนไทยที่ญี่ปุ่น โดยจะมีการส่งไป 2 เที่ยว เที่ยวแรกจะส่งไป 2 ลำ ออกเดินทางในวันที่ 17 มี.ค. โดยจะขนเครื่องอุปโภคบริโภคไปด้วย และจะลงมอบของที่สนามบินฮาเนดะ จากนั้นจะไปจอดรอรับคนไทยที่สนามบินเมืองโยโกตะ และจะเดินทางกลับมาในวันที่ 19 มี.ค. ส่วนเที่ยวที่ 2 จะส่งเครื่องบินซี 130 ไป 1 ลำ ออกเดินทางวันที่ 18 มี.ค. โดยเที่ยวนี้จะส่งเครื่องเปล่าไปรับคนไทยโดยเฉพาะ และจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 20 มี.ค.

** เช็คสุขภาพคนไทยกลับจากญี่ปุ่นไม่พบผิดปกติ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดให้เคาน์เตอร์ให้คำแนะนำและบริการ ทั้งขาเข้าและขาออก โดยในส่วนขาออกจะดูแลคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการให้บริการไอโอดีนเม็ดฟรี ซึ่งจากการได้สุ่มตรวจสายการบินไทยที่กลับมาจากญี่ปุ่นจำนวน 2 เที่ยวบิน ในวันที่16 มี.ค.ผลการสุ่มตรวจไม่พบว่าผู้โดยสารมีปริมาณรังสี และตั้งแต่เวลา 24.00 -06.00 น.วันที่ 17 มี.ค.มีเที่ยวบินที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น 9 เที่ยวบิน มีคนไทยทั้งหมด 550 คน ปรากฏว่ามีผู้มาปรึกษาที่เคาน์เตอร์ สธ.10 คน ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

**ชี้คนไทยยังไม่จำเป็นต้องกินยาเม็ดไอโอดีน**

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สธ.ได้ติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีกับสธ.ญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนไทยอย่าตื่นตระหนก โดยในส่วนของทีมแพทย์ไทยซึ่งขณะนี้ปฏิบัติงานอยู่ที่วัดปากน้ำ จังหวัดชิบะ ได้ตรวจสุขภาพคนไทย 6 คนที่อยู่เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ในรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว ไม่พบความผิดปกติจากรังสีแต่อย่างใด ประชาชน ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาเม็ดไอโอดีน

**อย.เผยผลตรวจปลาทะเลจากญี่ปุ่นไม่ผิดปกติ**

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า จากการหารือ ร่วมกับผู้ประกอบนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากญี่ปุ่น 80 ราย เพื่อทำความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการการเฝ้า ระวังอันตรายจากสาร กัมมันตรังสี ที่อาหารปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งได้ประสานให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จะร่วมกันตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งพืช ผัก ธัญญาพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเล มาตรวจสอบ ในรอบการผลิตของวันที่ 15 มี.ค.นั้น ซึ่งจากการตรวจอาหารประเภทปลาทะเล 2 ชนิด....พบว่า ไม่มีความผิดปกติใดๆ

**ห่วงแรงงานไทยในญี่ปุ่นผิดกม.6 พันคน ติดต่อไม่ได้ **

นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผอ.สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่น ว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ติดต่อผู้ฝึกงานทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ฝึกงานตามโครงการ IMM จำนวน 774 คน ผู้ฝึกงานกับบริษัทจัดหางานจำนวน 1,567 คน และผู้ฝึกงานอื่นๆ จำนวน 1,900 คน และแรงงานฝีมือ 2,600 ซึ่งทั้งหมดอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว

อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานมีความกังวลในส่วนของแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ประมาณ 6,000 คน รวมถึงแรงงานที่เดินทางไปด้วยตนเอง จำนวน 6,700 คน เนื่องจากมีแหล่งพำนักและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อที่ไม่ชัดเจน

**เปิดศูนย์สถานกรณีฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ช่วยเหลือ**

สำหรับพื้นที่อันตรายซึ่งเสี่ยงต่อสารกัมมันตรังสีใน 10 เมือง ได้แก่ ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ (เมืองเซนได) ฟุคุซิมะ (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์) อิบารากิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา ทางกระทรวงแรงงานได้ประสานไปยังสถานกงสุลไทยประจำประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้การช่วยเหลือแล้ว นอกจากนี้ได้ยังได้เปิดศูนย์สถานกรณีฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ณ กรุงโตเกียว หมายเลข 81332224101 ต่อ 200 และ 275 อีเมล์ rtetokyo@hotmail.com twitter @rtetokyo

**ชะลอส่งแรงงานไทยฝึกงานที่ญี่ปุ่น**

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานประเมินสถานการณ์ว่า ยังไม่ควรส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานเพิ่มเติม พร้อมสั่งชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปฝึกงานแบบมีรายได้ในประเทศญี่ปุ่น ตามโครงการส่งผู้ฝึกงานไทย ไปฝึกงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (IMM Japan) จนถึงช่วงเดือนเมษายน

**ก.แรงงานเคลียร์ปัญหาแรงงานไทยในญี่ปุ่น**

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือแรงงานไทยในญี่ปุ่นที่ประสงค์เดินทางกลับใน 2 แนวทาง คือ กรณีที่ทำงานยังไม่ครบสัญญาจ้างและเหลืออายุงานจำนวนมาก ก็จะให้เป็นการกลับมาพักชั่วคราว เพื่อรอดุสถานการณ์ ส่วนกรณีที่ทำงานได้กว่าร้อยละ 80 ของสัญญาจ้าง ก็จะให้กลับประเทศโดยไม่ต้องกลับไปทำงานอีก โดยจะได้รับเงินตอบแทนหลังการทำงาน นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือน ในสัดส่วนของการทำงาน

**กำชับตรวจป้ายหวั่นล้มเหตุพายุลมแรง**

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดูแลความปลอดภัยของประชาชน พร้อมทั้งเร่งรัดตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายขนาดใหญ่ เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดพายุฝนลมแรงอาจทำให้ประชาชนได้รับอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งให้สำนักงานเขตเร่งดำเนินแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการก่อสร้างและปิดทางระบายน้ำ เช่น ถนนศรีนครินทร์ จำเป็นต้องเตรียมรับมือกับปัญหาน้ำท่วมขังเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น