xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นสั่งปิดรง.นิวเคลียร์ พบผักเปื้อนรังสีเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสั่งปิดโรงไฟฟ้าปรมาณูเจ้าปัญหา "ฟูกูชิมะ ไดอิจิ" ทางการญี่ปุ่นอิดออดขยายเขตอพยพผู้คนรอบโรงไฟฟ้าให้กว้างออกไปอีก ล่าสุดพบปริมาณสารไอโอดีน-131 เพิ่มลิ่วขึ้นเป็น 4,385 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต ด้าน อย. เตือนนัก ท่องเที่ยว “งดหิ้วผัก-ผลไม้จากญี่ปุ่น” เสี่ยงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี หลัง อย. พบการปนเปื้อน สารกัมมันตรังสี ในผักอูโด้ที่นักท่องเที่ยวซื้อติดมือกลับไทย ส่วน กมธ.สธ. ยัน ไม่มีกัมมันตรังสีในไทย

นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่น ระบุวานนี้(31มี.ค.)ว่า จะต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้าปรมาณู ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่กำลังก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อันย่ำแย่สาหัส ทว่าทางการแดนอาทิตย์อุทัยกลับแสดงอาการอิดออดไม่ต้องการขยายเขตอพยพผู้คนรอบโรงไฟฟ้าให้กว้างออกไปอีก ตามที่หน่วยงานชำนัญพิเศษของสหประชาชาติออกมาเสนอแนะ ภายหลังตรวจพบรังสีระดับน่าห่วงในหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างออกมา 40 กิโลเมตร ทางด้านน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้าอัมพาตแห่งนี้ ก็พบปริมาณสารไอโอดีน-131 เพิ่มลิ่วขึ้นเป็น 4,385 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจจะถือเป็นข่าวดีได้ก็คือ การที่ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส มาเยือนกรุงโตเกียวเมื่อวานนี้ นับเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางมายังญี่ปุ่นตั้งแต่ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนอาทิตย์อุทัยในวันที่ 11 มีนาคม แล้วติดตามมาด้วยวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 250 กิโลเมตร

ทั้งนี้ผู้นำฝรั่งเศส ซึ่งมีฐานะเป็นประธานของกลุ่ม 20 ชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) วาระปัจจุบัน ใช้โอกาสนี้ เสนอว่าฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพวกเจ้าหน้าที่ด้านนิวเคลียร์ของกลุ่มจี20 ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อปรับปรุงยกเครื่องบรรทัดฐานและมาตรการต่างๆ ในด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์กันเสียใหม่ โดยที่นายกรัฐมนตรีคังของญี่ปุ่น ก็ได้แสดงความสนับสนุน “เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติภัยเช่นนี้ขึ้นมาอีก มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์ของเรากับทั่วโลกอย่างถูกต้องแม่นยำ” เขากล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับซาร์โกซีภายหลังการหารือ

ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า คังซึ่งไปพบปะเจรจากับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ได้กล่าวออกมาอย่างชัดเจนว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ จะต้องถูกถอนใบอนุญาตและปิดดำเนินการ

อันที่จริงได้มีเจ้าหน้าที่หลายรายพูดอย่างอ้อมๆ มาก่อนแล้วว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะต้องถูกปลดเกษียณ ทันทีที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะเสถียร ขณะที่ สึเนฮิซะ คัตสึมาตะ ประธานบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ออกมายอมรับในวันพุธ(30) ว่า เตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องจากจำนวนทั้งสิ้น 6 เครื่องของฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักนั้น แทบไม่มีโอกาสเอาเลยที่จะกลับมาใช้งานได้อีก และคงจะต้องปิดไป แต่เขายังแสดงความหวังว่าเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และหมายเลข 6 ที่ไม่สู้เสียหายอะไรนัก น่าจะดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต่อไป

สำหรับสถานการณ์รอบๆ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ เท็ปโกแถลงว่า ผลการตรวจวัดระดับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 ในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณใกล้ๆ โรงไฟฟ้า เมื่อวานนี้ พบว่าได้เพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 4,385 เท่าของระดับสูงสุดซึ่งกฎหมายอนุญาต ระดับรังสีในบริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เมื่อวันศุกร์(25) วัดได้ 1,250 เท่าของขีดสูงสุด ต่อมาในวันเสาร์(26) ได้เพิ่มเป็น 1,850 เท่า, แล้วในวันอังคาร(29) เป็น 3,355 เท่า ก่อนจะมาอยู่ที่ 4,385 เท่าเมื่อวานนี้ดังกล่าว แนวโน้มเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากเตาปฏิกรณ์ยังคงไหลลงมหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง

ในอีกด้านหนึ่ง ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่เป็นองค์กรชำนัญพิเศษด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ได้ออกมาแถลงเสนอแนะให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายพื้นที่ซึ่งประกาศให้เป็นเขตอพยพประชาชน

ข้อเสนอแนะนี้เป็นการหนุนหลังสิ่งที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” เคยเรียกร้องเอาไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน อีกทั้งหลักฐานที่ใช้สนับสนุนก็เป็นเรื่องระดับกัมมันตภาพรังสีที่วัดได้จากหมู่บ้านลิตาเตะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประมาณ 40 กิโลเมตร เช่นเดียวกันด้วย โดยกรีนพีซบอกว่า ระดับรังสีที่หมู่บ้านดังกล่าวถือว่าเป็นอันตรายสำหรับชาวบ้านที่ต้องพำนักอาศัยเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ และสตรีมีครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

สำหรับไอเออีเอนั้น เดนิส ฟลอรี หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของไอเออีเอ กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวจากสำนักงานใหญ่ขององค์กรนี้ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่า ระดับรังสีที่พบในหมู่บ้านลิตาเตะ สูงเกินเกณฑ์ที่ถือกันว่าควรต้องสั่งอพยพประชาชน

โดยที่ เอเลนา บูโกลวา ผู้อำนวยการของศูนย์เหตุการณ์และภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ ของไอเออีเอ ระบุว่า วัดกัมมันตภาพรังสีที่หมู่บ้านแห่งนั้นได้ 2 เมกะเบคเคอเรลต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าระดับที่ไอเออีเอแนะนำให้อพยพประชาชน “ราวสองเท่าตัว”

ทั้งนี้ไอเออีเอได้แนะนำญี่ปุ่นให้ “ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบระมัดระวัง และพวกเขาก็แสดงท่าทีว่าเรื่องนี้ได้ถูกนำมาประเมินค่าไปแล้ว” ฟลอรีกล่าว

คำตอบอันชัดเจนจากฝ่ายญี่ปุ่นก็คือ “ในขณะนี้เรายังไม่ได้ไปถึงขั้นมีความเข้าใจว่า จำเป็นที่จะต้องมีการอพยพประชาชนซึ่งอยู่ในบริเวณดังกล่าว เราคิดว่าประชาชนยังคงสามารถพำนักต่อไปได้อย่างสงบ” โยชิฮิโระ สุงิยามะ เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวานนี้

คำพูดของเจ้าหน้าที่ผู้นี้เป็นการพูดย้ำสิ่งที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นที่บอกว่า ยังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งอพยพประชาชนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้เขาจะไม่ปฏิเสธเสียทีเดียวว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อไปก็ได้

“เราจะคอยเฝ้าติดตามระดับของรังสีต่อไปด้วยความระมัดระวังภัยอย่างสูงยิ่งขึ้น และเรามีเจตนารมณ์ที่จะลงมือปฏิบัติการในทันทีเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมา” เขากล่าว

ในเวลานี้ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้พื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ในวงรัศมี 20 กิโลเมตร เป็นเขตที่ประชาชนต้องอพยพออกไป และผู้ที่อยู่ในวงรัศมีระหว่าง 20-30 กิโลเมตร ควรที่จะโยกย้ายออกเช่นกัน แต่ยังไม่ถือเป็นเขตอพยพ เพียงแต่ถ้าจะอยู่ต่อก็ให้อยู่แต่ภายในอาคาร ถึงแม้มีหลายๆ ฝ่ายเสนอแนะไว้ก่อนหน้านี้ เช่นสหรัฐฯได้มีคำชี้แนะพลเมืองและกำลังทหารของตนซึ่งมาช่วยเหลือการกู้ภัยบรรเทาทุกข์คราวนี้ ต้องอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ในรัศมี 80 กิโลเมตร ทว่าฝ่ายโตเกียวก็ยืนยันตลอดมาว่ายังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะต้องมีการขยายพื้นที่อพยพ

เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่กลาโหมหลายคนของสหรัฐฯแจ้งต่อสำนักข่าวเอเอฟพีว่า กำลังทหารนาวิกโยธินอเมริกันราว 150 คนที่อยู่ใน “กองกำลังตอบโต้เหตุทางเคมีและชีวภาพ” กำลังถูกส่งมายังญี่ปุ่นโดยจะมาถึงในวันนี้(1เม.ย.) ถึงแม้ยังไม่มีแผนการใดๆ ที่จะใช้ทหารเหล่านี้เข้าร่วมในภารกิจฉุกเฉินเพื่อทำให้โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ กลับคืนสู่ภาวะเสถียร

เจ้าหน้าที่เหล่านี้บอกด้วยว่า นาวิกโยธินพวกนี้จะไม่ผ่านเข้าเขตรัศมี 50 ไมล์ (80 กิโลเมตร) รอบโรงไฟฟ้า

**พบผักเปื้อนรังสีถึงไทยแล้ว
 

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการ-อาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้า จากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 ณ ด่านอาหารและยาทุกแห่ง
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 อย. ได้ตรวจนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้ซื้อ “ผักอูโด” กลับมารับประทาน จำนวน 1 กิโลกรัม ผลการตรวจพบไอโอดีน I-131 ปริมาณ 12.92 เบคเคอเรล/กิโลกรัม(Bq/Kg.) ซีเซียม-134 (Cs-134) ปริมาณ 3.50 เบคเคอเรล/กิโลกรัม (Bq/Kg.) และซีเซียม-137 Cs-137) ปริมาณ 5.12 เบคเคอเรล/กิโลกรัม (Bq/Kg.) จึงได้อายัดทั้งหมด แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. ขอให้ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นงดนำเข้าผัก-ผลไม้ เพราะอาจเสี่ยงการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในช่วงเวลานี้

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จนกระทั่งถึงวันนี้ (31 มี.ค. ) อย. ได้เก็บตัวอย่างอาหารให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจหาสารกัมมันตรังสีจาก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแล้ว จำนวน 139 ตัวอย่าง ได้รับผลวิเคราะห์ล่าสุดวันนี้ เวลา 12.30 น. จำนวน 122 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ”

ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภควางใจในการดำเนินงานของ อย. ซึ่งจะเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือผู้นำเข้าให้ระมัดระวังการนำเข้าอาหารจากเกาะฮอนชู โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่ง อย.จะเก็บตัวอย่างทุกรายการ รวมทั้งขอให้ผู้นำเข้า ชะลอการจำหน่าย/กระจายสินค้าเหล่านี้ จนกว่าจะได้รับผลตรวจแจ้งจาก อย.

สำหรับอาหารทะเล อย. จะสุ่มตัวอย่างเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย. จะรายงานผลการตรวจวิเคราะห์และสถานการณ์ความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ผ่านทุกสื่อ รวมทั้ง เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และ Social Media: Facebook: Fda Thai และ Twitter: FDAthai อย่างต่อเนื่อง

***กมธ.สธ. ยัน ไม่มีกัมตรังสีใน ปท.
 

วานนี้(31 มี.ค.) ที่รัฐสภา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระแสความกังวลจากกรณีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลที่ประเทศญี่ปุ่น ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยว่า คณะกรรมาธิการจึงได้มีการเชิญสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติและสำนักงานอาหารและยาเข้าชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ ซึ่งพบว่าผลการตรวจสอบรังสีแกรมม่าในอากาศตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา จากทั้ง 7 สถานี คือ ขอนแก่น สงขลา กรุงเทพมหานคร ระนอง ตราด อุบลราชธานี และพะเยา พบว่ารังสีดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า ด้านสำนักงานอาหารและยา ได้ชี้แจงว่า การเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นำ 122 ตัวอย่างมาวิเคราะห์สารปนเปื้อนในอาหาร พบว่า ตั้งแต่วันที่ 16 - 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ไม่พบสารปนเปื้อนใด ๆ ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งที่พบก็มีเพียงมันเทศ 1 รายการ ที่พบว่ามีสารเจือปน โดยได้สั่งอายัดเพื่อนำสินค้าดังกล่าวไปทำลายแล้ว อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การตรวจสอบยังคงดำเนินการต่อไปตลอด เพื่อเฝ้าระวังต่อไป จึงอยากให้ประชาชนสบายใจได้

***คนญี่ปุ่นไม่กินข้าวนอกบ้าน
 

นายกมล สวัสดิ์ชูแก้ว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น(สนร.ญี่ปุ่น) รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น ถึงสถานการณ์โรงงานไฟฟ้าฟุกุชิม่า โดยทางกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเผยระหว่างวันที่ 28-29 มี.ค.54 ว่า ระดับรังสี ณ ประตูด้านตะวันตกโรงไฟฟ้า Dai-ichi มีการขึ้นลงตลอดเวลาแต่มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 54 เวลา 14.00 น. วัดได้อยู่ที่ 117.2 Micro sievert/ชม. และจากการตรวจตัวอย่างดินจำนวน 5 จุดรอบโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 22 มี.ค.54 พบสารพลูโตเนียมไอโซโทป ซึ่งสารน่าจะมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และยังถือว่าอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตราย ทั้งนี้หากกรณีการแพร่รังสีมีความรุนแรงกว่ามาตรฐาน ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว( สอท.) มีแผนอพยพคนไทยทั้งหมดมายังโตเกียวก่อน ทาง สนร.ญี่ปุ่นได้เตรียมพร้อมรายชื่อคนงานทั้งหมดไว้แจ้งให้ทราบหากจำเป็นต้องมีการอพยพและกลับไทย

ข้อมูลจำนวนคนไทยในญี่ปุ่นจากสถิติสำนักตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น มีคนไทย 40,957 คน เป็นคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตภาพรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ โทชิงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) จำนวน 19,547 คน และเป็นคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตภาพรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน และข้อมูลสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนพบว่ามีนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

ส่วนการดูแลช่วยเหลือแรงงานไทย ณ วันที่ 31 มี.ค.54 พบว่าแรงงานไทยในญี่ปุ่นประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานที่มีสัญญาจ้างจำนวน 6,841 คน เป็นแรงงานคู่สมรสชาวญี่ปุ่นทำงานชั่วคราวเพื่อหารายได้ 6,700 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย 6,000 คน) ขณะนี้แรงงานที่มีสัญญาจ้าง 6,841 คน ยังไม่พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง มีจำนวนคนไทยที่เดินทางกลับประเทศระหว่างวันที่ 12 - 27 มีค.. 54 จำนวน 11,466 คน ทั้งนี้การติดตามคนงานและผู้ฝึกงาน ยังตรวจสอบไม่พบคนงานและผู้ฝึกงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีเริ่มมีผลกระทบกับแรงงานไทยในกลุ่มพ่อครัวแม่ครัวร้านอาหารไทยเพราะชาวญี่ปุ่นเริ่มไม่ทานอาหารนอกบ้าน

สำหรับแนวโน้มการลดจำนวนพนักงานนั้นได้ให้คำแนะนำให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างว่าควรเจรจากันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเพื่อการพยุงกิจการไว้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และ สนร.ญี่ปุ่น ยังคงปฏิบัติงานปกติ ณ กรุงโตเกียว ติดต่อได้ที่ 03-6272-5021-2 ซึ่งมีแรงงานผู้ฝึกงานและคนไทยโทรศัพท์มาสอบถามสถานการณ์พร้อมขอทราบมาตรการการให้ความช่วยเหลือของสถานทูตกรณีมีการแพร่กระจายของรังสีรุนแรงเป็นระยะ ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น