xs
xsm
sm
md
lg

มองการเมืองและสังคมรอบบ้าน สู่การออกแบบรูปแบบการปกครองสำหรับสังคมไทย (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หากพิจารณารูปแบบการปกครองของประเทศต่างๆในเอเชียจะเห็นว่ามีความหลากหลายและมีร่องรอยการรับแนวความคิดมาจากตะวันตกมาแทบทั้งสิ้น เราสามารถจำแนกเป็นกลุ่มหลักๆ 4 กลุ่มคือ กลุ่มแรกใช้ระบอบรัฐสภาแบบอังกฤษ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย และกัมพูชา เป็นต้น กลุ่มที่สองใช้ระบอบประธานาธิบดีที่มาจาการเลือกตั้ง เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น กลุ่มที่สามใช้ระบอบสภาประชาชนที่ชี้นำจากพรรค เช่น ประเทศจีน ลาว เวียตนาม และเกาหลีเหนือเป็นต้น และ กลุ่มที่สี่ใช้ระบอบเผด็จการทหาร เช่น พม่า

หากพิจารณาความสำเร็จของแต่ละประเทศโดยใช้เกณฑ์อย่างกว้างๆ 4 เกณฑ์หลัก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ การมีเสถียรภาพทางการเมือง ความสมานฉันท์ของสังคม และเสรีภาพทางการเมืองและสังคม ประเทศที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จในการนำระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาใช้มากที่สุดคือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ มาเลเซีย ใช้ระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขณะที่สิงคโปร์มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ทั้งสองประเทศนี้การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง การเมืองมีเสถียรภาพสูงและรัฐบาลมีสมรรถภาพในการบริหารประเทศ การทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองมีต่ำ และสังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันค่อนข้างสูง

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศทั้งสองประสบความสำเร็จคือ ในช่วงยุคของการสร้างระบอบนั้นได้รับมีการวางระบบนิติรัฐนิติธรรมจากประเทศอังกฤษ ประกอบกับผู้นำของประเทศมีลักษณะเป็นรัฐบุรุษ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเจตจำนงจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ และที่สำคัญคือมีคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ตัดสินใจเชิงนโยบายและการปฏิบัติการในการบริหารประเทศเป็นไปโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีน้อย และไม่สร้างความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม

แต่ประชาชนในประเทศทั้งสองมีเสรีภาพทางการเมืองต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานของประเทศตะวันตก และก็มีเสรีภาพทางสังคมต่ำเช่นเดียวกันเพราะว่ามีจารีตประเพณีและวัฒนธรรมกำหนดบรรทัดฐานและแนวทางปฏิบัติทางสังคมที่ค่อนข้างเคร่งครัด กรณีมาเลเซีย เป็นผลมาจากวัฒนธรรมอิสลาม และกรณีสิงคโปร์เป็นผลมาจากวัฒนธรรมแบบขงจื้อ

ประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย เป็นประเทศที่มีความสำเร็จรองลงมา โดยญี่ปุ่นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขณะที่อินเดียมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ญี่ปุ่นมีความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้ค่อนข้างสูง ตัวระบอบการเมืองมีเสถียรภาพ แต่ตัวรัฐบาลมีเสถียรภาพต่ำมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง และมีนักการเมืองบางส่วนที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวเรื่องการทุจริตและเอื้อประโยชน์แต่พวกพ้อง แก่งแย่งอำนาจจนเป็นที่เอือมระอาของประชาชน พลเมืองประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้มีวินัยอย่างสูง มีเสรีภาพทางการเมืองสูง แต่มีเสรีภาพทางสังคมต่ำเพราะสังคมมีจารีตประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นบรรทัดฐานควบคุมพฤติกรรมของผู้คนค่อนข้างเข้มงวด

ส่วนอินเดียมีความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ระบบวรรณแม้ว่าจะได้รับการยกเลิกไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติของการดำรงชีวิตจริงก็ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย มีคนยากจนจำนวนมาก ระบอบการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองต่างๆเกิดขึ้นก็เป็นความขัดแย้งภายในระบบ ส่วนรัฐบาลก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพพอสมควร แต่สังคมมีลักษณะค่อนข้างแตกแยก มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาปะทุขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม และศาสนาซิกส์ และการเคลื่อนย้ายสถานภาพทางสังคมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

อินเดียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองสูงมาก มีการอนุญาตให้มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองตามแนวคิดและอุดมการณ์ที่หลากหลาย แต่ในอีกด้านหนึ่งอินเดียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางสังคมต่ำอันเนื่องมาจากความเข้มข้นของความเชื่อทางศาสนาต่างๆที่ยังคงมีอยู่สูงซึ่งประชาชนถูกปลูกฝังและชี้นำการดำเนินชีวิตตามกรอบความเชื่อของแต่ละศาสนาที่ตนเองนับถืออย่างค่อนข้างเคร่งครัด ประเทศไทยและกัมพูชา เป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีความสำเร็จน้อยที่สุดในบรรดาประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งสองประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประเทศไทยพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ทรงอยู่เหนือการเมือง ขณะที่กัมพูชามีราชวงศ์ระดับสูงเข้าเล่นการเมืองในระบบได้

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับปานกลาง สามารถยกระดับรายได้ของประชาชนและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นตามสมควร แต่ระบอบการเมืองและรัฐบาลมีเสถียรภาพค่อนข้างต่ำ มีการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองบ่อยครั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน และมีนักการเมืองที่มีความอื้อฉาวในพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉลจนเป็นที่รู้จักกันของผู้คนทั่วโลก

การทุจริต ฉ้อฉลของนักการเมืองในทุกระดับ ทำให้สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากขึ้นและนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมอย่างกว้างขวาง ประชาชนจำนวนมากในประเทศไทยต่างพากันเบื่อหน่ายและเอือมระอานักการเมือง พวกเขาจึงมีการชุมนุมประท้วงขับไล่นักการเมืองหลายครั้งหลายครา ขณะเดียวกันนักการเมืองก็ได้จัดตั้งมวลชนออกมาสนับสนุนตนเองจนทำให้ความขัดแย้งทางสังคมดูเหมือนขยายตัวออกไป

ประเทศไทยมีเสรีภาพทางการเมืองแม้อาจจะน้อยกว่าอินเดียและญี่ปุ่น แต่ก็มากกว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา ส่วนเสรีภาพทางสังคมนั้นประชาชนชาวไทยดูเหมือนจะมีเสรีภาพมากกว่าทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา เพราะการมีพื้นฐานจากศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล ทำให้การควบคุมทางสังคมมีความเข้มข้นน้อยกว่าศาสนาอื่นๆ แม้สังคมไทยจะมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนที่เป็นหลักทางศาสนาเช่น ศีลห้า แต่ก็มิได้มีการยึดถือกันอย่างจริงจังหรือมีมาตรการทางสังคมที่เข้าไปควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักการเมืองแล้วการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมดูเหมือนเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากพวกเขายิ่งนัก

ด้านประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุด ประชาชนยากจนที่สุดต้องอพยพมาหางานทำในประเทศไทยจำนวนมาก ส่วนระบอบการเมืองแบบรัฐสภาก็เป็นแบบรัฐสภาจอมปลอมตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรักษาและดำรงอำนาจของนายฮุนเซนเท่านั้น มีการใช้อำนาจรัฐทั้งทางกฎหมายและความรุนแรงแบบป่าเถื่อนเพื่อขจัดทำลายล้างคู้แข่งทางการเมืองอย่างเหี้ยมโหดและปราศจากมนุษยธรรม เช่น กรณีจัดการเจ้ารณฤทธิ์ หรือ นายสม รังสี เป็นต้น

เสรีภาพทางการเมืองในประเทศกัมพูชานั้นมีต่ำมาก ประชาชนไม่กล้าเสนอความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะความคิดเห็นที่ขัดแย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ฮุนเซนแล้วเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศกัมพูชา หากมีประชาชนผู้ใดกล้าเสนอความคิดหากไม่ถูกกลั่นแกล้งจนติดคุก ก็อาจหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

จากประเทศต่างๆ 6 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้ระบอบรัฐสภาเป็นแนวทางในการปกครองประเทศมี 4 ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทย และกัมพูชา ส่วนอีก 2ประเทศมีประธานาธิบดีเป็นประมุขคือ สิงคโปร์ และ อินเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมิได้เป็นอุปสรรคใดๆต่อการเป็นประชาธิปไตย ดังที่มีนักวิชาการบางกลุ่มหรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้กล่าวอ้าง

และหากพิจารณาร่วมกับประเทศอื่นๆในเอเชียหรืออาฟริกาซึ่งใช้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราจะพบความจริงว่า ประเทศเหล่านั้นมีปัญหาที่รุนแรงกว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมากนัก เช่น ฟิลิปปินส์ สมัยประธานาธิบดีมาคอส อินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดีซูฮาโต้ อียิปต์สมัยประธานาธิบดีมูบารัก เป็นต้น คนเหล่านี้ล้วนแล้วมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่กลับนำพาประเทศไปสู่เผด็จการ ปิดกั้นเสรีภาพ เข่นฆ่าประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีการฉ้อฉลคอรัปชั่นอย่างแพร่หลาย สร้างความยากจนและความเหลือมล้ำทางสังคมอย่างกว้างขวาง จนประชาชนทนไม่ไหวลุกขึ้นมาขับไล่ เพราะฉะนั้นการสรุปว่าประเทศใดมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย จึงเป็นการสรุปที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นการสรุปที่เจือปนไปด้วยอคติส่วนตนของผู้สรุปมากกว่าความถูกต้องทางวิชาการ

สำหรับรายละเอียดและบทเรียนของประเทศต่างๆ ที่เหลือ ผู้เขียนจะนำเสนอในสัปดาห์ต่อไป และจะกลั่นกรองนำมาเขียนเป็นข้อเสนอสำหรับใช้เป็น ตัวแบบการปกครองของสังคมไทย เพื่อเปิดประเด็นให้เกิดการถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น