ตร.หวั่นเลือกตั้งนองเลือด เรียกประชุมศูนย์บริหารเหตุร้ายแรงสั่งทุกหน่วยหาข่าวคู่ปรับนักการเมือง ส่งตำรวจเจรจาไกล่เกลี่ยป้องกัน คาดโทษเจอเด้งปล่อยปละจนรุนแรง พร้อมสั่งเบนเป้ากดดันนักการเมือง ตัวต้นเหตุ แทนมือปืนเหมือนครั้งก่อนๆ
วันนี้ (8 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผบ.ตร. ด้านป้องกันปราบปรามอาชญากรรม (ปป.) กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ได้เรียกประชุมศูนย์บริหารเหตุการณ์ร้ายแรง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศบร.ตร.) ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ 30 ก.ย.2553 และมีตนเป็นผู้อำนวยการศูนย์ เข้าระงับยับยั้งเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน กทม.อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงนั้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจภูธรทุกภาค สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และสถาบันนิติเวชวิทยาเข้าร่วมประชุม ซึ่งคดีระเบิดที่เกิดจากเหตุรุนแรงเฉพาะในพื้นที่ กทม.มีกว่า 100 คดี ต่างจังหวัดอีก กว่า 20 คดี ซึ่ง ศบร. ตร.ตอนนั้นสามารถคลี่คลายได้หลายคดี แต่ในปี2554 ความรุนแรงเปลี่ยนรูปแบบ โดยเห็นได้จากมีนักการเมืองท้องถิ่นถูกฆ่า พยายามฆ่า โดยใช้อาวุธสงครามหลายคดี เช่น คดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ใน จ.นนทบุรี ปราจีนบุรี และ ราชบุรี แม้จะไม่เกี่ยวข้องกันแต่ล้วนมีมูลเหตุจากความขัดแย้ง ผลประโยชน์ทางการเมืองเหมือนกัน
พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผบ.ตร.มองว่า แนวโน้มอนาคตเหตุลักษณะการฆ่านักการเมือง รวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากในปีนี้จะมีการเลือกตั้ง จึงให้ ศบร.ตร.เป็นตัวขับเคลื่อนระงับยับยั้งเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้น เพราะตั้งแต่มีการกระจายการบริหารปกครองไปยังท้องถิ่น ก็มีแนวคิดต้องการอำนาจ เพื่อสร้างเงินและไปสร้างอำนาจ โดยผู้ที่ต้องการเงินและอำนาจก็มีความพยายามใช้อาวุธร้ายแรงประหัตประหารกันสร้างความไม่เรียบร้อยในบ้านเมือง จึงได้สั่งการให้ทุก บช.ภ.ไปตั้งศบร.ของแต่ละหน่วยให้สอดรับกับ ศบร.ตร.และแบ่งความรับผิดชอบในการสืบสวนหาข่าว หาข้อมูลความเคลื่อนไหว ตลอดจนความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองแต่ละระดับ โดยระดับสถานีตำรวจรับผิดชอบ อบต.ระดับ บก.ภ.จว. รับผิดชอบ อบจ.ขณะที่ บช.ภ.ก็รับผิดชอบกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ขึ้น โดยต้องหาสาเหตุความขัดแย้งใน อบต. อบจ.ให้ได้ เมื่อทราบสาเหตุความขัดแย้งแล้วก็ต้องหาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วให้รวบรวมข้อมูลไว้ จากนั้นให้ปฏิบัติการเชิงรุกกับบุคคลที่มีความขัดแย้ง ทั้งขัดประโยชน์ปมธุรกิจ ปมการเมือง ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าตำรวจพื้นที่ทราบสาเหตุความขัดแย้งอยู่แล้ว ให้ตำรวจเข้าปฏิบัติการ เรียกคู่กรณีมาชี้แจงทำความเข้าใจ ให้ตำรวจช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดก่อความรุนแรง โดย ผบ.ตร.เน้นย้ำให้ ตำรวจต้องเข้าไปจัดการความขัดแย้ง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงตามมา ต้องทำให้ได้เป็นรูปธรรม
“เมื่อก่อนการทำงานไปกดดันที่กลุ่มมือปืน กลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มการเมือง ที่ตำรวจมองว่าสร้างความรุนแรง กดดันทั้งความเคลื่อนไหว ทั้งการเงิน ต่อไปนี้ ตำรวจต้องปรับการทำงานจากสืบสวนก่อนเกิดเหตุทราบว่าใครขัดแย้งกับใครเปลี่ยนเป็นกดดันที่ต้นตอต้นเหตุ โดยมอบหมายให้ผบช.ทุกหน่วย รองผบช.หน่วยที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการออกมาตั้งแต่วันนี้ เพราะความขัดแย้งระดับท้องถิ่นเชื่อมโยงถึงระดับชาติ ถ้าหยุดท้องถิ่นก็หยุดระดับชาติ ต่อไปเราต้องหยุดก่อนเขาจะฆ่ากัน ก่อนจะสูญเสีย โดย ตร.สั่งการให้รีบดำเนินการเพราะสัญญาณการเลือกตั้งเริ่มขึ้น ความขัดแย้งก็เริ่มขึ้นและจะบานปลายไปจนขัดผลประโยชน์หลังการเลือกตั้ง” รองผบ.ตร.กล่าว
ส่วนการประเมินผลการปฏิบัติงานและการลงโทษนั้น พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กล่าวว่า ถ้าหน่วยไหนไม่สามารถระงับยับยั้งได้ ปล่อยให้เกิดเหตุได้อีก ถือว่าบกพร่อง ต้องไปดูว่าที่ได้ทำตามที่สั่งไปหรือไม่ ถ้าทำดีแล้ว ถือว่าไม่บกพร่อง แต่หากมีคดีเกิดขึ้นชาวบ้านเขารู้กันทั่วว่าใครขัดแย้งกับใคร แต่ตำรวจยังปล่อยให้เกิดเหตุอีก ไม่มีข้อมูลไม่มีการเข้าไปจัดการความขัดแย้ง ถือว่าคนนั้นบกพร่อง ผบ.ตร.ก็ต้องพิจารณาปรับย้ายตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องที่ตำรวจกับนักการเมืองท้องถิ่นต้องมีความสนิทสนมกัน ผบ.ตร.ทราบปัญหานี้ดี ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจบางรายก็มีความสัมพันธ์กับนักการการเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางคนก็ไม่ได้สัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองใด เชื่อว่า การแก้ปัญหานี้จะทำได้จึงให้ในส่วนท้องที่เป็นผู้เก็บข้อมูลแล้วระดับจังหวัดเข้าไปจัดการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ส่วนในระดับจังหวัดก็ให้ภูธรจังหวัดเก็บข้อมูล ระดับภาคเข้าไปไกล่เกลี่ย แต่หากระดับใหญ่กว่านั้น ตร.ก็จะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย โดยตนจะลงไปเอง นอกจากนี้ ผบ.ตร.สั่งการเรื่องข้าราชการวางตัวเป็นกลาง หากพบใครไม่เป็นกลางถ้าเป็นตัว ไปถือหางนักการเมือง วางตัวไม่เหมาะสมให้ปรับย้ายทันที แต่หากเป็นข้าราชการสังกัดอื่นให้รายงานผู้บังคับบัญชาปรับย้ายต่อไป
พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมองว่าความขัดแย้งที่รุนแรงมีมากระดับ อบต.ซึ่งพบมากในจังหวัดปริมณฑล รอบ กทม.อย่างเช่น จ.นนบุรี พื้นที่ บช.ภ.1 จ.ปราจีนบุรี ภาค 2 จ.ราชบุรี ภาค 7 เชื่อว่าจังหวัดอื่นก็จะเริ่มขยายความขัดแย้ง ตำรวจต้องรีบหยุด ไม่อย่างนั้นต้องมาคอยสืบหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะ 3 คดีที่เกิดขึ้น เราก็รู้สาเหตุแต่การจะจับกุมใครต้องมีพยานหลักฐาน ขณะนี้ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะหาพยานจับกุมตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ทุกคดีเราเร่งรัดหมด ถ้ามีหลักฐานใครเกี่ยวข้องต้องทำข้อมูลไว้หมด ที่ผ่านมา เราทราบเกือบหมดใครขัดแย้งกับใครแต่ไร้หลักฐาน
ส่วนความคืบหน้าคดีระเบิดสมานเมตตามแมนชั่นที่ จ.นนทบุรี พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กล่าวว่า ก็มีความคืบหน้าแต่ขอเวลาในการทำงาน อีกไม่นานจะจับกุมคนร้ายได้แน่ ขอเวลาก่อน เรามีข้อมูลอยู่แล้ว จะทำให้เร็วที่สุด