xs
xsm
sm
md
lg

เหตุและปัจจัยแห่งชัยชนะ บนเส้นทางการปฏิวัติประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลีออน ทรอตสกี้ นักทฤษฏี และสมาชิกคนสำคัญของพรรคบอลเชวิค เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าความยากจนเป็นสาเหตุของการปฏิวัติแล้ว โลกคงจะเกิดการปฏิวัติอยู่ ตลอดเวลา เพราะ คนส่วนใหญ่ในโลกนี้เป็นคนจน

ความยากจน และความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นพื้นฐานของความไม่พอใจ ชิงชังระบบการปกครอง ที่คุกรุ่นอยู่ในจิตใจของประชาชน แต่ จะแปรอารมณ์ความรู้สึก ที่โกรธแค้นนี้ ให้เป็นการชุมนุมต่อต้านผู้ปกครองตามท้องถนนได้ ต้องมีชนวนที่จะจุดประกายไฟให้ลุกลามออกไปอย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว

มาร์ก อัลมอนด์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ ชื่อ “การลุกขึ้นสู้ของประชาชน - การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบพลิกฟ้า คว่ำ แผ่นดิน ที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลก”เขียนบทความที่กล่าวถึง การปฎิวัติทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ การโค่นล้ม พระเจ้าชาห์ แห่งอิหร่าน มาจนถึงการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักของอียิปต์ โดยเผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ของ บีบีซี

เขาชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันเนื่องมาจากการลุกขึ้นต่อต้านประท้วงของประชาชน ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา มี ตัวเร่งปฏิกิริยา ที่แปรเปลี่ยนอารมณ์ ความไม่พอใจของประชาชนให้กลายเป็นพลังการปฏิวัติได้มากที่สุดคือ ความตาย ที่ เกิดจากการใช้ความรุนแรงของ กลไกรัฐ

บางครั้ง ก็เป็นความตายที่โหดร้าย ดังเช่น เหตุการณ์ ไฟไหม้โรงหนังแห่งหนึ่งในกรุงเตหะราน เมื่อปี 1978 ที่คลอกคนตายนับร้อย และตำรวจลับของพระเจ้าชาห์ แห่ง อิหร่าน ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้วางเพลิง เป็นชนวน ให้คนอิหร่านที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองอยู่แล้ว ลุกฮือขึ้นมาขับไล่รัฐบาล จนในที่สุด ระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยของอิหร่านต้องล่มสลาย และเป็นโอกาสให้ขบวนการอิสลาม ทำการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นรัฐอิสลามาจนถึงทุกวันนี้

บางครั้ง ความตายของคนเพียงคนเดียว ก็สามารถจุดประกายการต่อสู้ให้ลุกลามไปดังไฟลามทุ่งได้ นั่นคือ ความตายของ โมฮัมเหม็ด บูอาซิซิ พ่อค้าขายผักและผลไม้ ชาวตูนีเซีย ที่เผาตัวตายเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว เพื่อประท้วงตำรวจ จนเป็นชนวนให้คนตูนีเซีย ออกมาชุมนุมตามท้องถนน และขับไล่ประธานาธิบดี เบน อาลี ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ เป็นแรงบันดาลใจ ให้ประชาชนในหลายๆประเทศ ในโลกอาหรับ ลุกขึ้นสู้กับผู้ปกครองอยู่ในขณะนี้

แม้แต่ข่าวลือว่า รัฐใช้ความรุนแรง กำจัดผู้ที่อยู่ตรงข้าม ที่ยังไม่มีหลักฐานว่า จริงเท็จประการใด ก็เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การต่อต้านระบบการปกครองได้ เช่น ข่าวลือที่ว่า ตำรวจลับฆ่านักศึกษา 2 คน ที่กรุงปราก ประเทศเชกโกสโลวาเกีย ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1989 ก็ทำให้ การชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงาน เพื่อต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ ที่เรียกกันว่า velvet revolution ยกระดับ และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การโค่นล้มระบบคอมมิวนิสต์ในเชคโกฯ และลามไปทั่วยุโปรตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ความตาย ที่เกิดจากความรุนแรงของอำนาจรัฐ ไม่ใช่สูตรสำเร็จแห่งชัยชนะของการลุกขึ้นสู้เสมอไป เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989 เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวของพลังประชาชนที่ชัดเจน แม้จะมีนักศึกษา และประชาชนที่เสียชีวิตถึง 3,000 คน แต่เติ้งเสี่ยวผิง สามารถวบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ เพราะว่า เขาทำให้คนจีนหนึ่งพันล้านคน มีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก และทหารที่ถูกส่งเข้าไปปราบปรามนักศึกษาที่เทียนอันเหมิน ก็คือผู้ที่ได้รับอานิสงค์จากการปกครองของเติ้ง เสี่ยวผิงด้วย
ในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1998 มีการต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ซึ่งครองอำนาจมา 32 ปีและจะลงรับสมัครเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง นักศึกษา 4 คนถูกยิงตายในการปะทะกับตำรวจ ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ รัฐบาลส่งกำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง มีคนตายมากกว่า 1 พันคน หากเป็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน การใช้ความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อบัลลังก์ของซูฮาร์โต้เลย แต่อินโดนีเซียในปี 1998 ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของประชาชนลดการอุดหนุนอาหาร และเชื้อเพลิง ตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ ความยากแค้น ทางเศรษฐกิจ และการคอร์รัปชั่นที่ระบาดไปทั่ว มีแต่ซูฮาร์โต้ และครอบครัว เพื่อนพ้องเท่านั้นที่รวยขึ้น คนอื่นๆจนลงหมด รวมทั้งผู้ที่เคยให้การสนับสนุนเขา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบการปกครองแบบเผด็จการถึงกาลอวสาน

สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยภายนอก ที่เร่งให้สถานการณ์กาปฏิวัติสุกงอมขึ้น แต่พลังประชาชนจะได้รับชัยชนะหรือไม่นั้น เงื่อนไขภายในของระบอบการปกครองนั้นๆ เป็นปัจจัยชี้ขาด

เงื่อนไขภายในที่สำคัญที่สุดคือ ท่าทีของกลไกอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหารและตำรวจ หากเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จะเป็นผลเสียกับตัวเองมากกว่าผลดี พวกเขาก็จะจงรักภักดี ปกป้องระบบต่อไป ต่อให้พลังประชาชนมากมายขนาดไหน ก็ยากที่จะเอาชนะกองกำลังแห่งรัฐได้ ดังช่น ในกรณีเทียนอันเหมิน

ถ้ากองทัพและตำรวจ ลังเลที่จะสนับสนุนผู้ปกครองคนเดิมต่อไป หรือมีการเสนอผลประโยชน์จากฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง จนทำให้ยอมแปรพักตร์จากผู้มีอำนาจคนเดิม การเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่น ประธานาธิบดีเบน อาลี ของตูนีเซียที่ต้องหนีออกนอกประเทศ หลังจากผู้นำองทัพบอกเขาว่า ทหารจะไม่ยิงประชาชน ท่าทีของกองทัพอียิปต์ ที่ปฏิเสธที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประธานาธิบดีมูบารักต้องลาอออก

แรงกดดันจากภายนอก ก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ในปี 1989 มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีแห่งสภาพโซเวียต ปฏิเสธ ที่จะใช้กองทัพแดง หนุนหลัง ระบบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก เพื่อปราบปรามการชุมนุมต่อต้านของประชาชน ทำให้นายพลทั้งหลายตระหนักว่า การใช้กำลังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ ชอบกดดันพันธมิตรของตนที่เป็นผด็จการ ให้ประณประนอมกับผู้ประท้วง ถ้าไม่ยอมก็จะกดดันให้ลาออกไป

ระบบการปกครอง ที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีผู้นำที่มีอายุมาก มีลักษณะขึงตึง ตายตัว และผุกร่อน เสื่อมโทรม โดยรคร้ายจากภายใน ไม่สามารถรับมือกับการชุมนุมต่อต้านของประชาชน ได้อย่างรวดเร็ว และยืดหยุ่น การปฏิวัติ และการสู้กับการปฏิวัติต้องอึด และฉับไว ทันกับสถานการณ์ ผู้นำที่ชราและดื้อดึง เมื่อเผชิญกับผู้ชุนนุม ซึ่งในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ เป็นคนหนุ่ม ที่ใช้การสื่อสารยุคดิจิตอลเป็นอาวุธ หากไม่ยอมจำนนต่อ ความเปลี่ยนแปลง ก็จะนำพาประเทศเข้าสูวิกฤติ ก่อนที่ตัวเองจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น