xs
xsm
sm
md
lg

พธม.แฉรัฐบาลไม่ช่วย7คนไทย ยื่นปปช.ฟันมาร์ค แม่วีระสิ้นหวังขออภัยโทษเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "แม่-น้องชายวีระ"พบนายกฯ ขอความชัดเจนในการช่วยเหลือ "มาร์ค" อ้างได้ประสานงานช่วยเหลือทุกทาง และจะพยายามนำตัวกลับมาให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน เผยญาติลงนามขออภัยโทษเรียบร้อยแล้ว พันธมิตรฯ แฉ "ทหารทัพภาค 2" ขายชาติ มีเมียแขมร์ 2 คนที่มีความใกล้ชิด "ฮุนเซน" ระบุได้ดีเพราะผู้นำเขมรผลักดัน จี้"ประยุทธ์-ธวัชชัย" สอบด่วน เข้าข่ายหมากกลที่เพื่อนบ้านวางไว้ "ปานเทพ" เดินหน้ายื่นป.ป.ช. เล่นงานนายกฯ กับพวก ฐานไม่ช่วย 7 คนไทย โฆษกกัมพูชาเผยอินโดฯ นัดประชุมเจบีซี 24 มี.ค.นี้ "ฮุนเซน"ยันไม่ใช้ทวิภาคี ย้ำต้องมีคนกลางร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. วานนี้ ( 8 มี.ค. ) นางวิไลวรรณ สมความคิดและนายปรีชา สมความคิด มารดาและน้องชายนายวีระ สมความคิด ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) ภายหลังการประชุมรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือเรื่องการช่วยเหลือนายวีระ โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมหารือ ซึ่งใช้เวลาในการหารือประมาณครึ่งชั่วโมง

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การช่วยเหลือนายวีระ มีการดำเนินการอยู่หลายทาง และที่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เราก็จะพยายามช่วยเหลือ ส่วนผลเรื่องสุขภาพของนายวีระ ทางกัมพูชาทราบหรือไม่นั้น ทางกัมพูชาก็ต้องทราบอยู่แล้ว จากการสอบถามนายปรีชาที่เข้าไปเยี่ยม และเคยมีกรณีที่แพทย์จะต้องรับทราบอยู่แล้ว และเราจะแสดงความกังวลเรื่องนี้ไปที่กัมพูชา
เมื่อถามว่าเบื้องต้นจะสามารถนำตัวนายวีระ ออกมารักษาตัวข้างนอกก่อนได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ารัฐบาลจะพยายามประสานงานว่าจะทำอย่างไรให้ นายวีระได้รับดูแลที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าหมายถึงว่า ขั้นตอนนี้ยังไม่ไปถึงขั้นของการอภัยโทษ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ทางญาติเขาทำไปแล้ว เมื่อถามต่อว่าในส่วนของรัฐบาลจะมีช่องทางใดที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทำอยู่ ซึ่งแม่ของนายวีระไม่ได้มีการขออะไรกับทางรัฐบาล ก็เข้าใจกันดีว่าทำอะไรกันอยู่ ทั้งนี้ เรื่องการขออภัยโทษนั้น ทางครอบครัวก็ทำไป แต่ก็มีความสับสนกรณีการขอยื่นอุทธรณ์ของ น.ส.ราตรี พัฒนาไพบูรณ์ ที่ผ่านทางนายการุณ ใสงาม ทีมทนายความเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ และเข้าใจว่า ขณะนี้มีการยื่นขออุทธรณ์กันอยู่

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาจะมีการนำประเด็นของนายวีระมาต่อรองกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มีลักษณะของการต่อรองอะไร เมื่อถามอีกว่าหากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เลิกการชุมนุม จะมีส่วนช่วยให้เกิดการเจรจาดีขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ แต่น่าจะลองพิจารณากันดูแล้วกันว่าจะทำกันอย่างไร ความต้องการเรา คือ ต้องการช่วยคนของเราออกมา

เมื่อถามว่าในสายตาของนายกรัฐมนตรี มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่นายวีระจะได้กลับประเทศไทย นายกฯ กล่าวว่า เราต้องทำให้ได้ และจะพยายามให้เร็วที่สุด และเรื่องของสุขภาพของนายวีระนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องได้รับการดูแลก่อน ซึ่งทางกาชาดสากล ก็จะทำของเขาไป และเข้าใจว่าเขาเพิ่งจะเข้าไปเยี่ยมมา เมื่อถามย้ำว่าญาติของนายวีระ ได้ลงนามขออภัยโทษแล้วใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการเรียบร้อยหมดแล้ว

**"วีระ"งอมโรคติดเชื้อ ไม่ใช่แค่หวัด

นายปรีชา สมความคิด น้องชายของนายวีระ เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ รับปากกับตนว่า จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยนายวีระให้ออกมาเร็วที่สุด ซึ่งตนรู้สึกพอใจที่นายกฯ มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ แต่ตนไม่ทราบแนวทางการดำเนินการ เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ และเป็นวิธีการของทางราชการ

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ตนไม่ขอก้าวล่วง เพราะเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะทำได้ แต่จุดยืนของครอบครัว คือ ต้องการให้มีการขอพระราชทานอภัยโทษ

ทั้งนี้ นายปรีชาให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบนายกฯ ถึงอาการป่วยของนายวีระ ว่ามีอาการป่วยหนัก ไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดา ตามที่นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาระบุ ซึ่งนายธานี พูดออกไปเองโดยไม่เห็นข้อเท็จจริง แต่การที่บรรดาญาติได้ไปพบนายวีระมา ที่เราได้พบได้เห็น คือ เป็นโรคติดเชื้อ

**ทูตไทยขอนำตัว"วีระ"ตรวจสุขภาพ

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ทางการไทยทำหนังสือไปยังกัมพูชา เพื่อขออนุญาตนำตัวนายวีระออกมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล หรือนำแพทย์เข้าไปรักษาที่เรือนจำเปรซอว์ ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้หยิบยกหารือกับผู้ใหญ่หลายคนของกัมพูชา เพื่อให้พิจารณาอนุญาตตามคำขอร้องของฝ่ายไทย

**ยื่นป.ป.ช.ฟันอาญา"มาร์ค"

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (8 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในวันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. ตน และนายเทพมนตรี ลิมปพยอม กรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้เป็นตัวแทนของพันธมิตรฯ และคณะกรรมการฯ ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีอาญาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119-120, 126, 128, 129 และมาตรา 157 ประกอบกับรัฐธรรมนูญมตรา 29, 63 และ 70-71 โดยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกจับกุมโดยทางการกัมพูชาในผืนแผ่นดินไทย พร้อมทั้งยื่นเอกสารข้อมูล 14 รายการ ที่เป็นการพิสูจน์ว่า 7 คนไทย ถูกจับในแผ่นดินไทย เช่น ที่มาของสระน้ำยูเอ็น ที่มีข้อมูลจากทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทหาร ผู้รับเหมา และเจ้าหน้าที่กาชาดสากล รวมไปถึงรายงานของทางต่างประเทศ และวีดิโอคลิป สารคดี ที่เกี่ยวกับค่ายอพยพที่บ้านหนองจาน จ.สระแก้ว

นอกจากนี้ ยังมีการนำเอกสารประกอบในเรื่องของการรุกคืบยึดครองแผ่นดินไทยบริเวณหลักเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ 46-47 ซึ่ง 7 คนไทยถูกจับกุม ทั้งเอกสารของกองกำลังบูรพา ที่มีรายงานถึงการรุกล้ำดินแดนประเทศไทย และการกระทำผิดเงื่อนไขใน MOU 2543 ของฝ่ายกัมพูชา แม้กระทั่งรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ที่ระบุว่า หลักเขตที่ 46-48 ยังสรุปเขตแดนกันไม่ได้ รวมทั้งมีมาตรการที่จะไม่จับคนไทยหรือกัมพูชาขึ้นสู่กระบวนการศาลของ 2 ประเทศ

อีกทั้งยังได้รวบรวมถ้อยคำของหลายบุคคลในรัฐบาลที่สัมภาษณ์ให้โทษแก่ 7 คนไทย โดยการยืนยันว่า 7 คนไทยรุกล้ำเข้าดินแดนกัมพูชา ซึ่งผู้แทนที่ลงนามในคำร้องนี้ประกอบด้วย ตน นายเทพมนตรี และนายตายแน่ มุ่งมาจน 1 ใน 7 คนไทยที่ถูกจับกุม หลังจากนี้จะเริ่มทยอยดำเนินการอีกหลายคดี โดยแยกแต่ละพื้นที่ ที่มีข้อมูลต่างกัน เช่น พื้นที่เขาพระวิหาร ภูมะเขือ วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม เป็นต้น

**มีทหารมทภ.2 ขายชาติให้ฮุนเซน

โฆษกพันธมิตรฯ เปิดเผยอีกว่า ตนได้รับข้อมูลมาล่าสุดว่า ขณะนี้มีการปล่อยปละละเลยให้กัมพูชามายึดครองพื้นที่ เนื่องจากมีนายทหารบางคนมีผลประโยชน์กับทางกัมพูชา จนกระทั่งไม่ทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน โดยการผลักดันทหารกัมพูชาหรือไม่ทำลายถนนที่กองกำลังกัมพูชาข้ามขึ้นสู่ยอดเขาในฝั่งไทย ตามที่พันธมิตรฯ พยายามเรียกร้อง ซึ่งนอกจากปลประโยชน์ต่อกันแล้ว นายทหารคนนี้ยังมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายฮุนเซน ผู้นำกัมพูชาอีกด้วย

โดยเราสืบค้นมาว่า ภรรยา 2 คน ของนายทหารผู้นี้เป็นชาวกัมพูชา คนหนึ่งเป็นบุตรสาวของน้องสาวนายฮุนเซน และอีกคนหนึ่งเป็นบุตรสาวของภรรยาน้อยของนายฮุนเซน โดยคนนี้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์การทำธุรกิจในฝั่งกัมพูชา ในเวลาที่มีการค้าขายโดยเฉพาะน้ำมันที่ข้ามไปฝั่งกัมพูชา มีการคิดหัวคิวลิตรละ 5 บาท ยังไม่นับรวมกับผลประโยชน์อื่นๆ ที่ต้องผ่านนายทหารไทยคนนี้ ซึ่งมีกระแสข่าวว่านายฮุนเซน ต่อสายตรงมาถึงนักการเมืองเพื่อผลักดันให้นายทหารคนนี้ ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
"สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ธรรมดา แต่เป็นเพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เป็นการทำงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องด้วย การกระทำเช่นนี้ ต้องให้ผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ 2 ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ว่ามีคนประเภทนี้อยู่ทัพภาคที่ 2 หรือไม่" นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวอีกว่า การปล่อยให้บุคคลประเภทนี้ไปแสวงหาประโยชน์ โดยที่ไม่ทำการปกป้องอธิปไตยของชาติและมีเจตนาสมรู้ร่วมคิดให้กัมพูชายึดครองประเทศไทยในหลายพื้นที่ ถือเป็นการกระทำที่ต้องถูกย้ายออกจากตำแหน่งให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเปิดชื่อนายทหารคนดังกล่าว และยื่นเรื่องต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ด้วยหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เพียงแต่ระบุได้ว่า เป็นนายทหารอยู่ในกองทัพภาคที่ 2 และมีบทบาทในการค้าขายกับทางกัมพูชา ซึ่งมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ทำแบบนี้ได้ ส่วนเรื่องการตรวจสอบนั้นตนเชื่อว่าไม่เกินความสามารถของพล.อ.ประยุทธ์ และพล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 และหากมีบุคคลประเภทนี้อยู่ก็จะให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีหลักประกันได้เลยว่า คนเหล่านี้จะสามารถปกป้องแผ่นดินไทยได้ เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน และสายสัมพันธ์ลึกซึ้งจากทางกัมพูชา หาก ผบ.ทบ.อยากได้ข้อมูล แค่ส่งคนไปในพื้นที่ดูว่า พ่อค้าต้องจ่ายส่วย หรือหัวคิวให้ใครบ้าง รวมทั้งนายทหารชั้นผู้น้อย ที่มีความอึดอัดมาก

"นายทหารขายชาติคนนี้ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นคนที่ทางกัมพูชาวางหมากเข้ามา ฝ่ายไทยต้องระมัดระวังมากขึ้น ส่วนจะเป็นใคร เชื่อว่า ผบ.ทบ.น่าจะทราบอยู่แล้ว โดยเรื่องนี้ทหารในพื้นที่รู้ดี ว่าอะไรเป็นอะไร ทำให้เขาอึดอัดคับแค้นใจอย่างมากที่ทำอะไรไม่ได้ โดยมีความพยายามเปลี่ยนทีมทำงานในพื้นที่หลายครั้ง โดยเปลี่ยนผู้ที่มีความตั้งใจในการปกป้องแผ่นดินออก แล้วอ้างว่าเพื่อลดแรงกดดันกับทางกัมพูชา" โฆษกพันธมิตรฯ กล่าว

นายปานเทพ ยังได้กล่าวถึงกรณีนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในกัมพูชาว่า รัฐบาลพยายามปัดความรับผิดชอบ โยน 2 ทางเลือกให้แก่ครอบครัว คือ การอุทธรณ์ หรือขออภัยโทษ โดยที่ไม่พูดถึงแนวทางที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ คือข้อตกลงไทย-กัมพูชา ที่นายอภิสิทธิ์ ระบุไว้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2553 ว่า ไม่ว่ากรณีใดก็ไม่สามารถนำ 7 คนไทยขึ้นสู่ศาลกัมพูชา อีกทั้งยังไม่พูดถึงการใช้มาตรการต่อรองจากทั้งการเจรจา มาตรการด้านเศรษฐกิจ และแสนยานุภาพทางการทหาร ที่สามารถทำให้ปล่อยตัว 2 คนไทย อย่างไม่มีเงื่อนไขและไร้มลทิน

**จี้"มาร์ค"ออกมาปกป้องแผ่นดิน

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยในการแถลงข่าวประจำวันต่อสื่อมวลชน ถึงการเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของกลุ่มพันธมิตรฯว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามผลการประชุมของคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เพราะเราเห็นว่าเวลาผ่านมานานแล้ว เหตุการณ์ก็บานปลายขึ้นทุกที จึงจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดปมที่เด่นชัดในการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน

ส่วนกรณีของนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในกัมพูชานั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้พยายามหารือถึงแนวความช่วยเหลือทั้ง 2 คนไทยมาโดยตลอด โดยได้มีการร่างโครงการช่วยเหลือขึ้นมา ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อลงรายละเอียดแล้ว ที่ประชุมก็เห็นว่าในฐานะที่เราเป็นประชาชนธรรมดาคงไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ตั้งใจ เพราะไม่ได้มีอำนาจเหมือนรัฐบาล ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลสามารถให้การช่วยเหลือได้ตลอดเวลา แต่กลับไม่ทำ จนทำให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลนี้ทำงานไม่ได้ และแล้งน้ำใจอีกด้วย

พล.ต.จำลอง กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวนั้นรู้ดีว่า การติดคุกเป็นเรื่องที่ทรมานทั้งกายและใจ แต่ตนเคยแต่ติดคุกในประเทศ ต่างจากคุกกัมพูชาที่ไม่มีมาตรฐานโดยสิ้นเชิง เพราะสภาพความเป็นไปในคุกกัมพูชา ย่ำแย่กว่ามาก จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ซึ่งเราก็ได้พยายามนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของ 2 คนไทย และคนในครอบครัว โดยที่ผ่านมาก็มีการสัมภาษณ์คุณแม่ของนายวีระ เพื่อเล่าถึงความทุกข์ยากของนายวีระ ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านทั้งเอเอสทีวี และเอฟเอ็มทีวี

** รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลวีระ-ราตรี

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริงรัฐบาลมีอำนาจต่อรองให้ทางกัมพูชาปล่อยตัวนายวีระ และน.ส.ราตรี ออกมาได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในฐานะรัฐที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิของพลเรือน โดยไม่ควรปล่อยให้ 7 คนไทยขึ้นสู่กระบวนการศาล ปล่อยจนมีการตัดสินลงโทษออกมารัฐบาลก็ยังไม่ทำหน้าที่เรียกร้องสิทธิให้แก่ทั้ง 2 คน ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งกัมพูชาเองก็เป็นสมาชิกอยู่ ทำให้นายวีระ และ น.ส.ราตรี ไม่มีสิทธิในการพบทนายความ หรือครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

"รัฐบาลจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย เพราะไม่เคยดูแลทำหน้าที่ปกป้องสิทธิพลเรือนของตนเอง การที่จะไปโยนให้ครอบครัวไปดำเนินการเพียงลำพังนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล” นายประพันธ์ กล่าว

**ฮุนเซนยันแก้ไทย-เขมรต้องพหุภาคี

เว็บไซต์ ฟิฟทีนมูฟ เปิดเผยว่า นายเขียว กันหะริด รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารกัมพูชา กล่าวระหว่างการแถลงข่าวหลังการพบหารือทวิภาคีระหว่าง นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เดินทางเยือนกัมพูชา ระหว่างวันที่ 7-8 มี.ค.นี้ และได้พบกับฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยนายเขียว ระบุว่า นายทองสิง ยกย่องรัฐบาลกัมพูชา ที่มีจุดยืนเดียวและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติ ขณะที่ ลาวจะทำอย่างดีที่สุด เพื่อช่วยลดสถานการณ์กัมพูชาและไทย

ด้านฮุน เซนได้กล่าวกับนายทองสิงว่า การรุกรานของไทยบนดินแดนกัมพูชา ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ แต่เป็นแผนของผู้นำระดับสูงของไทย

"กัมพูชาไม่ต้องการก่อสงครามกับประเทศใด แต่มันเป็นพันธกิจที่กัมพูชาจำเป็นต้องตอบโต้การรุกรานนี้" พร้อมกล่าวย้ำว่า หลักการของกัมพูชาคือการเจรจา "พหุภาคี" กับประเทศไทย ในเรื่องพิพาทชายแดนแต่จะเจรจาทวิภาคีกับไทย เพียงเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอื่นๆ เท่านั้น

**อินโดฯเสนอจัดประชุมเจบีซี 24 มี.ค.

นายกอย เกือง โฆษกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ส่งจดหมายเสนอจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือจีบีซี และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ในวันที่ 24 - 25 มี.ค.นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาได้ตอบตกลงแล้ว โดยระบุว่า จะต้องมีประธาน หรือตัวแทนของอาเซียนร่วมด้วย และเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ทั้งไทยและกัมพูชาจะต้องรายงานสรุปผลต่อประธานอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น