ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.ผ่านฉลุย อัดหมื่นล้านเพิ่มราคาประกันข้าว "มาร์ค"สั่งเร่งทำความเข้าใจเกษตรกร ให้ตามที่ขอไม่ได้ เหตุงบมีจำกัด "พาณิชย์"พร้อมตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวตั้งแต่ 16 มี.ค.นี้ เป้า 2 ล้านตัน ผู้ส่งออกค้าน ไม่เห็นด้วยเพิ่มราคาประกัน เพราะทำต้นทุนพุ่ง แข่งขันยาก ด้านชาวนาไม่พอใจ ยังคงเคลื่อนไหว
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (8 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่กำหนดให้เพิ่มราคาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2553/54 ดังนี้ 1.ข้าวหอมปทุม จาก 11,000 บาทต่อตัน เป็น 11,500 บาทต่อตัน 2.ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน เป็น 11,000 บาทต่อตัน และ 3.ข้าวเหนียว 9,500 บาทต่อตันเป็น 10,000 บาทต่อตัน
"ในการประชุมครม. นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานว่าต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรสูงขึ้นจริง จึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาประกันราคาข้าว และราคาดังกล่าวเหมาะสม ไม่กระทบโครงสร้างการประกันรายได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสาเหตุในเรื่องปรับราคาที่อาจไม่ตรงกับข้อเสนอของเกษตรกร แต่ด้วยเหตุผลในแง่งบประมาณที่นำมาปรับราคาประกัน ต้องใช้งบนับหมื่นล้านบาท และจำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างหลักไม่ให้เสียสมดุลด้วย"นายวัชระกล่าว
นอกจากนี้ นายศุภชัย โพธิ์ศุ รมช.เกษตรฯ ได้หยิบยกกรณีข้าวเปลือกเหนียว จากกรณีที่กขช.ปรับเพิ่มราคาประกันข้าวขึ้นอีกตันละ 500 บาท แต่ชาวอีสานที่เพาะปลูกได้ปีละหนึ่งครั้ง ยังไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกับพื้นที่อื่น จึงได้เสนอครม.ว่าหากเป็นไปได้อยากให้ครม.ชดเชยในส่วนของข้าวเหนียว ซึ่งนายกฯ รับทราบและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในลำดับต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการแทรกแซงราคาข้าวตกต่ำโดยการตั้งโต๊ะรับซื้อขององค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.นี้ จนถึงผลผลิตฤดูนาปี 2554/55 ออกสู่ตลาดหรือประมาณเดือนส.ค.2554 ซึ่งจะแทรกแซงราคาส่วนที่ต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลาง คาดว่าราคาแทรกแซงน่าจะอยู่ระหว่าง 8,800-9,000 บาท/ตัน จากปัจจุบันราคาเกณฑ์กลางอยู่ที่ 8,900 บาท โดยมีกรอบเป้าหมายแทรกแซงปริมาณไม่เกิน 2 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้งบประมาณกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีข้าวเข้าโครงการตามเป้าหมาย 2 ล้านตัน เพราะแนวโน้มราคาข้าวทั่วไปไม่น่าจะตกต่ำกว่าเกณฑ์กลาง อาจมีเพียงบางพื้นที่ในภาคกลาง เหมือนอย่างปีก่อนมีข้าวโครงการเพียง 1 แสนตันจากเป้าหมาย 2 ล้านตัน
“ที่ต้องเร่งเปิดจุดรับซื้อ เพราะเกรงว่าช่วงสงกรานต์ อาจมีปัญหาเรื่องการปิดทำการของโรงสี เพราะไม่มีคนงาน อาจมีผลกระทบต่อราคาข้าวในช่วงนั้นลดลง และการส่งออกชะลอตัวจากวันหยุดยาว ทำให้ตลาดหันไปซื้อข้าวเวียดนามที่ได้ราคาถูกกว่าไทยจากการลดค่าเงินด่อง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะต่ำกว่า 8 พันบาท ยกเว้นข้าวที่มีความชื้นสูงๆ อาจราคาเหลือ 7-8 พันบาท"แหล่งข่าว กล่าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มราคาประกันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง เพราะจะยิ่งทำให้ต้นทุนข้าวไทยสูงขึ้น และทำตลาดต่างประเทศยากขึ้น จากปัจจุบันที่ต้นทุนข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งอื่นๆ มาก เช่น เวียดนาม ต้นทุนต่ำกว่าไทยประมาณตันละกว่า 1,000 บาท ที่สำคัญยังมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยมาก รัฐควรหาทางลดต้นทุนให้เกษตรกรจะดีกว่า เพราะจะได้ประโยชน์ระยะยาว แต่การเพิ่มราคาประกัน เป็นเพียงการหาเสียง และเกษตรกรจะได้ประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น
สำหรับราคาข้าวไทยขณะนี้ ข้าวเปลือกตันละ 8,300-8,500 บาท ลดลงเล็กน้อย ส่วนราคาส่งออก ข้าวขาว 5% ตันละ 510 เหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนที่ 520-530 เหรียญสหรัฐ เพราะข้าวเวียดนามกำลังออกสู่ตลาด และผู้ซื้อหันไปซื้อจากเวียดนามแทน ซึ่งราคาเพียงตันละ 450 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ด้านความเคลื่อนไหวของเกษตรกร 6 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง วานนี้ (8 มี.ค.) ได้มีการหารือและได้ข้อสรุปว่า จะส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อาจมีการรวมตัวประท้วงอีกครั้ง ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนา ขณะที่ตำรวจเร่งเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดการจราจรตามปกติ ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีการชุมนุมข้างศาลากลางจังหวัด ที่จ.อ่างทอง เกษตรกรได้ชุมนุมประท้วงที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะย้ายมาประชุมที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาข้าวราคาตกและสินค้าแพง
ส่วนพรรคเพื่อไทย ยังคงออกมาโจมตีรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำ และจะมีการยื่นญัตติแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาในวันนี้ด้วย
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (8 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่กำหนดให้เพิ่มราคาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2553/54 ดังนี้ 1.ข้าวหอมปทุม จาก 11,000 บาทต่อตัน เป็น 11,500 บาทต่อตัน 2.ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน เป็น 11,000 บาทต่อตัน และ 3.ข้าวเหนียว 9,500 บาทต่อตันเป็น 10,000 บาทต่อตัน
"ในการประชุมครม. นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานว่าต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรสูงขึ้นจริง จึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาประกันราคาข้าว และราคาดังกล่าวเหมาะสม ไม่กระทบโครงสร้างการประกันรายได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสาเหตุในเรื่องปรับราคาที่อาจไม่ตรงกับข้อเสนอของเกษตรกร แต่ด้วยเหตุผลในแง่งบประมาณที่นำมาปรับราคาประกัน ต้องใช้งบนับหมื่นล้านบาท และจำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างหลักไม่ให้เสียสมดุลด้วย"นายวัชระกล่าว
นอกจากนี้ นายศุภชัย โพธิ์ศุ รมช.เกษตรฯ ได้หยิบยกกรณีข้าวเปลือกเหนียว จากกรณีที่กขช.ปรับเพิ่มราคาประกันข้าวขึ้นอีกตันละ 500 บาท แต่ชาวอีสานที่เพาะปลูกได้ปีละหนึ่งครั้ง ยังไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกับพื้นที่อื่น จึงได้เสนอครม.ว่าหากเป็นไปได้อยากให้ครม.ชดเชยในส่วนของข้าวเหนียว ซึ่งนายกฯ รับทราบและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในลำดับต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการแทรกแซงราคาข้าวตกต่ำโดยการตั้งโต๊ะรับซื้อขององค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.นี้ จนถึงผลผลิตฤดูนาปี 2554/55 ออกสู่ตลาดหรือประมาณเดือนส.ค.2554 ซึ่งจะแทรกแซงราคาส่วนที่ต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลาง คาดว่าราคาแทรกแซงน่าจะอยู่ระหว่าง 8,800-9,000 บาท/ตัน จากปัจจุบันราคาเกณฑ์กลางอยู่ที่ 8,900 บาท โดยมีกรอบเป้าหมายแทรกแซงปริมาณไม่เกิน 2 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้งบประมาณกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีข้าวเข้าโครงการตามเป้าหมาย 2 ล้านตัน เพราะแนวโน้มราคาข้าวทั่วไปไม่น่าจะตกต่ำกว่าเกณฑ์กลาง อาจมีเพียงบางพื้นที่ในภาคกลาง เหมือนอย่างปีก่อนมีข้าวโครงการเพียง 1 แสนตันจากเป้าหมาย 2 ล้านตัน
“ที่ต้องเร่งเปิดจุดรับซื้อ เพราะเกรงว่าช่วงสงกรานต์ อาจมีปัญหาเรื่องการปิดทำการของโรงสี เพราะไม่มีคนงาน อาจมีผลกระทบต่อราคาข้าวในช่วงนั้นลดลง และการส่งออกชะลอตัวจากวันหยุดยาว ทำให้ตลาดหันไปซื้อข้าวเวียดนามที่ได้ราคาถูกกว่าไทยจากการลดค่าเงินด่อง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะต่ำกว่า 8 พันบาท ยกเว้นข้าวที่มีความชื้นสูงๆ อาจราคาเหลือ 7-8 พันบาท"แหล่งข่าว กล่าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มราคาประกันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง เพราะจะยิ่งทำให้ต้นทุนข้าวไทยสูงขึ้น และทำตลาดต่างประเทศยากขึ้น จากปัจจุบันที่ต้นทุนข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งอื่นๆ มาก เช่น เวียดนาม ต้นทุนต่ำกว่าไทยประมาณตันละกว่า 1,000 บาท ที่สำคัญยังมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยมาก รัฐควรหาทางลดต้นทุนให้เกษตรกรจะดีกว่า เพราะจะได้ประโยชน์ระยะยาว แต่การเพิ่มราคาประกัน เป็นเพียงการหาเสียง และเกษตรกรจะได้ประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น
สำหรับราคาข้าวไทยขณะนี้ ข้าวเปลือกตันละ 8,300-8,500 บาท ลดลงเล็กน้อย ส่วนราคาส่งออก ข้าวขาว 5% ตันละ 510 เหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนที่ 520-530 เหรียญสหรัฐ เพราะข้าวเวียดนามกำลังออกสู่ตลาด และผู้ซื้อหันไปซื้อจากเวียดนามแทน ซึ่งราคาเพียงตันละ 450 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ด้านความเคลื่อนไหวของเกษตรกร 6 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง วานนี้ (8 มี.ค.) ได้มีการหารือและได้ข้อสรุปว่า จะส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อาจมีการรวมตัวประท้วงอีกครั้ง ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนา ขณะที่ตำรวจเร่งเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดการจราจรตามปกติ ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีการชุมนุมข้างศาลากลางจังหวัด ที่จ.อ่างทอง เกษตรกรได้ชุมนุมประท้วงที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะย้ายมาประชุมที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาข้าวราคาตกและสินค้าแพง
ส่วนพรรคเพื่อไทย ยังคงออกมาโจมตีรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำ และจะมีการยื่นญัตติแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาในวันนี้ด้วย