xs
xsm
sm
md
lg

"พาณิชย์"สั่งทำแผนรับมือผู้ผลิตขอขึ้นราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"พาณิชย์"เปิดแผนรับมือสินค้าขึ้นราคา หลังใกล้หมดโปรโมชั่นตรึงราคาสินค้า 31 มี.ค.นี้ แบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่ม พร้อมให้สำรวจปริมาณ กำลังการผลิต และโครงสร้างต้นทุนทุกรายการ หวังใช้รับมือผู้ผลิตขอปรับราคา
นายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปจัดทำแผนรับมือสินค้าเป็นรายสินค้า ซึ่งตามแผนจะแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกสินค้าต้นทุนไม่กระทบ มีสัดส่วนประมาณ 80% เป็นสินค้าทั่วไปหรือสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มสองสินค้าจับตามองเป็นพิเศษ มีสัดส่วน 10% ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องแบบนักเรียน เครื่องเขียน อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น และกลุ่มสาม สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ต้นทุนผลิตสูงขึ้นมาก และปริมาณการผลิตอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค มีสัดส่วน 10% เช่น น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ปุ๋ยยูเรีย นมสด และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนสูงขึ้น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง
ทั้ง 3 กลุ่ม จะแบ่งแผนการดูแลออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกก่อนที่มาตรการขอความร่วมมือจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ให้กรมการค้าภายในทำการสำรวจปริมาณ กำลังการผลิตของสินค้าทั้งหมด และเข้าไปศึกษาโครงสร้างต้นทุนจากผลกระทบทางตรงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น ระยะสอง คือ หลังจากหมดมาตรการขอความร่วมมือ หรือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ให้ทำแผนรองรับระยะยาวด้วยการศึกษาโครงสร้างต้นทุนของการปรับขึ้นค่าแรงงานและต้นทุนอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"หากได้ข้อมูลเหล่านี้ครบถ้วน จะทำให้กระทรวงฯ ทราบว่ารายการสินค้ากลุ่มใดมีต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นเท่าไร และจะใช้ในการพิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาสินค้าได้อย่างถูกต้องในรายการสินค้าที่ยื่นขอมา เพราะนโยบายของรมว.พาณิชย์จะไม่ต่อมาตรการตรึงราคาสินค้า ดังนั้น กรมฯ จะต้องมีข้อมูลโครงสร้างต้นทุนให้ครบถ้วน และเป็นเชิงลึก เพื่อพิจารณาถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย"นายฉัตรชัยกล่าว
นายฉัตรชัยกล่าวว่า รมว.พาณิชย์ ยังได้สั่งการให้กรมการค้าภายในทำการการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร โดยต้องลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงว่ามีผลผลิตสินค้าเกษตรตรงตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ พร้อมกับสำรวจปริมาณการผลิตจากผู้ผลิตสินค้า เช่น น้ำมันปาล์ม คือ สำรวจตั้งแต่ผลผลิตเกษตรกรไปจนถึงโรงกลั่นมีการผลิตน้ำมันปาล์มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรทำแบบเฉพาะหน้า คือ เกิดปัญหาขาดแคลนแล้วลงไปแก้ แต่ต่อไปนี้จะต้องทำงานเชิงรุก ไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้น แต่ต้องจัดหามาตรการป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหา
นอกจากนี้ ให้ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลสินค้า หากหน่วยงานไหนไม่ทำตาม ให้รายการต่อเจ้ากระทรวงนั้น หรือรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลสินค้าเกษตรรายการนั้น พร้อมกับให้จัดระดับการเตือนภัยสินค้าในทุกขั้นตอน พร้อมเปิดเผยต้นทุนสินค้าให้สื่อมวลชนได้รับทราบและจัดทำรายการสินค้าที่ต้นทุนขึ้นเปิดเผยผ่านเว็บไซด์กรมการค้าภายในโดยเฉพาะรายการที่ได้รับการอนุมัติปรับขึ้นราคา เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น