xs
xsm
sm
md
lg

แก้น้ำมันปาล์มเหลว มาร์ค-สุเทพ อย่าโยนพาณิชย์รับผิดฝ่ายเดียว !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

แม้ว่าหากพิจารณาตามตัวเลขที่ผ่านมา คณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่งชาติที่มี รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานได้อนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาถึงสองครั้งรวมกันเกือบ 2 แสนตัน โดยครั้งแรก 3 หมื่นตัน ขณะที่ครั้งที่ 2 อีก 1.2 แสนตัน ซึ่งกำลังนำไปกลั่นตามกรรมวิธีและทยอยออกมาเป็นน้ำมันปาล์มบรรจุขวด บรรจุถุงฯลฯ เพื่อการบริโภค หรือแม้แต่การนำมากลั่นเป็นไบโอดีเซล เป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซล ก็มีสัดส่วนที่เหมาะสม

จากการคำนวณของคณะกรรมการน้ำมันปาล์มฯ ยืนยันว่าการนำเข้าทั้งสองครั้งด้วยปริมาณดังกล่าวจะบรรเทาปัญหาการขาดแคลน ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ราคาปาล์มดิบในประเทศที่กำลังทยอยออกมาตามฤดูกาลตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปตกต่ำลงอย่างแน่นอน

โดยก่อนหน้านี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลงทุนลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับสมาคมชาวสวนปาล์มในภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่มาแล้ว อ้างว่าทุกฝ่ายเข้าใจดี ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากจำนวนโควตาที่แบ่งไปให้โรงงานน้ำมันปาล์มกลั่นออกมาเพื่อนำมาขายให้ชาวบ้านได้บริโภคที่ผ่านมามีการคำนวณกันว่าสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนได้อย่างเพียงพอ เพราะสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์รวมทั้งคณะกรรมการน้ำมันปาล์มฯระบุ ซึ่งปัญหาโดยสรุปก็คือเกิดจากปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงแล้วเวลานี้ปัญหาน้ำมันปาล์มราคาแพงเกินราคาควบคุมขวดละ 47 บาท มีอยู่เกลื่อนเมือง และที่สำคัญปัญหาเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การ “ขาดตลาด” หาซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะมีราคาสูงแค่ไหนก็ตาม ซึ่งสาเหตุมาจากการ “กักตุน” จาก “กลุ่มทุน” โรงงานน้ำมันปาล์ม ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเวลานี้มีการกล่าวหาว่าส่วนใหญ่อยู่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ที่ทำธุรกิจโรงงานน้ำมันปาล์มหลายแห่ง

ที่สำคัญก็คือมีการกล่าวหาออกมาจาก “วงใน” ด้วยกันมีการระบุว่ามีการฟันกำไรกันอย่าง “อำมหิต” นั่นคือมีทั้งการกักตุนเพื่อขายน้ำมันปาล์มในราคาแพง และยังมีการนำเข้าน้ำมัน “ปาล์มเถื่อน” ที่สวมโควตานำเข้ามา ซึ่งพิสูจน์กันได้ยาก และกลุ่มธุรกิจที่ทำได้แบบนี้ก็ต้องเป็นกลุ่มการเมืองที่ชิดกับรัฐบาลเท่านั้น

เป็นลักษณะของการฟันกำไรสองต่อ แต่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เพราะปัญหาน้ำมันปาล์มแพง จะทำให้ราคาสินค้าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านอาหารมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นลูกโซ่ และที่สำคัญก็คือ น้ำมันปาล์มเป็นต้นทุนสำคัญสินค้าสำหรับ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นอาหารที่เป็นที่พึ่งยามยากของคนไทยหลายคน แต่ต่อไปอาจไม่เป็นแบบนั้นอีกแล้ว

นอกจากนี้น้ำมันปาล์มที่นำมากลั่นเป็นน้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารนานาชนิด ทั้งประเภทผัด ทอด ถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญ เมื่อมีราคาแพงก็ย่อมทำให้ราคาอาหารสูงตามไปด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นจนสร้างความเดือดร้อนมานานนับเดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลงไปได้เลย แม้ว่าจะมีการน้ำเข้าถึงสองครั้ง เพื่อหวังว่าจะแก้ปัญหาการขาดแคลนลงได้ มิหนำซ้ำยังลุกลามไปถึงน้ำมันถั่วเหลืองที่ขาดตลาดและราคาแพงตามไปด้วย อย่างไรก็ดีสิ่งที่สังเกตเห็นก็คือความพยายามในการแสดงให้เห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย เป็นหลัก และที่ผ่านมาทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ รองนายกฯ สุเทพ ที่กล่าวโทษออกมาแบบนั้น

โดยเฉพาะ สุเทพ พยายามจะโยนกลองปัดให้พ้นตัวในทำนองว่าเขาในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการน้ำมันปาล์มมีหน้าที่แค่อนุมัติการนำเข้าน้ำมันปาล์มตามคำร้องขอ แต่การบริหารจัดการในเรื่องการจำหน่าย กำหนดราคา รวมทั้งการป้องกันการกักตุนเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้รัฐบาลถูกด่าไปด้วย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความจริง แต่ในฐานะเป็นรองนายกฯที่กระโดดเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรงย่อมปัดความรับผิดชอบไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นจากกรณีความล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มราคาแพงและขาดตลาด ทำให้รัฐบาลถูกชาวบ้าน “ก่นด่า” ถึงความไร้ความสามารถ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงอยู่ในภาคใต้ที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มแหล่งใหญ่มันก็ย่อมถูกมองว่ามีผลประโยชน์ตามมา ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้จะเป็นเพราะ “มีผลประโยชน์” หรือไม่ก็ตาม แต่มันก็ทำให้รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เป็นอันขาด !!


กำลังโหลดความคิดเห็น