xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันปาล์ม : เหตุเกิดการสวาปาม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ก่อนที่ผู้คนในสังคมไทยจะพึ่งพาน้ำมันปาล์มในการประกอบอาหาร ทั้งในครัวเรือน และในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารบางประเภท เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย หรือที่เรียกตามภาษาชาวบ้านทั่วๆ ไปว่าคนยากคนจนส่วนใหญ่ได้พึ่งพาน้ำมันหมู น้ำมันไก่ หรือแม้กระทั่งน้ำมันมะพร้าว

แต่ต่อมา เมื่อทางการแพทย์ได้พบว่าน้ำมันที่ว่านี้ทำให้เกิดไขมันในเส้นเลือดสูง และนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจได้ทางหนึ่ง จึงทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคน้ำมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ในบรรดาน้ำมันที่ได้จากพืช เมื่อเทียบราคาแล้วน้ำมันปาล์มราคาถูกกว่าน้ำมันประเภทอื่น จึงเป็นที่นิยมของบรรดาผู้มีรายได้น้อยแต่ต้องการรักษาสุขภาพด้วยการควบคุมดูแลเรื่องอาหาร และในขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้มีการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในภาคใต้ การบริโภคน้ำมันปาล์มจึงเพิ่มขึ้นทั้งครัวเรือน และอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเหตุจูงใจคือราคาถูกเนื่องจากผลิตได้เองภายในประเทศในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภค และแถมยังมีส่วนหนึ่งเหลือเพื่อการส่งออกไปขายต่างประเทศเพื่อรักษาระดับราคามิให้ถูกเกินไปจนกระทบต้นทุนของผู้ปลูกปาล์ม

จากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น และมีการส่งออกน้ำมันปาล์มส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศนี้เอง เมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันโซลาร์ ซึ่งใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร และประมง รวมไปถึงเครื่องจักรกลในโรงงานขนาดเล็กมีราคาแพงขึ้น จึงได้เกิดแนวคิดที่จะนำน้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันโซลาร์ หรือที่เรียกว่าไบโอดีเซล ในอัตราร้อยละ 5 หรือบี5 และร้อยละ 20 หรือที่เรียกว่าบี20 จึงทำให้น้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานหีบน้ำมันจากผลปาล์มแพงขึ้นตามสัดส่วนความต้องการที่เพิ่มขึ้น

อีกประการหนึ่ง ในปี 2553 ที่ผ่านมาประเทศไทยตอนล่างได้ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้พื้นที่ปลูกปาล์มบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้ผลิตปาล์มได้น้อยลง จึงทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบแพงขึ้นไปอีก

จาก 2-3 ปัจจัยที่กล่าวมา ส่งผลให้น้ำมันปาล์มขาดแคลน และเป็นเหตุให้มีการขอปรับราคาขายปลีกจาก 38 บาท เป็น 47 บาท และยังไม่เพียงพอกำลังจะขอปรับจาก 47 บาทเป็น 56 บาท เพิ่มขึ้น 9 บาท

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีข่าวขอปรับขึ้นราคา และยังรอการอนุมัติจากภาครัฐ ปรากฏว่าน้ำมันปาล์มในท้องตลาดมีขายน้อยลงถึงกับมีการขายโดยตั้งเงื่อนไขให้ซื้อได้คนละขวดในการซื้อครั้งหนึ่ง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่พ่อค้า แม่ค้าที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มเพื่อประกอบอาหารขายครั้งหนึ่งหลายๆ ขวดแต่ซื้อไม่ได้ตามที่ต้องการทั้งราคาก็แพงด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วหน้ากันอยู่ในขณะนี้

ทางด้านรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับราคาสินค้า และปริมาณสินค้าดูเหมือนจะเดือดร้อนตามเพราะกลัวเสียคะแนนนิยมทางการเมือง จึงได้นำเรื่องนี้เข้าหารือใน ครม.โดยเสนอขออนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดแคลนจำนวน 1 แสนตัน และในขณะเดียวกันขอเงินชดเชยนับพันล้านบาท ถ้าจะต้องพยุงราคาไว้ที่ขวดละ 47 บาท

แต่ที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมาอนุมัติให้นำเข้าเพียง 3 หมื่นตัน และไม่ยอมให้ปรับราคาด้วย ส่วนเงินชดเชยก็ให้น้อยกว่าที่ขอ

ด้วยที่ว่ามานี้ น้ำมันปาล์มคงจะยังเป็นปัญหาเดือดร้อนอยู่ต่อไป อย่างน้อยจนกว่าจะมีผลผลิตปาล์มในประเทศออกมาสู่ตลาดเพียงพอ หรือมีการนำเข้าจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ความขาดแคลนถึงแม้ว่าจะมีผลในทางลบต่อรัฐบาลโดยรวมในข้อหาว่าไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในเรื่องราคาสินค้า

แต่ในแง่มุมของปัจเจกบุคคลในรัฐบาลให้ผลในทางบวก เพราะเป็นช่องทางให้แสวงหาผลประโยชน์จากการขาดแคลนได้ ทั้งในรูปของเงินใต้โต๊ะจากบริษัทผู้นำเข้า ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มากต่อราย แต่ก็ได้มาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เพียงแค่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนโดยรวม และไม่กลัวต่อการกระทำผิดศีลธรรม ก็มีโอกาสได้แล้ว

ใช่แต่ลูกตามน้ำ การแสวงหาประโยชน์จากความขาดแคลนยังทำได้โดยอาศัยส่วนต่างของราคาก่อนขาดแคลนกับหลังขาดแคลน โดยการกักตุนน้ำมันปาล์มไว้ก่อนที่จะมีการปรับราคา และนำออกขายหลังการปรับราคาก็หากำไรจากส่วนต่างได้แล้ว

ด้วยเหตุที่ว่า การขาดแคลนกับการกักตุนเป็นของคู่กัน เพียงแต่ว่าอะไรจะเกิดก่อนเกิดหลัง แต่อนุมานได้ไม่ยากว่าอะไรเกิดหลังถ้าเป็นคนในรัฐบาลที่รับรู้ข้อมูลการผลิต และการบริโภค รวมไปถึงข้อมูลความเสียหายอันเกิดจากน้ำท่วม รวมไปถึงตนเองหรือกลุ่มของตนเองมีอำนาจรัฐในส่วนของการอนุมัติให้มีการปรับราคา และการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน ก็มากพอที่จะเป็นช่องทางให้แสวงหาประโยชน์ได้แล้วโดยไม่ยาก

ไม่ว่าใครจะได้อะไร และได้เท่าไหร่จากวิกฤตน้ำมันปาล์มในครั้งนี้ ในฐานะปัจเจกบุคคล ในรัฐบาลชุดนี้ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นแกนนำรัฐบาล และพื้นที่ปลูกปาล์มรวมถึงงานผลิตน้ำมันปาล์มอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือก คงปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นการแสวงหาประโยชน์ในครั้งนี้ให้พ้นตัวได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเชื่อว่าน้ำมันปาล์มขาดแคลนในครั้งนี้ ในภาพรวมรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำรัฐบาลติดลบ แต่ในแง่บุคคลแล้วเชื่อว่ามีค่าเฉลี่ยในทางบวกมากกว่าในทางลบ จึงถือว่าคุ้ม เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะไม่เรียกว่า น้ำมันปาล์มเป็นเหตุให้เกิดการสวาปาม แล้วจะเรียกว่าอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น