ปัญญาพลวัตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เขาเป็นนักการเมืองหนุ่มมีความทะเยอทะยาน มีเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนกำหนดเส้นทางทางการเมืองอย่างเป็นระบบและกระบวนการ ระหว่างเรียนหนังสือเขาเริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นอาสาสมัครให้พรรคการเมืองที่เขาชื่นชม เมื่อเรียนจบเขาไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยช่วงสั้นๆ จากนั้นกระโจนเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มตัว
เขาอาศัยรูปร่างหน้าตาที่ดูดี วาทศิลป์ที่คมคาย ภูมิหลังการศึกษาและวงศ์ตระกูลที่สูงส่ง เป็นต้นทุนทางการเมือง เขาใช้ต้นทุนนี้ไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจนประความสำเร็จ มีผู้คนจำนวนมากนิยมและหลงใหลในตัวเขา เขาลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2535 และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแม้ว่าพรรคที่เขาสังกัดพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ หลังจากนั้นเขาก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ติดต่อกันหลายครั้ง
ระหว่างการเป็น ส.ส. เขามีบทบาทในการผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่ดูเหมือนเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้า เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายข้อมูลข่าวสาร กฎหมายกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชน เป็นต้น บทบาทเขาในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติมีความโดดเด่นเหนือ ส.ส.เกือบทั้งหมดที่อยู่ในพรรคเดียวกับเขา
เขาได้รับการยกย่องจาก World Economic Forum ให้เป็น 1 ใน 100 ผู้นำสำหรับโลกวันพรุ่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2535 หลังจากนั้น นิตยสารไทม์ก็วิเคราะห์ว่า เขาเป็น 1 ใน 6 นักการเมืองที่เป็นความหวังของเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2540 และนิตยสารเอเชียวีค ระบุว่าเขาเป็น 1 ใน 20 ผู้นำสำหรับสหัสวรรษ ด้านการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2542
บทบาทที่เขาแสดงออกมาในช่วง 15 ปีในแวดวงการเมือง ทำให้เขาเป็นเสมือนหยดน้ำกลางทะเลทราย ที่ทำให้ประชาชนชาวไทยยังพอมีความหวังในตัวนักการเมืองได้บ้าง
เขาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 เขานำพรรคประชาธิปัตย์เข้าแข่งขันในสนามการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 แต่พ่ายแพ้แก่พรรคพลังประชาชน หลังจากนั้นเขาจึงกลายเป็นผู้นำฝ่ายในสภา เขาแสดงบทบาทผู้นำฝ่ายค้านได้อย่างน่าประทับใจ นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้อย่างแหลมคม อ้างหลักการเชิงจริยธรรมทางการเมืองอย่างน่าชื่นชม ดังเช่น หลักการรับฟังเสียงประชาชนและหลักการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทีบริหารบ้านเมืองผิดพลาด
หลังจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมอย่างเสียสละ เหนื่อยยากและยาวนานถึง 193 วัน เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคภายใต้บงการของทักษิณ ชินวัตร ในที่สุดรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนก็พบจุดจบ โดยถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคอันเนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งของผู้บริหารพรรค การเป็นรัฐบาลของพรรคนี้ได้สิ้นสุดลงไป
พรรคประชาธิปัตย์ที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาล และประสบความสำเร็จเขาก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน ชิดชอบ และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน รวมทั้งกองทัพด้วย
เขาได้รับการมองและคาดหวังว่าจะเป็น “นายกรัฐมนตรีที่ดีทีสุดเท่าที่เคยมีมา” จากผู้คนในหลายวงการ เขาเป็นเสมือนแสงสว่างในอุโมงค์ที่มืดมนอนธการของการเมืองไทย เป็นผู้นำที่จะนำพาผู้คนและสังคมให้หลุดพ้นจากปลักตมแห่งความชั่วร้ายที่นักการเมืองสั่งสมกันมาอย่างยาวนาน
เขาพบกับความท้าทายครั้งแรกจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงใน พ.ศ. 2552 แต่เขาไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้และแทบเอาตัวไม่รอด ต้องหนีการไล่ล่าของมวลชนเสื้อแดงอย่างหัวซุกหัวซุนและรอดมาได้อย่างหวุดหวิด ด้วยเหตุที่ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์อาจมีจำกัดผนวกกับอำนาจในการสั่งการกลไกฝ่ายความมั่นคงมีน้อย กว่าจะใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมได้ ความเสียหายก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาล
เมื่อกำราบคนเสื้อแดงได้บางระดับ เขาก็มีความยินดีสุขใจและหลงใหลไปกับชัยชนะ ขณะเดียวกันก็พยายามแสดงให้สังคมเห็นถึงการเอาจริงเอาจังในการบริหารบ้านเมืองและปราบปรามการทุจริต แต่สิ่งที่เขาทำได้คือการประกาศถ้อยคำที่สวยหรู ซึ่งไม่มีผลในเชิงการปฏิบัติแต่อย่างใด เรื่องอื้อฉาวคาวทุจริตของรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลได้หลุดรอดออกมาให้สังคมรับรู้เป็นระยะ แต่คนจำนวนมากก็ยังเชื่อว่าตัวเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้น ภาพของเขายังดูดีอยู่
การท้าทายครั้งที่ 2 จากคนเสื้อแดงเกิดขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2553 แนวทางการสู้รบของคนเสื้อแดงทวีความรุนแรงยิ่งกว่าครั้งก่อน มีการใช้ผู้คนที่ติดอาวุธสงครามแฝงตัวในการชุมนุม ด้วยเหตุที่เขาประมาทขาด การสรุปบทเรียน ขาดการบูรณาการข่าวสาร เฝ้าระวังและเกาะติดสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ทำให้เขาประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงต่ำกว่าความเป็นจริง สถานการณ์บานปลาย บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย จลาจลระบาดไปทั่ว คนเสื้อแดงจัดตั้งเขตปลอดอำนาจรัฐ และแสดงอำนาจระรานประชาชนชาวกรุงเทพอย่างทั่วหน้า ราวกับไม่มีอำนาจรัฐที่เป็นทางการหลงเหลืออยู่ ผู้คนตกอยู่ในสภาพความกลัวและไม่มั่นใจในอำนาจรัฐอย่างถึงขีดสุด
สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อกองกำลังติดอาวุธที่แฝงในมวลชนเสื้อแดงทำร้ายทหารที่มารักษาความสงบเสียชีวิตหลายราย รถยนต์ รถหุ้มเกราะ ของฝ่ายทหารถูกทำลายเป็นจำนวนมาก และอาวุธปืนถูกปล้นชิงนับสิบนับร้อยกระบอก ดูเหมือนเขาไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้และตัวเขาเองก็ต้องหลบภัยไปอาศัยในค่ายทหาร ประชาชนผู้ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองจำนวนมากพยายามกระตุ้นและให้กำลังใจเขาในการจัดการกับกลุ่มเสื้อแดงที่ยึดเมืองอยู่ แต่เขากลับปล่อยให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จนมีการเผาบ้านทำลายเมืองครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในสังคมไทย และกว่ากองกำลังทหารจะเข้าไปจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายเสื้อแดงได้ ความเสียหายของบ้านเมืองก็เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล
หลังจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายเสื้อแดงได้ท่ามกลางการสนับสนุนจากประชาชนทุกฝ่าย ทำให้เขาดูมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ดุจ “จามรี” ในการเปรียบเปรยของจางจื้อ นักปราชญ์ลัทธิเต๋า จางจื้อได้ถามฮุ่ยจื้อว่า “ท่านเคยเห็นตัวจามรีบ้างไหม ดูยิ่งใหญ่ราวกับพายุเมฆ ยืนแสดงอำนาจ ทั้งใหญ่และมั่นใจ แต่ก็จับหนูไม่ได้” เมื่อนำนัยของจางจื้อมาเปรียบเปรยก็คือ “อภิสิทธิ์คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่และมีอำนาจ แต่ความเป็นจริงแล้ว แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆก็ทำไม่ได้”
ภาวะของการทำอะไรไม่ได้ของเขาเริ่มแสดงออกมาอย่างชัดเจน กรณีที่คนไทย 7 คน ถูกทหารกัมพูชาลักพาตัวจากแผ่นดินไทยไปขึ้นศาลในพนมเปญ แม้ตอนแรกเขาประกาศอย่างขึงขังว่าให้กัมพูชาปล่อยตัวคนไทยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่คำพูดของเขาเหมือนสายลมที่ว่างเปล่า ฮุนเซนได้ยินแล้วก็เฉย แต่ที่ร้ายยิ่งกว่าคือ รัฐมนตรีที่เป็นลูกน้องเขากลับพูดในทำนองตรงกันข้ามกับที่เขาพูด ซึ่งแสดงว่าลูกน้องเขาไม่ได้ฟังและเชื่อเขาอีกต่อไป ที่จริงอาจเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่เรื่องการจับเจ็ดคนไทยนับเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า เขานั้นไร้อำนาจอย่างสิ้นเชิงในการบริหารประเทศ
และขณะนี้นายอภิสิทธิ์กำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การชุมนุมของพันธมิตรได้กะเทาะตัวตนของเขาอย่างหมดเปลือกทั้งในด้านจริยธรรมและปัญญาความสามารถ ด้านจริยธรรมพันธมิตรได้แสดงข้อมูลหลักฐานอย่างหนักแน่นว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นนักการเมืองที่มีปัญหาจริยธรรมในหลายด้าน เช่น “การพูดไม่จริง” “การไม่รักษาคำพูด” “การเอาตัวรอดไปวันๆ” “ การโกหก ตอแหล” “ความอ่อนแอ” “ความขี้ขลาด” “การยึดติดอำนาจ ยอมเป็นหุ่นเชิด เพื่อรักษาตำแหน่ง”
ในด้านปัญญาพันธมิตรก็พิสูจน์ให้สาธารณะเห็นอย่างชัดเจนว่า เขามิได้ฉลาดหลักแหลมอย่างที่ผู้คนหลงเข้าใจ เพราะตามไม่ทันเกมการเมืองระหว่างประเทศของฮุนเซน อีกทั้งยังมีความคิดที่ผิดพลาดในการประเมินว่า MOU 2543 จะช่วยป้องกันสงครามและป้องกันไม่ให้ไทยเสียดินแดน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่าผิดทั้งหมด ที่ร้ายกว่านั้นคือเขายังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าประเทศไทยเสียดินแดนไปแล้วในทางพฤตินัย ทั้งที่มีหลักฐานบ่งชัดเจนว่าทหารกัมพูชาอยู่ในดินแดนประเทศไทยและใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทย
เป็นที่น่าเสียดายว่านักการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความหวังของสังคมไทย กลับกลายเป็นนักการเมืองที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดน เป็นนักการเมืองที่คนจำนวนมากประณามว่าขายชาติ เป็นนักการเมืองที่มุ่งแต่เอาตัวรอดไร้ความรับผิดชอบ เป็นนักการเมืองที่ปัญญาและตรรกะต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น เป็นนักการเมืองที่ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม และเป็นนักการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องและอำนาจตำแหน่ง มากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
อีกนานเท่าไร สังคมไทยจึงจะมีนักการเมืองที่ดี เก่ง และกล้าหาญ เพื่อนำพาประชาชนและประเทศชาติให้พ้นจากวัฏจักรที่ชั่วร้ายทางการเมืองเสียที