xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้ชะตา8นปช.วันนี้ "เสธ.หนั่น"วอนให้ประกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลนัดสั่งขอปล่อยตัว 8 นปช.วันนี้"วิชัย"เบิกความระหว่างเจรจาเสื้อแดงชุมนุมพร้อมตรวจค้นไม่พบอาวุธ "ผบ.เรือนจำกรุงเทพ"แจงศาลผู้ต้องหาทั้งหมดประพฤติตนเรียบร้อยไม่สร้างความวุ่นวาย "ณัฐวุฒิ"ยันหากได้รับประกันตัว จะไม่หนี "เสธ.หนั่น"ให้การช่วย เชื่อหากได้รับการปล่อยตัวแผนปรองดองจะได้ผล ขณะที่"คณิต"ชี้ปล่อยไม่ปล่อยไม่เป็นอุปสรรคแผนปรองดอง

วานนี้(21 ก.พ.)เวลา 10.00 น.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนขอปล่อยตัวชั่วคราว 7 แกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยฝ่ายจำเลยซึ่งมี นายคำนวณ ชโลปถัมป์ เป็นหัวหน้าทีม ได้นำพยานตามหมายเรียกเข้าเบิกความ

โดยเริ่มจาก พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ประสานงานระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ,และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กับฝ่าย นปช. ให้ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของเหตุการณ์ คอยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมทั่วทั้งประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ต้องหาดีพอสมควร โดยเฉพาะการขอความร่วมมือเรื่องพื้นผิวการจราจรเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งการขอเข้าตรวจค้นอาวุธ และสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งการตรวจค้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่พบอาวุธ แต่ปรากฏว่า การชุมนุมของแกนนำ นปช.มีการใช้คำปราศรัย โดยมีคำพูดยั่วยุ รุนแรงหลายครั้ง

พยานปากต่อมา นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ อายุ 57 ปี รับราชการตำแหน่ง ผู้บัญชาการเรือนจำกรุงเทพ เบิกความว่าตาม พ.ร.บ.ต้องแยกขังผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายไว้คนละแดนกัน แต่เนื่องจากผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายมีจำนวนมาก จึงมีบางรายที่อยู่แดนเดียวกัน และจากที่ผู้ต้องขังได้จำคุกมาประมาณ 9 เดือน พบว่า มีพฤติกรรมเรียบร้อยไม่สร้างความวุ่นวาย บางครั้งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนกรณี นายภูมิกิตติ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11 มีอาการเจ็บป่วยเป็นประจำ เป็นปัญหาในการดูแลพอสมควร บางครั้งมีโรคแทรกซ้อน คือ โรคหัวใจต้องนำตัวไปส่งโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ โดยการเปิดประตูห้องขังตอนกลางคืนต้องมีระเบียบขั้นตอน มีระบบการจัดเก็บกุญแจห้องขัง ทำให้การนำตัวจำเลยไปรักษาพยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีความล่าช้าประมาณ 1 ชั่วโมง แม้ทางเรือนจำจะมีเวรพยาบาลภายในที่ให้การรักษาเบื้องต้นแต่ก็ไม่ได้มีความรู้เพียงพอ ซึ่งตนทราบว่า จำเลยที่ 11 มีอาการป่วยในเวลากลางคืนและต้องนำตัวไปส่งโรงบาลข้างนอก จำนวน 2 ครั้ง โดยมีผู้ต้องหาด้วยกันเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือปฐมพยาบาล

**"ณัฐวุฒิ"อ้อนศาลยันไม่หลบหนี**

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เบิกความว่า ก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรง ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม ที่ราชประสงค์จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายนั้น ในวันที่ 18 พ.ค.2553 ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว ตนได้ติดต่อพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งท่านได้รับปากว่ายินดีจะเป็นคนกลางเจรจาระหว่างรัฐบาล กับกลุ่ม นปช.ซึ่งประธานรัฐสภาได้แจ้งว่า จะให้รัฐบาลและนปช.ไปเจรจากันที่อาคารรัฐสภาในรุ่งขึ้น (19 พ.ค.) แต่ก็เกิดความรุนแรงเสียก่อน ตนได้สอบถาม พล.อ.เลิศรัตน์ ว่า เกิดอะไรขึ้น ท่านก็บอกว่าไม่ทราบเช่นกัน ทั้งนี้ยืนยันว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะไม่หลบหนี เนื่องจากมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีครอบครัวอบอุ่น มีลูกชายและลูกสาวจำนวน 2 คน ที่สำคัญตนและพวกจำเลยได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวด้วยตนเอง ทั้งที่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย มีโทษสูงสุดประหารชีวิต

ขณะที่ นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแกนนำ นปช.เบิกความว่า ภายหลังการรัฐประหาร ปี 2549 ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาชนขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.ภายใต้รัฐบาลได้รณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน เนื่องจากรัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ปี 2553 กลุ่ม นปช.ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา โดยไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยตนได้ติดต่อประสานงานกับรัฐบาล ผ่านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาและยื่นข้อเสนอหลายครั้ง รวมทั้งครั้งที่มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ด้วย แต่การเจรจาไม่สำเร็จ เนื่องจากติดขัดเงื่อนไข ประเด็นปลีกย่อยบางประการ แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ก็ดำเนินต่อไป จนกระทั่งรัฐบาลได้ยื่นเงื่อนไขให้กลุ่ม นปช.ยุติการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งตนเห็นว่าหากกลุ่ม นปช.ไม่รับเงื่อนไขของรัฐบาล ก็จะต้องสลายการชุมนุม และทำให้พี่น้องคนเสื้อแดงเกิดความสูญเสีย ตนจึงขอยุติบทบาทตัวเอง จากตำแหน่งประธาน นปช.และออกจากเวทีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ไปก่อนที่ทหารจะเข้าสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.2553 จากนั้นจึงติดต่อเข้ามอบตัวในวันที่ 20 พ.ค.2553 พร้อมกับ นายแพทย์ เหวง และ นายก่อแก้ว ที่ออกไปจากเวทีก่อนที่ทหารจะสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน

**"คณิต"ชี้ปล่อยไม่ปล่อยไม่อุปสรรคแผนปรองดอง**

ต่อมาในช่วงบ่ายนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ได้เดินทางมาเบิกความว่า ตนเคยเป็นอดีตอัยการสูงสุด ส่วนตำแหน่งทางวิชาการ เป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิต ต่อมาเมื่อปี 2553 รัฐบาลได้แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.โดยมีภาระหน้าที่ 3 ข้อ คือ 1. ตรวจสอบความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 2.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการเยียวยาทางด้านจิตใจ 3.วิจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงรวมทั้งรากเหง้าของปัญหาเพื่อให้เป็นบทเรียนกับทุกฝ่ายและยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งได้ข้อสรุปและเสนอต่อรัฐบาล คือ ให้ยกเลิกการตีโซ่ตรวนผู้ต้องหา และการเอาตัวไว้โดยรัฐ ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว แต่ถ้าเป็นคดีร้ายแรง รัฐก็สามารถควบคุมตัวไว้ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นความเห็นทางวิชาการ เป็นการเสนอของคปอ.เพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้ดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ได้เจาะจงเฉพาะจำเลยในคดีก่อการร้าย หรือจำเลยคดีใดคดีหนึ่งเท่านั้น ส่วนประเด็นจะให้ประกันตัวจำเลยคดีก่อการร้ายหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล ตามกระบวนการยุติธรรม ตนไม่อาจก้าวล่วง แต่ถ้าหากแกนนำทั้ง 7 ไม่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค กับแผนปรองดอง แต่ตนเองก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำ นปช. มาโดยตลอด

**"เสธ.หนั่น"ให้การช่วย 7 นปช.**

ขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เบิกความว่า ตนรู้จักกับนายวีระ เนื่องจากเคยทำงานทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ส่วนนายณัฐวุฒินั้นรู้จักในฐานะที่เป็นหลานเขยของนายทหารที่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับตน ทั้งนี้ตนเห็นว่าสภาวะของบ้านเมืองในขณะนี้ หากไม่ปรองดองกัน ก็จะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ จึงเสนอแนวทางปรองดองและเดินทางไปพบทุกพรรคการเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มนปช.และเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อพูดคุยกับจำเลยในคดีก่อการร้าย ทั้ง 7 คนที่ถูกคุมขังอยู่ โดยเสนอแนะว่าหากศาลอนุญาตให้ประกันตัว ขอให้เข้าร่วมแนวทางปรองดองกับตน ซึ่งจำเลยทั้ง 7 คนในคดีก่อการร้ายรับปาก ว่าจะไม่ก่อความวุ่นวายและเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดอง ทั้งนี้จำเลยทั้ง 7 คนยืนยันว่าจะไม่รับแนวทางนิรโทษกรรม จะสู้คดีจนกว่าศาลจะตัดสินและคดีถึงที่สุด นอกจากนี้ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานนปช.ตนก็ได้เดินทางไปพูดคุยกับนายวีระเช่นกัน ซึ่งยืนยันว่าหากศาลกรุณาให้ประกันตัวก็จะช่วยพูดคุยกับจำเลยทั้ง 7 คนให้เข้าร่วมกับแนวปรองดอง

พล.ต.สนั่น กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า จำเลยทั้ง 7 คน ที่อยู่ในเรือนจำ จะไม่ออกมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก เพราะหากไม่มั่นใจตนก็คงไม่กล้ามาเบิกความเป็นพยานต่อศาล

**อัยการไม่ค้าน-ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้**

จากนั้น อัยการโจทก์ได้ แถลงต่อศาล ว่าไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หากศาลจะอนุญาต ให้ประกันนายแพทย์เหวง กับ นายก่อแก้ว เนื่องจากจำเลยเป็นแกนนำ กลุ่ม นปช. ที่นิยมสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือ หลบหนี แต่จะหากได้ปล่อยตัวชั่วคราวก็จะส่งผลดีต่อแผนการปรองดอง ทั้งนี้ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไข ในการให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 อย่างที่เคยกำหนดกับนายวีระ จำเลยที่ 1 เคยได้รับการประกันตัวไปแล้วก่อนหน้านี้

ศาลนัดฟังคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ เวลา 14.00 น.โดยไม่ต้องเบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาศาล

**ทนาย นปช.มั่นใจ**

ขณะที่นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความแกนนำ นปช. กล่าวว่า การฟังคำสั่งจะไม่ได้เบิกตัวทั้ง 7 คนมาศาล แต่จะรอฟังคำสั่งที่เรือนจำ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวก็จะได้ปล่อยตัวที่เรือนจำต่อไป

นายนรินท์พงศ์ กล่าวอีกว่าภาพรวมของการไต่สวนพยานถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ต่อทีมทนายความเป็นอย่างมาก เนื่องจากพยานทุกปาก ที่เบิกความต่อศาลนั้น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นผลดี ต่อแกนนำ นปช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นคำร้องขอไต่สวนครั้งนี้ เดิมมีการขอปล่อย 7 คนคือ นายณัฐวุฒิ นายก่อแก้ว นพ.เหวง นายวิภูแถลง นายยศวิฤทธิ์ นายขวัญชัย นายนิสิต แล้ว ต่อมานายภูมิกิตติ สุขจินดาทอง ที่ป่วยเป็นไวรัสซี ได้ร้องเพิ่มรวมเข้ามา ทำให้ฝ่ายผู้ร้องมี 8 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น